ไอโมบาย กำลังไม่สบาย

ไอโมบาย กำลังไม่สบาย

2 พ.ย. 2017
ไอโมบาย กำลังไม่สบาย / โดย เพจลงทุนแมน
เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มบริษัทสามารถ
เจ้าของมือถือยี่ห้อไอโมบาย
ได้ประกาศปิดฉากธุรกิจมือถือไอโมบาย
เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาภาวะขาดทุนอย่างหนัก
และไม่สามารถสร้างรายได้ตามเป้าที่วางไว้ได้
โดยบริษัทจะหันไปทำธุรกิจอื่นแทน
ยอดขายของไอโมบายมีทั้งหมด 38 ล้านเครื่อง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ทำไมยอดขายที่มากขนาดนี้ ถึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้?
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไอโมบายเดินทางมาถึงจุดนี้ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ บริษัท สามารถ อีซี่เปย์ จำกัด ก่อตั้งโดยบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของครอบครัว “วิไลลักษณ์” เมื่อปี 2538 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว
ซึ่งตอนแรกบริษัททำธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia และ Siemens ในประเทศไทย ซึ่งต่อมาก็ขยายไปสู่แบรนด์อื่นๆ เช่น Samsung และ Sagem
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของไอโมบายเกิดขึ้นเมื่อ บริษัท สามารถ อีซี่เปย์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอ-โมบาย และได้ทำ IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2546 เป็นบริษัทมหาชน โดยมีชื่อตัวย่อว่า “SIM” เพื่อขยายธุรกิจทำโทรศัพท์มือถือขึ้นมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “i-mobile” ที่เรารู้จักในปัจจุบันนั่นเอง
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2547 บริษัทไอ-โมบาย ได้ผลิตมือถือออกมาจำหน่ายรุ่นแรก คือรุ่น i-mobile 601 ในราคาเครื่องละ 5,990 บาท ซึ่งความพิเศษของมือถือเครื่องนี้จะเป็นมิวสิคโฟนรุ่นเดียวที่ขายราคาต่ำกว่า 10,000 บาท ในขณะนั้น ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
จากยอดขายหลักแสนเครื่องในปี 2547-2548 ได้เติบโตมาเป็น 1.8 ล้านเครื่องในปี 2549 และ 1.5 ล้านเครื่องในปี 2550 จนทำให้ในยุคนั้น ไอ-โมบายคือแบรนด์มือถือเบอร์ 2 ของตลาด โดยเป็นรองเพียง Nokia ด้วยส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 30% และนี่จึงดูเหมือนว่าอนาคตของไอ-โมบาย กำลังไปได้สดใสเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา
การเปิดตัวไอโฟนครั้งแรกของ สตีฟ จอบส์ ในปี 2550 ก็ทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือและโลกของเราเปลี่ยนไปตลอดกาล รวมถึงไอ-โมบาย ซึ่งไอโฟนได้เปลี่ยนโฉมหน้าที่การทำงานของมือถือที่ไม่ได้มีเพียงไว้ใช้สำหรับโทรติดต่อผู้คนเท่านั้น แต่มือถือยังสามารถเป็นได้ทั้งวิทยุ ทีวี และ คอมพิวเตอร์ ภายในเครื่องเดียวกัน
ต่อมา เมื่อค่ายมือถือทั้ง AIS DTAC และ TRUE สามารถผลิตมือถือราคาถูกขึ้นมาเอง ทำเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนของตัวเองได้ และยังสมนาคุณด้วยโปรโมชั่นแพ็คเกจที่ดุเดือด มันจึงไม่มีเหตุผลที่ทำให้คนเราต้องซื้อมิวสิคโฟนที่เป็นจุดเด่นของไอ-โมบายอีกต่อไป
โดยผลประกอบการที่ผ่านมาของบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) มีดังนี้ คือ
ปี 2557 มีรายได้12,494 ล้านบาท กำไร 710 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 7,799 ล้านบาท กำไร 37 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 3,461 ล้านบาท ขาดทุน 720 ล้านบาท
จากรายได้หมื่นกว่าล้านเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้รายได้หดตัวลงเหลือเพียง 1 ใน 4
โดยจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ของไอ-โมบาย ณ ตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นเหมือน “ผู้ป่วยโคม่า ที่กำลังรอหมอถอดเครื่องออกซิเจน” เท่านั้น
กลุ่มบริษัทสามารถ บริษัทแม่ของไอ-โมบายจึงไม่รอช้า ยอมทิ้งธุรกิจที่ทำมากว่า 20 ปี ยอมเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นแทน
เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ “SDC” โดยธุรกิจใหม่ที่จะทำประกอบไปด้วย
1. Digital network ที่ให้บริการด้านการสื่อสารผ่านระบบดิจิทัล ทั้งโทรศัพท์มือถือ และวิทยุ
2. Digital Content ที่ให้บริการคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ ภายใต้แบรนด์ EDTguide.com
3. iSport ที่ให้บริการธุรกิจกีฬาครบวงจร
4. เวปไซต์ Zazzet ที่ให้บริการขายฝากสินทรัพย์ออนไลน์
5. IoT ธุรกิจอื่นๆ ในการจำหน่ายอุปกรณ์เสริม
เรื่องราวทั้วหมดที่เราอ่านมานี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Disrupt)
เมื่อ 10 ปีที่แล้วใครจะคิดว่า ไอ-โมบายจะต้องมาปิดตัวลงอย่างในทุกวันนี้
ย้อนกลับมาที่ตัวเรา
บางทีเรื่องพวกนี้ อาจจะไม่ได้ไกลตัวอย่างที่เราคิด เทคโนโลยี หรือสินค้าใหม่ๆสามารถเข้ามาทดแทนสินค้าเราได้ทุกเมื่อ
สักวันหนึ่งเราอาจจะเป็นเหมือน ไอโมบาย ที่ไม่สบายโดยไม่รู้ตัว..
----------------------
<ad> ถ้ารู้สึกไม่สบาย เชิญมาชิม ตำปลาร้ากุ้งสด ใส่พริกสด 30 เม็ด กินชาตินี้ เผ็ดถึงชาติหน้า ที่ ร้าน "ฝากท้อง อีสานสไตล์" ตรงข้าม เซ็นทรัลลาดพร้าว fb.com/faak.tong
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.