ขายหัวเราะ กำไรมากกว่าเดิม

ขายหัวเราะ กำไรมากกว่าเดิม

27 พ.ย. 2017
ขายหัวเราะ กำไรมากกว่าเดิม / โดย ลงทุนแมน
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน
คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จักหนังสือ “ขายหัวเราะ”
ตอนนี้ทุกคนคงคิดว่าขายหัวเราะกำลังเจอทางตัน
แต่จริงๆ แล้ว บริษัทนี้กำลังจะพลิกฟื้นธุรกิจได้
ขายหัวเราะเกิดมาเมื่อไร มีใครเป็นเจ้าของ และบริษัทผู้ผลิตขายหัวเราะมีรายได้เท่าไร วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ขายหัวเราะเป็นการ์ตูนของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น โดยสำนักพิมพ์นี้ก่อตั้งเมื่อปี 2498 หรือเมื่อ 62 ปีที่แล้ว โดยในช่วงแรกนั้นสำนักพิมพ์ทำเพียงหนังสือแนวนิยาย หนังสือเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงและหนังสือการ์ตูน เช่น พล นิกร กิมหงวน (3 เกลอ) ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้น
ต้นกำเนิดขายหัวเราะ คือปี 2516 หรือ 18 ปี หลังก่อตั้งสำนักพิมพ์ โดย คุณวิธิต อุตสาหจิต ในฐานะบก. ได้ผลิตการ์ตูน "ขายหัวเราะ" ซึ่งเป็นการ์ตูนแก๊กแบบ 3 ช่องจบ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น ทำให้สำนักพิมพ์ออกการ์ตูนอีกเล่มชื่อ "มหาสนุก" ซึ่งมีรูปแบบเนื้อหาที่คล้ายกันกับขายหัวเราะ รวมไปถึงการ์ตูนที่เป็นที่นิยมอีกมาก เช่น สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ ปังปอนด์ และหนูหิ่นอินเตอร์ เป็นต้น
ช่วงแรกที่ขายหัวเราะออกขายนั้น รูปเล่มมีขนาดใหญ่เท่ากระดาษ A4 ต่อมามีการปรับขนาดให้เล็กลง โดยใช้ชื่อว่า "ขายหัวเราะฉบับกระเป๋า”
ราคาขายสมัยเล่มใหญ่นั้น อยู่ที่เล่มละ 5 บาท และมีการปรับราคามาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ขายหัวเราะขายอยู่ราคาเล่มละ 20 บาท และวางขายทุกๆ 15 วัน
แม้จะได้รับความนิยม แต่ขายหัวเราะก็เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เช่น การ์ตูนต่างประเทศที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของการ์ตูนไทย โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นนั้นมีอัตราส่วนของ การจัดพิมพ์การ์ตูน สูงที่สุดในโลก ประมาณ 25% ของจำนวนหนังสือทั้งหมด และมีหน่วยงานที่คอยสนับสนุนอุตสาหกรรมการ์ตูนเพื่อให้มีคนรู้จักเพิ่มขึ้น
แต่ปัจจุบัน เรื่องที่น่ากลัวกว่านั้นคือ พฤติกรรมคนอ่านที่ได้เปลี่ยนไป คนนิยมอ่านทาง Online มากขึ้น ทำให้กลุ่มสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น เริ่มทำ E-book ในปี 2554 ใน version ที่ทดลองตอนแรกนั้น มียอด Download กว่า 20,000 ครั้ง ภายในช่วงระยะเวลา 4 วัน
นับจากนั้น คนอ่านสามารถหาขายหัวเราะมาอ่านได้ 2 ทางคือ รูปเล่มตามแผงหนังสือ หรือโหลดแอปมาอ่าน
รายได้และกำไรของ บริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด (สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น)
ปี 2557 รายได้ 123 ล้านบาท กำไร 4.7 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 121 ล้านบาท กำไร 3.8 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 106 ล้านบาท กำไร 2.8 ล้านบาท
จะเห็นว่ารายได้และกำไรของธุรกิจการ์ตูนยังคงลดลงมาเรื่อยๆ การปรับตัวของธุรกิจจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 2557 เมื่อขายหัวเราะทำสติกเกอร์ LINE ซึ่งถือเป็นสติกเกอร์แรกของไทยที่ขายใน LINE โดยให้บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ในเครือบันลือกรุ๊ป เป็นผู้ผลิต โดยหลังจากปล่อยสติกเกอร์ LINE ออกมา ขายหัวเราะ มียอด Download ทะลุ 100,000 ครั้ง ภายใน 5 วันแรกทันที
วิธิตา แอนิเมชั่น ยังนำ ปังปอนด์ หนูหิ่น คุณมิลค์ และ บ.ก. วิติ๊ด มาเป็นตัวละครในเกมเศรษฐีใน LINE
รายได้และกำไรของ บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด
ปี 2557 รายได้ 44 ล้านบาท กำไร 3.3 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 78 ล้านบาท กำไร 11.8 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 61 ล้านบาท กำไร 6.3 ล้านบาท
ในยุคสังคม Digital ที่เราใช้ชีวิตอยู่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า LINE ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในชีวิตประจำวัน ในปี 2559 ตลาด LINE สติกเกอร์ มียอด Download กว่า 500 ล้านครั้ง โดยในไทยมีผู้ใช้ LINE กว่า 50 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น
สรุปแล้วธุรกิจใหม่มีกำไรมากกว่าธุรกิจขายการ์ตูนมาตั้งแต่ปี 2558 และเมื่อเร็วๆ นี้ เครือขายหัวเราะได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบ สติกเกอร์ของ Disney ภายใต้ Concept ลายเส้นในแบบไทย ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเพิ่มรายได้และขยายตลาดให้กว้างขึ้น
เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า ในการทำธุรกิจ การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตอาจส่งผลทำให้ธุรกิจอยู่รอดลำบาก เราต้องรู้จักปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้เหมือนอย่างที่ขายหัวเราะกำลังทำอยู่..
----------------------
<ad> เราจะหัวเราะดังกว่าเดิม ถ้าได้เห็น รถยนต์เมอร์ซิเดส-เบนซ์คันงาม สภาพป้ายแดง ราคามือสอง ถูกกว่ารถใหม่ 10-70% ที่ Benz Motor Mall มาตรฐาน ISO 9001
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.