ไปรษณีย์ 4.0

ไปรษณีย์ 4.0

16 พ.ย. 2017
ไปรษณีย์ 4.0 / โดย เพจลงทุนแมน
ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต
แม้แต่การค้าขายต่างๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอีกต่อไป
สิ่งที่เราเรียกกันว่า e-commerce ได้เปลี่ยนโลกการทำธุรกิจไปมาก
แต่ที่แน่ๆ มีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่โตไปพร้อมกับเทรนด์นี้
ธุรกิจนั้นคือ “ไปรษณีย์”
ถ้าลองนึกย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อพูดถึงคำว่า ไปรษณีย์ คนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงการส่งจดหมายมาเป็นอันดับแรก
พอบ้านเราเริ่มเข้าสู่ยุคของอินเตอร์เน็ต และเราได้รู้จักกับ “อีเมล” ทำให้ตัวตนของไปรษณีย์ในฐานะผู้ส่งสาร เริ่มหายไป
แต่ในทางกลับกัน อินเตอร์เน็ตนี้เอง ก็เปิดโอกาสให้เราสามารถซื้อและขายของบนโลกออนไลน์หรือที่เราเรียกกันว่า “e-commerce” ที่กำลังเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกๆ ปี
ซึ่งนอกเหนือจากตัวกลางอย่างเจ้าของแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์แล้ว อีกหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากระบบ e-commerce ก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ส่งสินค้าระหว่างคนซื้อและคนขาย
โดยผู้ให้บริการส่งพัสดุที่ใหญ่ที่สุดในไทยก็คงหนีไม่พ้น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ที่ก็กำลังปรับตัวและพัฒนาเข้าหา e-commerce อยู่เช่นเดียวกัน
รายได้ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ปี 2557 รายได้ 21,823 ล้านบาท กำไร 1,780 ล้านบาท นำส่งรัฐ 949 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 23,020 ล้านบาท กำไร 2,447 ล้านบาท นำส่งรัฐ 545 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 25,976 ล้านบาท กำไร 3,499 ล้านบาท นำส่งรัฐ 891 ล้านบาท
จุดที่น่าสนใจคือ แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมีสถานที่ให้บริการจำนวน 1,269 แห่ง พนักงานรวมกันกว่า 25,029 คน และส่งไปรษณีย์รวมกว่า 2,400 ล้านชิ้นในปีที่แล้ว (ข้อมูลสิ้นปี 2559)
แต่ตลาด e-commerce กำลังเติบโตขึ้นมาก
ทำให้ความต้องการในการรับส่งพัสดุ (Demand) มีมากเกินกว่าที่ไปรษณีย์ไทยจะเก็บเกี่ยวโอกาสนี้คนเดียว (Supply)
จึงได้เกิดบริการส่งของใหม่ๆ ขึ้นมากมายในบ้านเรา เพื่อเก็บตกความต้องการในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็น แมสเซ็นเจอร์ทั่วๆ ไป, Kerry Express, Food Panda, หรือ Line Man ก็ล้วนเกิดขึ้นจากความต้องการในการรับส่งของตั้งแต่ เอกสาร พัสดุ อาหาร หรือแม้แต่การฝากซื้อของตามร้านค้า ซึ่งไปรษณีย์ไม่สามารถตอบโจทย์ได้
บริษัทเก็บตกมีรายได้แค่ไหน?
ขอยกตัวอย่างรายได้ของบริษัท Kerry Express
ปี 2558 มีรายได้ 1,520 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 3,228 ล้านบาท โตขึ้น 112%
เมื่อมีคนได้ประโยชน์ก็ย่อมมีคนเสียประโยชน์...
แล้วใครเสียประโยชน์จาก e-commerce บ้าง?
ผู้ที่เสียประโยชน์รายแรกเลยก็คือ เจ้าของพื้นที่ให้เช่าขายของ
เมื่อการขายสินค้าหลายๆ อย่างในทุกวันนี้ ไม่มีข้อจำกัดว่าจำเป็นจะต้องมีหน้าร้านที่ “จับต้องได้” คนขายสามารถเลือกที่จะจ่ายค่าเช่าที่ถูกกว่า แต่บางครั้งกลับเข้าถึงคนได้มากกว่า บนโลกอินเตอร์เน็ต ค่าเช่าที่ถูกกว่านี้คือค่าโฆษณาในเฟซบุ๊ค หรือ กูเกิ้ล
รายต่อมาคือ ร้านค้าส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว
เพราะร้านค้าปลีกจะติดต่อสื่อสารและซื้อขายกับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้แทนจำหน่ายโดยตรงได้ง่ายขึ้น แถมยังต้องเจอกับแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ อย่าง Lazada ซึ่งตอนนี้จะเรียกว่า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ยุคใหม่ก็คงจะไม่ผิดเท่าไหร่
ตัวอย่างสุดท้ายที่อาจจะฟังดูแล้วตลก ก็คือ ร้านอาหารแถวบ้านที่ “ไม่อร่อย”
เราไม่จำเป็นต้องทนกับร้านอาหารไม่อร่อยที่อยู่แถวบ้านเราอีกต่อไป
ถ้าเป็นเมื่อก่อน จะอร่อยหรือไม่อร่อยก็จำเป็นต้องทานเพราะอยู่ใกล้บ้าน จะออกไปหาร้านที่อร่อยก็ไกลหรือไปไม่ถูก แต่เดี๋ยวนี้นอกจากร้านดังๆ หลายร้านจะมีบริการเดลิเวอรี่ ยังมีธุรกิจอาสารับซื้ออาหาร และส่งให้ถึงที่อย่าง Line Man และ Food Panda
มาถึงตรงนี้ เราคงเริ่มมองเห็นแล้วว่า คนที่น่าจะไปได้ไกลในยุค e-commerce นี้
ถ้าไม่เป็นตัวกลางในระบบซะเอง ก็จะต้องเป็นคนที่มี “ของดี” ที่ใครๆ ก็ต้องการ
คำถามที่คนทำธุรกิจในยุคนี้ต้องตอบให้ได้
คือ ตอนนี้เรามีของดีที่ว่านี้อยู่ในมือแล้วหรือยัง?
----------------------
<ad> ใครอ่านเรื่องนี้แล้วเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ หรือสนใจทาง financial engineering / startup / data science / ไปจนถึง หุ่นยนต์ และ AI สามารถเริ่มศึกษาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ที่ http://expert-programming-tutor.com เพราะเราเชื่อว่าหุ่นยนต์กำลังจะครองโลก คนที่จะอยู่รอดคือคนที่เขียนโปรแกรมเป็น
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.