สวนสนุกไทย กำลังฝันร้าย

สวนสนุกไทย กำลังฝันร้าย

28 ต.ค. 2017
สวนสนุกไทย กำลังฝันร้าย / โดย เพจลงทุนแมน
สวนสนุกเมืองไทยที่เรานึกถึง
คงเป็นสวนสยาม และดรีมเวิลด์
สถานที่แห่งความทรงจำในวัยเด็ก
สถานที่พักผ่อนของครอบครัวในวันหยุด
สถานที่นี้อยู่ในทุกช่วงชีวิตของทุกคน
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่ทั้ง 2 นี้ให้ฟัง
“สวนสยาม โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม”
สโลแกนติดหูของสวนสยาม ทะเลกรุงเทพ มีชื่อบริษัทเดิมว่า อมรพันธุ์นคร ก่อนจะเปลี่ยนเป็น สยามพาร์คซิตี้ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ก่อตั้งโดย คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ เมื่อปี พ.ศ. 2518 และเปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 หรือเมื่อ 37 ปีแล้ว
คุณไชยวัฒน์ เป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจพัฒนาที่ดินมาก่อน โดยเป็นผู้ริเริ่มการสร้างโครงการหมู่บ้านจัดสรรคนแรกๆ ของเมืองไทย และเมื่อธุรกิจที่ดินไปได้สวยจนร่ำรวยในระดับหนึ่ง จึงมีความคิดที่จะสร้างสถานที่พักผ่อนทันสมัยให้คนไทย
จากการที่ได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและพบว่า มีการนำทะเลขึ้นมาสร้างบนบก จึงกลับมาดูที่เมืองไทยและเห็นว่าการที่คนในละแวกกรุงเทพจะไปเที่ยวทะเลนั้นก็ค่อนข้างไกล จึงเป็นที่มาของสวนสยาม ทะเลกรุงเทพ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
สวนสยามเป็นสวนสนุกแห่งที่ 3 ของประเทศไทย (แห่งแรกคือแฮปปี้แลนด์ แห่งที่ 2 คือแดนเนรมิต) โดยเป็นสวนน้ำที่มีทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีอีกจุดเด่นหนึ่งก็คือสไลเดอร์ยักษ์ความสูง 7 ชั้น ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญเมื่อมาเที่ยวสวนสยาม นอกจากนี้ยังรองรับกิจกรรมทัศนศึกษา ค่ายลูกเสือ รวมถึงการประชุมสัมมนาอีกด้วย
บริษัทของสวนสยามชื่อ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด มีรายได้ดังนี้
ปี 2557 มีรายได้ 472 ล้านบาท กำไร 30 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 453 ล้านบาท กำไร 12 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 433 ล้านบาท กำไร 2 ล้านบาท
อีกบริษัทหนึ่งชื่อ สยามพาร์คซิตี้ มีรายได้ดังนี้
ปี 2557 มีรายได้ 30.6 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 30.7 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 31.2 ล้านบาท กำไร 14 ล้านบาท
--------------------------------------------------------------
ดรีมเวิลด์ “โลกแห่งความสุข สนุกทั้งครอบครัว”
เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เป็นธุรกิจของตระกูล กิติพราภรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำสวนสนุก “แดนเนรมิต” มาก่อน
โดยเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสวนสนุกที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนกรุงเทพ เนื่องจากช่วงนั้นมีเพียง แดนเนรมิต สวนสยาม และซาฟารีเวิลด์
ดรีมเวิลด์เปรียบเสมือนโลกแห่งความฝันของเด็กๆ เพราะนอกเหนือจากเครื่องเล่นที่มีมากมายแล้ว ยังมี “เมืองหิมะ” แห่งแรกในประเทศ และทำให้การได้สัมผัสหิมะนั้นเป็นฝันที่เป็นจริงสำหรับคนไทย โดยที่ไม่ต้องไปไกลถึงต่างประเทศ
นอกจากนี้ เดรีมเวิลด์ก็ยังมีการแสดงและโชว์ต่างๆ รวมถึงขบวนพาเหรดให้เด็กๆ และครอบครัวได้สนุกไปด้วยกัน
ดรีมเวิลด์ หรือ บริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จํากัด มีรายได้ดังนี้
ปี 2557 มีรายได้ 405 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 406 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 346 ล้านบาท ขาดทุน 19 ล้านบาท
หากเราดูงบการเงินของทั้ง 2 แห่ง เราจะพบว่ารายได้และกำไรอยู่ในอัตราที่ลดลงเรื่อยมา เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารสูงขึ้นในขณะที่รายได้ลดลงเรื่อยๆ
ปัจจัยที่สำคัญก็คือคู่แข่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีมานี้
ไม่ว่าจะเป็นสวนน้ำ Vana Nava Hua Hin Water Jungle ที่หัวหิน หรือ Cartoon Network Amazone Waterpark ที่พัทยา ซึ่งสวนสนุกเหล่านี้สร้างประสบการณ์เที่ยวที่ทันสมัยให้แก่ลูกค้าได้มากกว่า มี mood & tone ที่สนุกครึกครื้น เมื่อเทียบกับสวนสยามและดรีมเวิลด์ซึ่งเรียกได้ว่าเก่าแล้ว
อีกทั้งตั๋วเครื่องบินทุกวันนี้ก็มีแบบที่ราคาถูกลงมา ทำให้การบินไปเที่ยวสวนสนุกอย่าง Disneyland ที่ฮ่องกง และ โตเกียว หรือ Universal Studio ที่สิงคโปร์ และ โอซาก้า จึงเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้มากขึ้น และได้แย่งส่วนแบ่งลูกค้าของสวนสนุกเหล่านี้ไป
สวนสนุกชื่อดังของเมืองไทยทั้ง 2 แห่งนี้ ยังมีทางไปต่อได้หรือเปล่า?
สวนสยามและดรีมเวิลด์ มีรายได้ที่ละประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ Disneyland มีรายได้ประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี (เฉพาะส่วนของสวนสนุกและรีสอร์ท) และถ้าดูถึงรายได้รวมทั้งหมดของ Disney ซึ่งรวมไปถึง Media Network และ Studio Entertainment เช่น เคเบิ้ลทีวี ภาพยนตร์ และการขายลิขสิทธิ์ต่างๆ Disney จะมีรายได้รวมถึง 1.8 ล้านล้านบาท
ทำให้เห็นว่า สวนสนุกของไทยยังคงมีสเกลที่ห่างจากสวนสนุกระดับโลกถึงกว่า 1,000 เท่า
Disneyland และ Universal Studio มองข้ามการเป็นเพียงสวนสนุก ไปสู่การให้บริการเป็นรีสอร์ทที่พักสำหรับครอบครัว
บางทีสวนสยามและดรีมเวิลด์อาจลองมองจุดนี้ และขยายแนวทางเพื่อสร้างโอกาสในธุรกิจที่มากขึ้น
อีกข้อคือ Disneyland หรือ Universal Studio มี Story ที่ผูกติดกับสวนสนุกซึ่งดึงดูดให้คนมาใช้บริการ ทั้งตัวละครในภาพยนตร์ ตัวการ์ตูนในอะนิเมชั่น ในขณะที่ทั้งสวนสยามและดรีมเวิลด์ไม่ได้มี story ใดๆ เป็นพิเศษ
ปัจจุบันประชาชนนิยมมีลูกน้อยลง อัตราการเกิดของเด็กลดลง และเด็กก็น่าจะเป็นลูกค้าหลักของสวนสนุก
เชื่อว่ายังมีคนอีกมากมายพร้อมที่จะกลับไปเยือน “โลกแห่งความสุข” ทั้ง 2 ใบนี้ และสร้างอีกหลายล้านความทรงจำ เพื่อส่งต่อให้แก่รุ่นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ถึงเวลาหรือยัง ที่สวนสนุกเหล่านี้จะรื้อฟื้นตัวเองขึ้นมาใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ ปรับปรุงสถานที่และบรรยากาศให้ทันสมัยและน่าสนใจ จุดนี้จึงเป็นความท้าทายของผู้บริหารสวนสนุกในยุคปัจจุบัน..
----------------------
<ad> ถ้าเรามีบ้าน หรือ คอนโด ที่ผ่อนกับธนาคารอยู่ แต่อยากลดดอกเบี้ย หรือ ยืดเวลาผ่อน มารีไฟแนนซ์ กับ REFINN ฟรีได้ที่ https://goo.gl/2KgGWa
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.