กรณีศึกษา ตำมั่ว

กรณีศึกษา ตำมั่ว

25 พ.ย. 2017
กรณีศึกษา ตำมั่ว / โดย ลงทุนแมน
ถ้าสังเกตธุรกิจร้านอาหารส้มตำ
จะพบว่ามีอยู่ร้านหนึ่งที่โดดเด่น
มีสาขาจำนวนมาก
ร้านนั้นมีชื่อว่า “ตำมั่ว”
ตำมั่ว คืออะไร?
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ครีเอทีฟหนุ่มไฟแรงแห่งบริษัทโฆษณา คือ คุณศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์
คุณศิรุวัฒน์ มีแม่เปิดร้านขายส้มตำมา 20 กว่าปี ร้านมีชื่อว่า นครพนมอาหารอีสาน มีเมนูรวมกันถึง 250 เมนู มีโต๊ะสำหรับรับลูกค้า 50 โต๊ะ ลูกค้าประจำก็เยอะ ขายดีมากๆ บางวันขายกันแทบไม่ทัน
แต่เชื่อหรือไม่ว่านครพนมอาหารอีสาน มีปัญหาด้านการเงิน พูดง่ายๆ คือขายเท่าไรเงินก็ไม่มี ทั้งๆ ที่ยอดขายแต่ละวันก็ไม่น้อย
เอ๊ะ...มันยังไงกัน ?
ประเด็นแรก นครพนมอาหารอีสานในตอนนั้นมีเมนูถึง 250 เมนู จุดนี้เป็นจุดตายเรื่องเงิน เพราะเมนูมากขนาดนี้ ทำให้ต้องสต๊อกวัตถุดิบในการทำอาหารมาก
ประเด็นที่สอง การบริหารจัดการด้านบัญชียังไม่มีประสิทธิภาพ
ประเด็นที่สาม ร้านนครพนมอาหารอีสาน มีเพียงแม่ของคุณศิรุวัฒน์เป็นเสาหลักและทำงานเองคนเดียวแทบทุกอย่าง เช่น เรื่องการผลิต
ต่อมาคุณศิรุวัฒน์ ได้เห็นปัญหาดังกล่าว จนต้องมาจับเขาคุยกับน้องสาว จนได้ข้อสรุปว่า “เรามารีแบรนด์กันเถอะ” เป็นจังหวะที่ช่วงนั้นคุณศิรุวัฒน์เบื่อในงานประจำของตัวเองพอดี
จุดที่พีคที่สุดและจุดที่ยากที่สุดไม่ใช่เรื่องของกระบวนการคิด หรือกระบวนการทำให้เกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องการเดินไปบอกคุณแม่ว่า นครพนมอาหารอีสานกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น...คุณศิรุวัฒน์รวบรวมความกล้าเดินไปบอกคุณแม่ว่าจะทำอะไรบ้าง ทำให้คุณแม่โกรธมาก โดยลงโทษคุณศรุวัฒน์ด้วยการไม่คุยด้วยเลยสักคำ รวมเวลา 1 เดือนด้วยกัน
สาเหตุอะไรที่ทำให้คุณแม่ไม่คุยด้วย?
อับดับแรกที่คุณศิรุวัฒน์ได้เริ่มต้นทำการเปลี่ยนแปลงนั้น คือการเปลี่ยนชื่อ จากนครพนมอาหารอีสาน เป็น “ตำมั่ว” ตรงนี้ถือว่าโหดมากสำหรับคนที่อยู่กับชื่อนี้มา 20 กว่าปี
ต่อมาได้ทำการย้ายร้านจากเดิมที่เป็นตึกแถว มีเพียงพัดลม เปลี่ยนมาเป็น ร้านที่มีห้องแอร์
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เจ็บปวดที่สุด คือ การลดเมนูจากเดิมมี 250 เมนู ลดเหลือเพียง 50 เมนู ต่อด้วยการลดโต๊ะจากเดิมมีถึง 50 โต๊ะ เหลือ เพียง 12 โต๊ะเท่านั้น
ยังไม่จบ
คุณศิรุวัฒน์ยังได้บอกกับคุณแม่ต่อว่า หลังจากนี้ไป ผมจะให้คุณแม่อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำงานอะไรในธุรกิจนี้อีกต่อไป แต่ขอเพียงตอนเริ่มตำมั่วมาเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างองค์ความรู้เรื่องสูตรในเมนูอาหารทั้งหมดก็พอ
ทั้งหมดนี้..เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ทำใจไม่ได้
หลังจากปรับความเข้าใจภายในครอบครัวกันเรียบร้อย คุณแม่ก็ได้แสดงถึงความมีสปิริต โดยได้เปิดโอกาสให้ลูกชายทำการรีแบรนด์และเป็นคนกำหนดสูตรอาหารต่างๆ ภายในร้านตำมั่ว ใช้ประสบการณ์ของการตำส้มตำทั้งหมดตลอด 20 กว่าปี เพื่อทำตามคำเรียกร้องจากลูกๆ
จากวันนั้นถึงวันนี้ ตำมั่ว ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากพอสมควร ถือได้ว่าเป็นร้านส้มตำที่นำภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวอีสานมายกระดับ และไปต่อได้ไกลมาก ตั้งขึ้นห้างสรรพสินค้า จนถึงก้าวไปสู่ AEC
นับเวลาเป็น 10 ปีแล้วที่ ตำมั่ว มุมานะ พลิกโลกตัวเองจนกลายเป็น เชน ร้านอาหาร ที่มีลูกค้าจำนวนมาก
จนถึงวันนี้ร้านตำมั่วในเมืองไทยมีมากถึง 100 สาขา และในประเทศต่างๆ เช่น พม่า มี 3 สาขา สปป.ลาว มี 2 สาขา กัมพูชา มี 1 สาขา และยังตั้งเป้าจะไปปักธงที่สิงคโปร์และมาเลเซียในเร็วๆนี้อีกด้วย
ตำมั่วมีสโลแกนว่า “อาหารรสจัด ถนัดเรื่องตำ” ก่อให้เกิดคาแรคเตอร์ของแบรนด์ที่ชัดเจน จนทำให้ไปเข้าตาตระกูลจิราธิวัฒน์ และได้ทำการควบรวมกิจการกับตำมั่ว โดยผ่าน บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (ZEN) ทำธุรกิจอะไร ?
ZEN ทำธุรกิจร้านอาหาร โดยมีเชนร้านอาหารเป็นของตัวเอง และทำธุรกิจแฟรนไชส์ ด้วยการที่มีกลุ่มเซ็นทรัลหนุนหลัง ทำให้ ZEN มีธุรกิจร้านอาหารในมือจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นแนวอาหารญี่ปุ่นและฟิวชั่น เช่น ZEN, ZEN Sushi, AKA, TETSU, On The Table, Carnival
และวันนี้ได้ควบรวมตำมั่วเข้ามา เพราะมองเห็นโอกาสในการเติบโต ตลอดจนต้องการรุกธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์แบบจริงจัง หวังขยายไปสู่ตลาดโลก ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ZEN
ซึ่งการควบรวมในครั้งนี้ทำให้เกิด Category ใหม่ คือ อาหารไทย/อีสาน โดยมี ตำมั่ว, ลาวญวณ, แจ่วฮ้อน, เฝอ, ข้าวมันไก่คุณย่า และครัวไทย by ตำมั่ว พูดง่ายๆ ZEN ควบรวมมาทั้งหมด (เดิมทีแบรนด์ทั้งหมดในกลุ่มตำมั่วเป็นของ บริษัท เครซี่ สไปร์ซี่ กรุ๊ป จำกัด ที่มีคุณศิรุวัฒน์เป็นประธาน)
ทำให้ตอนนี้ ZEN มีแบรนด์รวมทั้งสิ้น 12 แบรนด์
มาดูรายได้ 2 ปีที่ผ่านมาของ ZEN
ปี 2558 มีรายได้ 2,000 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 2,400 ล้านบาท
ถึงอย่างไรก็ตามการที่ตำมั่ว ได้ควบรวบธุรกิจกับกลุ่ม ZEN ทำให้ คุณศิรุวัฒน์ จากที่เป็นผู้ประกอบการต้องกลายเป็นมืออาชีพ วิธีการคิดในการทำงานของคุณศิรุวัฒน์อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จะเติบโตอย่างไร? จะมีสุขหรือมีทุกข์เพิ่มไหม คงต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน
จุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ ธุรกิจร้านอาหารตำมั่วถือเป็นกรณีศึกษาที่ดี ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากและในบางช่วงจังหวะเวลาต้องเรียกว่าพลิกโฉมกันเลยทีเดียว
จากร้านอาหารตึกแถวที่ชื่อว่านครพนมอาหารอีสาน โดยแม่ตำส้มตำมา 20 กว่าปี อยู่ดีๆ ลูกมาบอกให้แม่วางมือ (แม่โกรธ) สุดท้ายเข้าใจ ส่งผลให้พัฒนามาจนขึ้นห้างใช้ชื่อตำมั่ว
จนวันนี้ตำมั่วเปิดสาขาไปทั่วประเทศ..
แล้วพ่อแม่เราทำธุรกิจอะไร? ถ้าเราสามารถต่อยอดธุรกิจให้ยิ่งใหญ่เหมือนตำมั่วได้ พ่อแม่เราก็คงชื่นใจ..
----------------------
<ad> ถ้ากิจการเรายิ่งใหญ่แล้วอยากให้รางวัลกับตัวเองด้วยการหารถดีๆสักคัน เชิญมาดู รถยนต์เมอร์ซิเดส-เบนซ์คันงาม ??? สภาพป้ายแดง ราคามือสอง ถูกกว่ารถใหม่ 10-70% ที่ Benz Motor Mall ศูนย์รวมเบนซ์​ มาตรฐาน ISO 9001 โชว์รูมมี 2 สาขา อยู่ที่รัชดาภิเษก และ เลียบทางด่วน
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.