King of Melody

King of Melody

26 ต.ค. 2017
King of Melody/ โดย ลงทุนแมน
เพจลงทุนแมน ขอเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยบทความเกี่ยวกับพระอัจฉริยะของพระองค์ทางด้านดนตรี เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อประชาชนและประเทศชาติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรี ทั้งการทรงดนตรี การประพันธ์ทำนอง และ เนื้อร้อง รวมถึงทรงเป็นผู้สอน และ ผู้นำวงดนตรี
ประชาชนของพระองค์ ได้เห็นพระองค์ทรงมีความสุขและสำราญพระหฤทัย ที่ได้ทรงดนตรี มาช้านาน
บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ มีทั้งสิ้น 48 บทประพันธ์
ตั้งแต่ ทรงพระเยาว์ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรคอนเสิร์ต พร้อม พระเชษฐา ที่ เมือง Arosa Switzerland ทำให้ทั้ง 2 พระองค์ สนพระทัยในดนตรี และ ได้ซื้อ แซกโซโฟน มือสอง ในราคา 300 ฟรังค์
เมื่อถึงเวลาเข้าเรียน พระเชษฐาเปลี่ยนพระทัย ให้แต่สมเด็จพระน้องยาเธอ ศึกษาเพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงศึกษา พื้นฐานด้านดนตรีคลาสสิเคิล มานานกว่า 2 ปี แล้วจึงได้ศึกษา ดนตรีแจ๊ส
โดยทรงเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด แต่พระองค์ทรงชอบเครื่องเป่า แซกโซโฟน แคลริเนต
เมื่อพระชนมายุ ได้ 18 พรรษา ได้ประพันธ์ทำนองเพลงแรก คือ แสงเทียน เป็นหนึ่งใน 4 บทเพลงที่ประพันธ์ในสมัย ดำรงพระยศ สมเด็จพระน้องยาเธอ
ชะตาชีวิต HM Blues เป็นเพลงที่ทรงประพันธ์ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ พระชนมพรรษา 20 พรรษา แต่ยังประทับอยู่สวิสเซอร์แลนด์
มืเรื่องเล่าขานถึงพระอารมณ์ขัน พระองค์ให้ทายคำว่า HM แปลว่าอะไร ส่วนใหญ่ ตอบว่า HM แปลว่า Her Majesty พระองค์เฉลยว่า Hungry’s Man Blue เพราะทรงเล่นดนตรีและ ทรงพระกระหายมาก ขณะที่คนอื่นนั่งฟังและได้รับประทานอาหารกันสบาย
2 บทเพลงประพันธ์ อาทิตย์อับแสง เทวาพาคู่ฝัน มีเนื้อร้องที่ทุกคนกล่าวว่า น่าจะประพันธ์ถวายแด่สมเด็จพระราชินี และ สมเด็จพระราชินีได้ทรงร้องเพลงอาทิตย์อับแสง ในงานเลี้ยงวันที่ 12 สิงหาคม 2492 ที่สถานทูตไทยกรุงลอนดอน และในคืนนั้น ได้ประกาศข่าวทรงหมั้นอย่างเป็นทางการ
บทเพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ ทำนองเพลง พร้อม คำร้องภาษาอังกฤษ คือ เพลง ECHO บทเพลงลำดับที่ 38 มีความไพเราะ ร่วมสมัย แม้จะทรงประพันธ์ตั้งแต่พระชนมพรรษาได้ 40 พรรษา หรือ นาน 50 ปีแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระมหากรุณารับสั่งเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลงเป็นครั้งแรกแก่ สมาคมดนตรีเนื่องในโอกาสที่พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ "Echo" บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ว่า
"(เพลงแรกคือแสงเทียน)... จากนั้น ฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนบัดนี้รวมทั้งหมด 40 เพลง ในระยะเวลา 20 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 2 เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับความสนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลงและนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟัง ต่างได้แสดงความพอใจ และความนิยมพอสมควร จึงเป็นกำลังใจแก่ฉันเรื่อยมาขอถือโอกาสขอบใจมาในที่นี้ด้วย"
เพลงสุดท้ายที่ ทรงประพันธ์บททำนอง คือ เมนูไข่ ถวายแด่ สมเด็จพระพี่นางเธอ พระชนมายุครบ 72 พรรษา บทร้องโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นเพลงสนุก ทำนองเร็ว
วงดนตรีที่ทรงโปรดที่สุด คือ วงดนตรีแจ๊ส Preservation Hall Jazz Band จาก New Orleans พระองค์ท่านเคยรับสั่งกับวงดนตรี อส วันศุกร์ ว่า ถ้าหายประชวร จะชวนไปล่องเรือฟังเพลงแจ๊ส ที่แม่น้ำนิวออร์ลีนส์
ระหว่างที่พำนักรักษาพระองค์ ที่โรงพยาบาล ศิริราช วงดนตรี อส วันศุกร์จะเข้าไปถวายเพลง อาทิตย์ละ 2 วัน เพลงที่ วงอ.ส.วันศุกร์บรรเลงถวายเพลงสุดท้ายที่โรงพยาบาล คือเพลง When You’re Smiling ของ Frank Sinatra
หลังจากพระองค์สวรรคต
ผศ. ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ ผู้นำวง อ.ส. วันศุกร์ได้ให้สัมภาษณ์ปนเสียงสะอื้นว่า ได้เลือกเพลงนี้ เพราะอยากเห็นรอยยิ้มจากพระองค์ และ พระองค์ได้ทรงยิ้ม ทรงรับรู้ ความปรารถนาดีผ่านเสียงเพลง
บทเพลง ทุกบทเพลงของพระองค์ ล้วนบ่งบอก ถึงความรัก และความสุขของพระองค์ในเสียงดนตรี เฉกเช่นความรักของพระองค์ ที่มีให้กับประชาชน มาตลอด 70 ปีที่ได้ครองราชย์ เพราะ ความสุขของประชาชน คือ ความสุขของพระองค์
เมื่อบทเพลงของพระองค์ที่เราคุ้นเคย ดังขึ้น ไม่ว่า จะเป็นเพลง พรปีใหม่ ใกล้รุ่ง ยามเย็น ลมหนาว หัวใจของเราจะกระตุกทุกครั้ง
อาจจะมีรอยเศร้าที่ขอบตา แต่เราก็คงยังมีรอยยิ้มที่มุมปาก ด้วยความทรงจำระลึกถึง ความรัก และ พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ ที่พระองค์มีให้เรา
ถึงแม้ว่าวันนี้พระองค์ท่านจะไม่ได้ทรงประทับอยู่กับพวกเราแล้ว
แต่เสียงเพลงของพระองค์ จะยังคงอยู่ในความทรงจำของประชาชนของพระองค์ ตลอดไป
เป็นดังเช่นคำร้องท่อนสุดท้ายของเพลง ECHO ที่ท่านทรงประพันธ์ไว้
I know
Our love will
Linger on
For eternity
โลกเรานี้ที่แท้ไม่มี
ยืนยัง
แต่ความรัก
เราจีรัง
คงคู่ฟ้า ยั่งยืน..
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เขียนบทความเพจลงทุนแมน
พสกนิกรที่เกิดในรัชกาลที่ 9
26 ตุลาคม 2560
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.