CIVILIZATION 1720 AD: กำเนิดฟองสบู่

CIVILIZATION 1720 AD: กำเนิดฟองสบู่

12 พ.ย. 2017
CIVILIZATION 1720 AD: กำเนิดฟองสบู่ / โดย เพจลงทุนแมน
มนุษย์เริ่มรู้จักฟองสบู่แตกเมื่อไม่นานมานี้
ฟองสบู่เริ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกับการเกิดของตลาดหุ้น
เพราะเป็นครั้งแรกที่มนุษย์เล่นกับความโลภของทุกทุกคนได้
ตลาดหุ้นก่อตั้งครั้งแรกขึ้นโดยชาวดัตช์ในปี 1602 ที่เมือง Amsterdam
ตลาดหุ้นทำให้เกิดบริษัท Dutch East India Company บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกถ้าเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน
บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ทำการค้าข้ามโลกไปยังดินแดนตะวันออก เพื่อเสาะหาเครื่องเทศ เกลือ ถ้วยชาม ผ้าไหม และสินค้าต่างๆที่หายากในตะวันตกแล้วนำกลับไปขายยังยุโรป
ก่อนหน้านี้โลกไม่ได้ทำการค้าอะไร จนกระทั่งกูเตนเบิร์กค้นพบแท่นพิมพ์ เรื่องราวของโลกก็ได้เปลี่ยนไป เพราะตอนนี้ความรู้ใหม่ๆได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป
และโลกก็เข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่ายุค เรเนซองส์ (Renaissance) หรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
จนถึงตอนนี้มนุษย์ไม่ได้สนใจเรื่องศาสนา เท่ากับของสิ่งใหม่
ของสิ่งใหม่นี้เรียกว่า “เงิน”
ชาวดัตช์นี้เองทำให้เกิดการบ้าคลั่งของดอกทิวลิป ที่คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อดอกไม้ในราคา 1 ล้านบาท เพื่อแลกกับ ลวดลายที่สวยงามของดอกทิวลิป
นักลงทุนบางคนถึงกับนำที่ดินพื้นที่ 49,000 ตารางเมตร มาแลกกับหัวทิวลิปเพียง 1-2 หัว
จริงๆแล้วเขาไม่ได้บ้า
แต่เพราะเขาโลภ
ดอกทิวลิปสีสันสวยงามเป็นแค่ข้ออ้างในการสมมติสิ่งมีค่าขึ้นมา
นักลงทุนไม่ได้ต้องการดอกทิวลิป
แต่ต้องการเงิน จากการนำดอกทิวลิปไปขายต่อในราคาที่แพงขึ้น
จนกระทั่ง..
ไม่มีใครยอมซื้อในราคาที่สูงขึ้นแล้ว จุดจบจึงเกิดขึ้นโดยราคาหัวทิวลิปได้ตกลงอย่างรวดเร็ว และแทบจะหมดค่าไปในระยะเวลาเพียง 3 เดือนหลังจากนั้น
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสุดบนโลกนี้คือ “ความโลภ” ของมนุษย์
ไม่ว่ามนุษย์จะฉลาดแค่ไหน แต่ถ้าเจอความโลภครอบงำ สุดท้าย ก็คือ หายนะ
แม้แต่ เซอร์ไอแซค นิวตัน ที่ฉลาดพอที่จะค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกได้ แต่เขาไม่สามารถหยั่งรู้ถึงความบ้าคลั่งของมนุษย์ เขาขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในบริษัท South Sea Company บริษัทอังกฤษที่ทำการค้าในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งฟองสบู่ South Sea ได้แตกลงในปี 1720
ในปี 1720 ยังมีอีกฟองสบู่หนึ่ง ที่คนอาจจะยังไม่พูดถึงเท่า ดอกทิวลิป ของชาวดัตช์ หรือ South Sea ของชาวอังกฤษ
ฟองสบู่นั้นชื่อ ฟองสบู่ มิสซิสซิปปี้..
วิกฤตฟองสบู่มิสซิสซิปปี้ เกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อนในประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลในขณะนั้นกำลังขาดทุน และมีหนี้สินท่วมตัว แม้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่าย รวมถึงเพิ่มภาษี ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินคืนประชาชนได้ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างมาก
The Duke of Orleans ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการ จึงตัดสินใจให้ John Law นักเศรษฐศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ที่เขารู้จัก เข้ามาเป็นที่ปรึกษาการเงินให้กับทางรัฐบาล
John Law นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์สไตล์ Keynesian ที่สนับสนุนทฤษฎีการแทรกแซงของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ และยังได้ตีพิมพ์งานวิจัยสนับสนุน การใช้เงินกระดาษ (Fiat Currency) แทนการใช้โลหะที่มีค่าอย่าง เหรียญทองและเงิน (Silver) ในการซื้อขาย
และนี่คือโอกาสที่ Law จะได้ทดลองนโยบายการเงินของเขาในชีวิตจริง
เขาเชื่อว่าการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบ จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินและลดภาระให้กับกษัตริย์และชนชั้นสูงที่เป็นหนี้ และยังจะทำให้ราคาสินค้าการเกษตรขายได้แพงขึ้น เมื่อพวกพ่อค้ามีเงินมากขึ้น ก็จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
ปี 1716 Law ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ตั้งธนาคารกลาง (Banque Générale) ขึ้น และจะรับฝากทองคำและเงินจากประชาชน เพื่อแลกกับธนบัตรที่ธนาคารจะพิมพ์ออกให้ ซึ่งจริงๆ แล้วในตอนนั้น ธนบัตรที่ออกมา ยังไม่ใช่เงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) แต่ก็เป็นที่ยอมรับของคนฝรั่งเศส เนื่องจากสามารถนำไปแลกคืนเป็นทองและเงิน ซึ่งเป็นสกุลเงินทางการในตอนนั้นได้
หลังจากนั้น 1 ปี Law ก็เข้าซื้อบริษัท Mississippi และเปลี่ยนชื่อเป็น Compagnie d’Occident (Company of the West) และได้รับสัมปทานผูกขาดการค้ากับทาง อเมริกาเหนือบริเวณเลียบแม่น้ำมิสซิสซิปปี (ในปัจจุบันคือตั้งแต่ Louisiana ไปจนถึง แคนาดา) ซึ่งในตอนนั้นเป็นเขตอาณานิคมฝรั่งเศส และ “เชื่อ” กันว่ามีทรัพยาการทองคำและเงินเป็นจำนวนมาก
Law เปลี่ยนชื่อบริษัทอีกครั้งเป็น Compagnie des Indes ซึ่งในขณะนั้นบริษัทของเขาถือว่าผูกขาดการค้าของฝรั่งเศสนอกพื้นที่ยุโรปทั้งหมด
และแล้วนโยบายการปลดหนี้รัฐบาลฝรั่งเศสของ Law ก็เริ่มต้นขึ้น
Law จะรับซื้อหนี้รัฐบาลที่เหลืออยู่ทั้งหมดจากประชาชนด้วย “หุ้น” ของบริษัท Compagnie des Indes ซึ่ง ณ ตอนนั้นบริษัทมีอำนาจควบคุมทั้งการเงินของประเทศ และการค้าในต่างประเทศ และในภายหลังบริษัทยังได้ซื้อสิทธิในการผลิตเหรียญตรา รวมถึงสิทธิในการเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมในฝรั่งเศสอีกด้วย
ต้นปี 1719 หุ้นของบริษัทถูกนำออกขายในราคา 500 livres (สกุลเงินก่อนฟรังก์) ซึ่งจะต้องซื้อด้วยธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นจากธนาคาร Banque Générale และหนี้รัฐบาลเท่านั้น
แน่นอนว่าหุ้นขายดีเป็นเทน้ำเทท่าและพุ่งขึ้นเป็น 10,000 livres ต่อหุ้น หรือ 20 เท่าใน 1 ปี ส่งผลให้ Law ช่วยปลดหนี้ของรัฐบาลทั้งหมด กลายเป็นคนที่รวยที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในยุโรป รวมถึงคนที่มาซื้อหุ้นก็รวยกันถ้วนหน้า และก็เป็นจุดกำเนิดของคำว่า “Millionaire” นับตั้งแต่นั้น
เหตุผลส่วนหนึ่งที่คนนิยมซื้อหุ้นบริษัทนี้ก็มาจากความเชื่อที่ว่า บริษัทจะสามารถขุดทองคำและเงินได้อย่างมหาศาลจากพื้นที่อาณานิคมในอเมริกา
อีกส่วนก็มาจาก เงินที่ธนาคารพิมพ์ออกมาอย่างไม่จำกัด เพื่อสนองความต้องการในการซื้อหุ้นของบริษัทนี้ ซึ่งภายในปีเดียว มีเงินถูกพิมพ์เพิ่มขึ้นถึง 186%
จุดที่สำคัญคือ เงินที่พิมพ์ออกมาจำนวนมากนี้ มีจำนวนมากกว่าทองคำและเงินสำรองในธนาคารหลายเท่า
วิกฤตเริ่มขึ้น เมื่อคนเริ่มต้องการแลกเงินธนบัตรที่ได้กำไรมาคืนเป็นทองคำ แต่ Law กำหนดจำนวนที่สามารถแลกคืนได้ และไม่กี่เดือนต่อมาก็ต้องประกาศลดมูลค่าหุ้นและธนบัตรลงครึ่งนึง เพราะทองคำสำรองขาดแคลน และทำให้คนที่เหมือนเคยเป็นเศรษฐี กลายเป็นยาจกในทันที
การที่ทองคำและเงินขาดแคลนไม่พอให้แลกนั้น นอกเหนือจากที่จะพิมพ์เงินออกมาเป็นว่าเล่นแล้ว ที่อเมริกาก็กลายเป็นว่า ไม่ได้มีทองให้ขุดส่งมาอย่างที่เชื่อในตอนแรก
ปี 1720 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 23% ต่อเดือน (monthly rate) ราคาหุ้นร่วงลงมาเหลือ 1,000 livres ลงไปเหลือ 500 livres ในอีก 1 ปีต่อมา และหลังจากนั้นไม่นาน John Law ก็ต้องแอบหนีออกจากประเทศ หลังจากทำให้คนฝรั่งเศสถือแต่กระดาษที่แทบไม่เหลือค่าอะไรเลย
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ฝรั่งเศสใช้เวลาเกือบ 80 ปี ถึงจะแนะนำการใช้เงินกระดาษในระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยสกุลเงินฟรังก์ (French franc)
บางคนก็เชื่อว่า John Law มีเจตนาที่จะช่วยรัฐบาลปลดหนี้ และตั้งใจทำบริษัทการค้าจริงๆ เพียงแต่นโยบายการเงินของเขามันทะเยอทะยานและเร่งรัดจนเกินไป รวมถึงไม่สามารถแยกแยะระหว่างคำว่า ความเชื่อมั่น (Confidence) และ การทำตามคำสั่ง (Obedience) ได้
ความเชื่อมั่นของคนส่วนใหญ่อยู่ที่ไหน มูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ก็อยู่ที่นั่น เมื่อคนไม่มีความเชื่อมั่นในหุ้นบริษัทและเงินธนบัตรที่เขาเหมือนยัดเยียดให้ใช้ มูลค่าเงินตราของฝรั่งเศสก็กลับไปอยู่ที่ทองคำและเงินเหมือนเดิม
------------------------------
ผ่านมา 300 ปี
นับตั้งแต่คนเริ่มให้ความสำคัญกับ “เงิน”
ตั้งแต่นั้นมามนุษย์ก็พบกับคำว่า ฟองสบู่ มาเป็นระยะ
และจนถึงตอนนี้
ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นอยู่
ฟองสบู่จะก่อตัวขึ้น ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่บนโลกนี้
อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสุดบนโลกนี้คงไม่ใช่ระเบิดอะไร
แต่เป็น ความโลภของมนุษย์..
----------------------
<ad> ใครอ่านเรื่องนี้แล้ว อยากเรียนต่อ Finance, FinTech, Data Analytics, Entrepreneurship หรือ Marketing มีทุนการศึกษาที่น่าสนใจ (ลดค่าเรียนบางส่วน) จาก University of Strathclyde มหาวิทยาลัย TOP3 ของวิชาการเงินใน UK อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.mcducation.org/news/scholarship-university-of-strathclyde-mcducation-thailand ถ้าแจ้งว่าทราบข่าวจากลงทุนแมน รับฟรีคูปองทดสอบ mock IELTS ที่โรงเรียน BRIT Language Centre ด้วย!
----------------------
อ่านซีรีส์บทความ CIVILIZATION ตอนอื่นๆ ได้ที่
CIVILIZATION 70000 BC: จุดเริ่มต้น ของ จุดสิ้นสุด
longtunman.com/2048
CIVILIZATION 5000 BC: ปีระมิดที่หายไป
longtunman.com/2196
CIVILIZATION 2000 BC: คำสาป คณิตศาสตร์
longtunman.com/2350
CIVILIZATION 476 AD: กรุงโรมล่มสลาย
longtunman.com/2757
CIVILIZATION 1439 AD: ตำนาน THOR
longtunman.com/3067
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.