SOS ร้านเสื้อผ้าโมเดลใหม่

SOS ร้านเสื้อผ้าโมเดลใหม่

8 ธ.ค. 2017
SOS ร้านเสื้อผ้าโมเดลใหม่ / โดย ลงทุนแมน
ลงทุนแมนเพิ่งรู้ว่า
ตอนนี้ร้านที่วัยรุ่นนิยมซื้อเสื้อผ้าจะมีหน้าตาไม่เหมือนสมัยก่อน
ร้านเสื้อผ้านี้โมเดลแบบใหม่ ซึ่งจะไม่ได้มีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของแต่ตัวเอง
จริงๆ แล้ว ร้านเสื้อผ้าที่รับมาจากหลายๆ แบรนด์ก็มีมานานแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ร้านดูไม่เลอะเทอะ
ร้านจึงต้องกำหนดสไตล์ของตัวเองขึ้นมา และทำให้สินค้าทุกอย่างที่รับมาดูเข้ากัน
และร้านที่กำลังมาแรงในแนวนี้ คือ ร้าน Sense of Style หรือ ที่วัยรุ่นเรียกกันว่า ร้าน SOS
ร้าน SOS เป็นร้านอันดับแรกๆ ที่ทำธุรกิจในรูปแบบของ Multi-Brand Store โดยมีการรวบรวมแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังบนออนไลน์ อาทิเช่น Partita in B, De Louvre, DANITA มารวมกันไว้ในร้านเดียว
ในขณะที่ร้านอื่นๆ นำเอาสินค้าแฟชั่นจากร้านออนไลน์มาวางขายทั่วๆ ไป
สิ่งที่ทำให้ร้าน SOS กลายมาเป็นร้านเสื้อผ้ายอดนิยมอันดับต้นๆ ของไทย มาจากการนำเสนอคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน โดยวางจุดยืนเป็นสินค้าสไตล์เรียบหรูเท่านั้น
SOS จะทำให้สินค้าทุกชิ้นในร้านมีสไตล์เดียวกัน นอกจากนี้ร้านยังมีแนวคิดว่าลูกค้าจะได้สินค้า ตั้งแต่หัวจรดเท้า เมื่อเข้ามาในร้านก็สามารถออกไปงาน event ต่อได้เลย
จุดกำเนิดของร้าน SOS ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2558
เกิดจากผู้ร่วมก่อตั้ง
คุณโบว์ วิภาดา วงศ์สุรไกร
คุณนำ ทรัพย์สิทธิ์ ดำรงรัตน์
คุณบุ๊ค ณัชชารีย์ กิจวิริยะธนโชติ
คุณสน ยุกต์ ส่งไพศาล
ไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มเจ้าของร้านกลุ่มนี้อายุเพียงแค่ 24 ปีเท่านั้น โดยมีการมองว่ายังไม่มีร้าน Multi-Brand Store ที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนเท่าไร และประกอบกับที่ตัวเจ้าของเองก็มีแบรนด์เสื้อผ้าที่ขายบน Instagram ก็เจอปัญหาเรื่องสีไม่ตรงกับรูป ไซส์ไม่พอดีตัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ มีไอเดียกันว่าจะทำร้านค้าของตนเอง แต่ก็ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่สยามได้เพียงแค่แบรนด์ของตน จึงเกิดเป็นไอเดียลองแชร์ค่าเช่ากับแบรนด์ที่ต้องการมาเช่าร้านที่สยามเหมือนกัน โดยมีการออกแบบร้านให้เป็นเหมือน ห้องลอง ทำให้เกิดเป็นร้าน SOS ในสาขาแรกที่ สยามสแควร์ ซอย 1 ขึ้นมา
รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ SOS จะคล้ายกับห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยจะมีการเก็บค่าเช่ากับแบรนด์ที่นำสินค้ามาลงในแบบ Fixed rate หรือ GP หักเปอร์เซ็นต์ของราคาขายแต่ละชิ้น แต่สิ่งที่ทำให้ SOS ต่างจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป คือเรื่องการทำการตลาดและการดูแลแบรนด์สินค้าที่นำมาวางขายกับทางร้านตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งทำการตลาดออนไลน์ ทำสตูดิโอโดยมีคนดังโปรโมทให้แบรนด์ได้ถ่ายรูปฟรี เป็นต้น
ปัจจุบัน มีหุ้นส่วนร้านจำนวน 9 คน และบริษัทมีการขยายสาขาได้ถึง 7 สาขา ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น และได้รับความเชื่อใจจากแบรนด์ต่างๆ มาร่วมธุรกิจ ถึง 300 แบรนด์ โดยเฉลี่ยแล้วสามารถขยายสาขาได้ 2-3 สาขาต่อปี
แล้วรายได้ของ ร้าน SOS เป็นเท่าไรกัน?
ปี 2558 รายได้เท่ากับ 1.2 ล้านบาท ขาดทุน 971,178 บาท
ปี 2559 รายได้เท่ากับ 17.9 ล้านบาท กำไร 828,718 บาท
ในเริ่มแรกเราจะเห็นได้ว่า ร้าน SOS นั้นมีการขาดทุนเกิดขึ้นในปีแรกที่ทำการเปิดร้าน แต่ก็สามารถพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ในปี 2559 จากรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
เรื่องนี้ให้ข้อคิดเราในแง่ของการใส่รายละเอียด
ร้านเสื้อผ้าที่รับของคนอื่นมาขายก็มีมาตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมามีร้านเสื้อผ้าเปิดขึ้นมากมาย แต่ทำไม SOS ถึงชนะคนอื่น
SOS ชนะได้เพราะโชคดี?
โชคก็อาจจะเป็นส่วนน้อย แต่ที่น่าเรียนรู้ก็คงเป็นการใส่ใจในเรื่องคอนเซ็ปต์ของร้าน บรรยากาศที่คนเข้ามาแล้วรู้สึกดีที่ได้เข้าร้านนี้ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นร้านที่รับของมาขายแบบมั่ว หรือเลอะเทอะ
ถ้าเราทำธุรกิจอะไรอยู่ก็น่าจะสามารถนำไปปรับใช้ได้ ไม่ใช่แค่ร้านเสื้อผ้า
ธุรกิจเราควรจะมีจุดยืนที่ชัดเจนให้กับแบรนด์ของตนเอง หากลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เจอ ถ้าโฟกัสได้ถูกทาง และ ใส่ใจในรายละเอียด ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างร้าน SOS
----------------------
หาข้อคิดในเรื่องธุรกิจอื่นๆ อีกได้ใน แอปลงทุนแมน แอป SOCIAL KNOWLEDGE แอปแรกของประเทศไทย โหลดแอปฟรีที่ https://www.longtunman.com/app
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.