ปีใหม่นี้ เตรียมพบกับ คุกกี้ในตำนาน

ปีใหม่นี้ เตรียมพบกับ คุกกี้ในตำนาน

30 พ.ย. 2017
ปีใหม่นี้ เตรียมพบกับ คุกกี้ในตำนาน / โดย ลงทุนแมน
คุณเคยบ้างไหม
จับฉลากปีใหม่ทีไร
ได้คุกกี้กล่องนี้ทุกที
แค้นก็แค้น เพราะ ทั้งกล่องกินเป็นอยู่ช่องเดียว
แต่ไม่เป็นไร วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟังว่า
เจ้าของคุกกี้นี้เป็นใคร และมีความเป็นมาอย่างไร
ตามประวัติศาสตร์คำว่า คุกกี้เป็นคำมาจากภาษาดัตช์ (Koekje) ซึ่งหมายถึง เค้กชิ้นเล็กๆ ทำให้ชนชาติดัตช์เป็นคนรุ่นแรก ๆ ที่รู้จักคุกกี้ จนเมื่อศตวรรษที่ 19 คุกกี้เริ่มเป็นที่รู้จักไปถึงอังกฤษ สก็อตแลนด์และอเมริกา
แต่ประเทศที่มีชื่อเสียงในการทำคุกกี้มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คือเดนมาร์ค ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดคุกกี้กล่องเหล็กที่มีชื่อเสียงในตำนาน โดยในปีพ.ศ. 2476 สองสามีภรรยาตระกูล Kjeldsen คือ Anna กับ Marinus เกิดไอเดียที่จะเปิดร้านธุรกิจเบเกอรี่เล็กๆ ซึ่งใช้ชื่อร้าน Kjeldsens เพื่อทำคุกกี้ออกมาขาย
จากเดิมที่ตั้งใจจะเปิดเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ แต่กลับไม่เล็ก ด้วยความที่รสชาติอร่อยและกลิ่นหอมหวาน ทำให้มีคนชื่นชอบในรสชาติคุกกี้อย่างมาก ทำให้พวกเขาต้องขยายกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็น Kelsen Group ในเวลาต่อมา
สมัยก่อนคุกกี้ของ Kelsen Group ถูกผลิตเพื่อใช้ทานกันในราชวงศ์และเป็นจุดเริ่มต้นของหน้าคุกกี้ที่แต่ละชิ้นต้องไม่เหมือนกัน เพื่อความสวยงาม โดยใส่ห่อเล็กๆ เพื่อใช้ในงานเลี้ยง คุกกี้ของ Kelsen ได้นำออกมาขายให้คนทั่วไปได้ซื้อและใช้ชื่อว่า Royal Dansk ที่สื่อความหมายว่า เป็นคุกกี้ที่ออกมาจากวัง
ปัจจุบัน Royal Dansk เป็นคุกกี้ที่ขายดีที่สุดในอเมริกาและส่งออกไปขายกว่า 130 ประเทศทั่วโลก โดยกล่องของ Royal Dansk จะเป็นกล่องเหล็กสีน้ำเงินที่รู้จักกันในนาม The Blue Tin
สำหรับในประเทศไทย คุกกี้กล่องเหล็กสีแดงในตำนานคือ คุกกี้อิมพีเรียล ผลิตจากเครือ KCG Group (เดิมชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์) และอีกรายคือ คุกกี้อาร์เซน่อล ซึ่งเป็นเป็นสินค้าของบริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด
คุกกี้ทั้ง 2 เจ้านั้นยึด concept คล้ายๆ กับคุกกี้ต้นตำหรับจากเดนมาร์ก ทั้งความเป็นเอกลักษณ์ด้านสูตร และรูปทรงของคุกกี้ที่บ่งบอกความเป็น Danish Style
คุกกี้อิมพีเรียล หน้ากล่องจะใช้ทหารเดนมาร์ก ส่วนคุกกี้อาร์เซน่อลจะใช้ทหารอังกฤษ พร้อมมีรูปหอนาฬิกา Big Ben อยู่ข้างหลัง
เนื่องจากความเปราะบางของคุกกี้ ทำให้การเก็บคุกกี้ในกล่องเหล็กเป็นเคล็บลับอย่างหนึ่งที่ช่วยลดแรงกระแทก และกันอากาศเข้าไปทำให้คุกกี้สดใหม่ นั่นจึงเป็นที่มาของตำนานคุกกี้ "กล่องเหล็กสีแดง"
เครือ KCG Group นอกจากจะผลิตและจำหน่ายคุกกี้อิมพีเรียลแล้ว ยังผลิตแยม เนย ขนมและน้ำส้ม (ที่รู้จักกันดีในชื่อ น้ำส้มซันควิก)
รายได้และกำไร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ปี 2557 รายได้ 5,433 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 5,737 ล้านบาท กำไร 156 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 5,299 ล้านบาท กำไร 151 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มสยามร่วมมิตร นอกจากจะผลิตและจำหน่ายคุกกี้อาร์เซน่อล ยังผลิตขนมขบเคี้ยวที่เรารู้จักกันดี เช่น ข้าวเกรียบฮานามิ สแน็คแจ๊ค คอร์นพัฟฟ์ เป็นต้น
รายได้และกำไร บริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด
ปี 2557 รายได้ 1,932 ล้านบาท กำไร 93 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 1,896 ล้านบาท กำไร 77 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 1,930 ล้านบาท กำไร 85 ล้านบาท
จะเห็นว่าคุกกี้ชิ้นเล็กๆ ที่เราเห็นนั้น รายได้ไม่เล็กเลย
ถ้าจับฉลากปีใหม่ ปีนี้ เราจับได้คุกกี้ในตำนาน ก็น่าจะทำให้เรากินได้อร่อยขึ้น เพราะรู้ประวัติความเป็นมาแล้วไม่ธรรมดา
และก็อย่าเสียใจไป เพราะอย่างน้อยเราน่าจะมีเพื่อนร่วมชะตากรรม อีกเป็นหลักหมื่นหลักแสนคนในประเทศไทย ที่จับฉลากได้คุกกี้ในตำนานเหมือนกัน..
----------------------
ค้นหาตำนานเรื่องอื่น เช่น ตำนานบัตรเครดิต ตำนานเมอรี่คิงส์ ตำนานมาซาโยชิ ที่ลงทุนแมนเคยเขียนได้ที่ แอปลงทุนแมน แอป SOCIAL KNOWLEDGE แอปแรกของประเทศไทย.. โหลดแอปฟรีได้ที่ https://www.longtunman.com/app
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.