Dairy Queen ไอติมแสนล้าน

Dairy Queen ไอติมแสนล้าน

19 ต.ค. 2017
Dairy Queen ไอติมแสนล้าน / โดย ลงทุนแมน
Dairy Queen มีราคาที่ไม่แพงมาก
ทำให้คนยอมที่จะควักเงินจ่ายซื้อมาทานเล่น
แต่รู้ไหมว่าไอติมยี่ห้อนี้ มียอดขายระดับแสนล้าน
Dairy Queen ขายไอศกรีมประเภท Soft Serve
มารู้จักกันก่อนว่า ไอศกรีม Soft Serve แตกต่างจากไอศกรีมปกติอย่างไร?
ไอศกรีมปกติ จะมีไขมันอยู่ที่ 10-18% ซึ่งผลิตและเก็บไว้ในเครื่องทำความเย็นที่อุณหภูมิ -15 องศาเซลเซียส
ขณะที่ไอศกรีม Soft Serve จะมีไขมันเพียง 3-6% ผลิตที่อุณหภูมิประมาณ -4 องศาเซลเซียส ทำให้มีเนื้อครีมที่เนียนนุ่มกว่า
นอกจากนี้จะมีการนำอากาศประมาณ 33-45% ของปริมาตรไอศกรีม ใส่เข้าไปในขณะปั่น ซึ่งทำให้ได้ไอศกรีมที่มีรสชาติแตกต่างกันไป หากใส่อากาศน้อย จะได้ไอศกรีมที่มีสีและรสชาติที่เข้มข้น แต่หากใส่อากาศมาก จะได้ไอศกรีมที่มีสีและรสชาติที่อ่อนลง
แล้ว Dairy Queen มีที่มาที่ไปอย่างไร?
เมื่อปี 1938 นาย John Fremont McCullough และลูกชาย ได้ค้นพบสูตรว่า ไอศกรีมจะมีรสชาติอร่อยน่ากินขึ้น ถ้าทำให้นุ่ม โดยการผลิตใหม่ๆจากเครื่อง มากกว่าไอศกรีมแบบแช่แข็งทั่วไป พวกเขาจึงได้ทดลองขาย ปรากฏว่าแค่ 2 ชั่วโมง ขายได้ 1,600 ถ้วย ต่อมาจึงได้เปิดร้าน Dairy Queen แห่งแรกขึ้นที่รัฐอิลลินอยส์
Dairy Queen ถือเป็นธุรกิจอาหารรายแรกๆที่ใช้ระบบแฟรนไชส์ ซึ่งได้ผลดีมาก โดยภายใน 15 ปีแรก มีสาขาเพิ่มเป็น 2,600 สาขา ปัจจุบัน Dairy Queen มีร้านทั่วโลก ราว 6,400 สาขา ใน 25 ประเทศ โดยราว 4,500 สาขา อยู่ในอเมริกา ซึ่งมียอดขายประมาณ 4,100 ล้านดอลลาร์ต่อปี (135,000 ล้านบาท)
Dairy Queen ถือเป็นธุรกิจไอศกรีมที่มีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก Baskin-Robbins
แนวทางการดำเนินธุรกิจที่ค่อนข้างครองตลาด สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง และมีการขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนต่ำ เข้ากับแนวทางการลงทุนของนักลงทุนระดับตำนานคนหนึ่ง เขาคือ Warren Buffett โดยในปี 1998 บริษัท Berkshire Hathaway ได้ตกลงซื้อ Dairy Queen มาในราคา 585 ล้านดอลลาร์ กลายมาเป็นบริษัทลูกของ Berkshire ตั้งแต่นั้นมา
Dairy Queen กับประเทศไทย เป็นอย่างไร?
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เป็นผู้ได้ซื้อลิขสิทธิ์ Dairy Queen ในประทศไทย โดยเปิดสาขาแรก เมื่อ มิ.ย. ปี 1996 และได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน มีสาขาในไทยทั้งหมด 435 สาขา บริหารโดย MINT 225 สาขา และเป็นแฟรนไชส์ 210 สาขา จำนวนเป็นรองเพียงที่อเมริกา และแคนาดาเท่านั้น
Dairy Queen เป็นผู้นำตลาดไอศกรีม Soft Serve มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% (รายที่เหลือ เช่น KFC McDonald’s) จากข้อมูลในรายงานประจำปีของ MINT พบว่า Dairy Queen มียอดขายดังนี้
ปี 2014 รายได้ 2,192 ล้านบาท
ปี 2015 รายได้ 2,300 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 2,314 ล้านบาท
จะเห็นได้ยอดขายมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราคาไอศกรีมและจำนวนสาขาของ Dairy Queen กับคู่แข่งอย่าง KFC และ McDonald’s ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ความหลากหลายของเมนู
แค่ Blizzard เมนูยอดฮิตก็มีมากกว่า 10 รสชาติแล้ว ในขณะที่คู่แข่งมีเมนูน้อย ส่วนใหญ่แค่รสวนิลลา ช็อกโกแลต เนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจหลักของเขา
นอกจากนี้ ยังใส่เอกลักษณ์ในสินค้า ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมโคนรูปตัว D หรือ Blizzard ที่เสิร์ฟด้วยการคว่ำถ้วย ที่สำคัญคุณภาพไอศกรีมแต่ละร้าน เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวกันทั่วโลก
แต่สำหรับแอดมินเอง สิ่งที่จำได้ติดตาของร้านนี้กลับไม่ใช่ไอติม แต่เป็น สาวแดรี่ควีน ที่ใส่เสื้อยืดสีแดงที่เป็นจุดเด่นเหมือนกันทุกร้าน..
----------------------
<ad> อะไรเพลินพอๆกับอ่านเพจลงทุนแมน? ขนมหนังไก่ทอดกร๊อบกรอบ ??? ตรา "กะต๊าก" กินแล้วหยุดไม่ได้ ฟินจนคำสุดท้าย สั่งซื้อติดต่อ inbox เพจกะต๊าก fb.com/katarksnacks
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.