Kobe Steel ญี่ปุ่นก็โกงเป็น

Kobe Steel ญี่ปุ่นก็โกงเป็น

18 ต.ค. 2017
Kobe Steel ญี่ปุ่นก็โกงเป็น / โดย ลงทุนแมน
“No Lie can Live Forever”
ไม่มีคำโกหกใด จะอยู่ได้ตลอดไป
เป็นคำกล่าวของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
ยังเป็นประโยคที่ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย
โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา บริษัท Kobe Steel ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ออกมาแถลงยอมรับว่าปลอมแปลงสเปคคุณภาพสินค้า และมีลูกค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศกว่า 200 บริษัท เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบบริษัททั่วโลก รวมถึงความเชื่อมั่นในสินค้าของญี่ปุ่นเองด้วย
Kobe Steel ทำธุรกิจอะไร บริษัทใหญ่แค่ไหน?
Kobe Steel ดำเนินธุรกิจผลิตโลหะและวัสดุอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง เป็นต้น เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้
บริษัทก่อตั้ง มาตั้งแต่ ก.ย. 1905 หรือมีอายุถึง 112 ปีแล้ว โดยตั้งอยู่ที่เมืองโกเบ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดเฮียวโงะ ถือเป็นเมืองท่า การค้า และอุตสาหกรรมที่สำคัญเมืองหนึ่งของประเทศ
ในอดีต นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นาย ชินโซะ อาเบะ ก็เคยทำงานที่ Kobe Steel ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วย
ปี 2014 มีรายได้ 17,697 ล้านดอลลาร์ กำไร 666 ล้านดอลลาร์
ปี 2015 มีรายได้ 15,419 ล้านดอลลาร์ กำไร 71 ล้านดอลลาร์
ปี 2016 มีรายได้ 15,520 ล้านดอลลาร์ ขาดทุน 407 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นบริษัทที่มีรายได้สูงเป็นอันดับ 578 ของโลก
มีการปลอมแปลงคุณภาพสินค้าอย่างไร?
เรื่องเริ่มต้นที่ Nissan Motor ได้ตรวจสอบความปลอดภัยและพบความผิดปกติบางอย่าง จึงได้เรียกรถกลับมาตรวจใหม่กว่า 1 ล้านคัน เมื่อต้นเดือน ต.ค. ซึ่งตอนแรก Nissan เองก็ยังไม่แน่ใจถึงต้นเหตุ จนสุดท้าย Kobe Steel ได้ออกมายอมรับผิดตามข่าว
Kobe Steel ได้ตรวจสอบคุณภาพสินค้า ที่ขายให้กับลูกค้า ตั้งแต่ ก.ย. 2016 - ส.ค. 2017 และพบว่ามี 4 โรงงานในเครือ ได้ปลอมแปลงค่าความแข็งแรง และความทนทานของอะลูมิเนียมแผ่น จำนวน 19,300 ตัน อะลูมิเนียมชนิดอัดขึ้นรูป 19,400 ยูนิต และทองแดง 2,200 ตัน ซึ่งคิดเป็น 4% ของยอดขายในกลุ่มนี้ โดยยอดขายอะลูมิเนียมและทองแดงนั้น คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้บริษัท
นอกจากนี้ มีการตรวจพบเพิ่มว่า อาจมีการปลอมแปลงข้อมูลผลิตภัณฑ์ผงเหล็กกล้า ที่นำไปผลิตรถยนต์หรือเครื่องจักร ให้ได้ตามเกณฑ์ลูกค้า มานานกว่า 10 ปี อีกด้วย
เหตุผลที่ทำไมโรงงานของ Kobe Steel จึงทำเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ การแข่งขันที่รุนแรงจากบริษัทต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ประกอบกับญี่ปุ่นอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมานาน ต้องควบคุมต้นทุน หน่วยงานของบริษัทจึงทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สูญเสียลูกค้า แม้การผลิตอาจทำได้ไม่เต็มที่เหมือนอดีต
การกระทำครั้งนี้ กระทบใครบ้าง?
ข่าวนี้สร้างความกังวลให้กับบริษัทกลุ่มขนส่งอย่างมาก เพราะเป็นลูกค้าของ Kobe Steel แทบทั้งนั้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังรีบตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าของตนเองกัน ได้แก่
1. กลุ่มรถยนต์ เช่น Toyota, Honda, Ford, Nissan, Suzuki, Mitsubishi, Subaru, General Motors บางสำนักก็บอกว่า Tesla ด้วย
2. กลุ่มการบิน เช่น Boeing, Mitsubishi Heavy Industries ต่างก็ใช้อะลูมิเนียมจาก Kobe Steel มาผลิตปีกและลำตัวเครื่อง รวมไปถึงกระจก นอกจากนี้ JAXA องค์กรสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นก็อาจใช้วัสดุจาก Kobe Steel เช่นกัน
3. กลุ่มรถไฟ โดยเฉพาะ JR Central เจ้าของรถไฟชินคันเซ็น ใช้อะลูมิเนียมจาก Kobe Steel มาผลิตรถไฟหัวกระสุน ล่าสุด JR Central ได้ให้ข่าวว่า พบชิ้นส่วนบางอย่างไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม แม้จะยังไม่เจอปัญหาด้านความปลอดภัยก็ตาม
4. กลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ ตั้งแต่เครื่องบิน รถถัง และขีปนาวุธ เช่น Mitsubishi Heavy Industries, Kawasaki Heavy Industries ที่ผลิตให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น
ซึ่งมันอาจสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และประเทศญี่ปุ่น มหาศาลเลยทีเดียว เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพสินค้าที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับเจ้าอื่นที่ทำแค่ถึงเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทสามารถคิดราคาสินค้าได้แพงกว่าตลาด เมื่อเกิดอย่างนี้แล้ว ลูกค้าย่อมไม่มั่นใจที่จะซื้อ หรืออย่างน้อยต้องต่อรองราคาลงมา ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ปีที่แล้วโตเพียง 1% จะยิ่งชะลอลงไปอีก
อนาคตของ Kobe Steel จะเป็นอย่างไร?
บทเรียนจากบริษัท Takata ที่ผลิตถุงลมนิรภัยในรถยนต์ ไม่ได้มาตรฐาน ทำงานผิดพลาด และเกิดระเบิด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 17 รายทั่วโลก ทำให้มีการเรียกถุงลมนิรภัยคืนมากสุดในประวัติศาสตร์ กว่า 100 ล้านชิ้น จนบริษัทยอมจ่ายค่าปรับ 1,000 ล้านดอลลาร์ และชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนกว่า 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์ ในอนาคต สุดท้ายบริษัทก็มีหนี้สินสูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ และขอยืนล้มละลายในที่สุดเมื่อ มิ.ย. 2017
ตอนนี้ Kobe Steel มีแผนที่จะชดเชยให้ลูกค้า แต่ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดเรียกร้องเข้ามา ซึ่งนักวิเคราะห์อย่าง JP Morgan ได้ประมาณมูลค่าความเสียหายในกรณีนี้ 90-130 ล้านดอลลาร์ โดย Kobe Steel มีทรัพย์สินราว 20,600 ล้านดอลลาร์ เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นราว 6,000 ล้านดอลลาร์
ดูเพียงตัวเงินอาจจะยังไม่รุนแรงมาก เนื่องจากข้อมูลเบื้องต้น สินค้าที่มีปัญหาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายได้บริษัท แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ ขึ้นอยู่กับ การชี้แจง และการพิสูจน์ว่า แม้คุณภาพไม่สูงเท่าสัญญา แต่ยังสูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำหรือไม่ ไม่มีผลร้ายแรงต่อผู้บริโภคใช่หรือไม่ หากตอบไม่ได้ อนาคตอาจไม่ต่างจาก Takata ก็เป็นได้
ที่แน่ๆตอนนี้ราคาหุ้น Kobe Steel ได้ตอบสนองข่าวไปพอสมควร
6 ต.ค. 60 ราคาปิดไปที่ 1,368 เยนต่อหุ้น
8 ต.ค. 60 บริษัทออกมาแถลงข่าว
9 ต.ค. 60 หนึ่งวันหลังแถลงข่าว ราคาปิดไปที่ 1,068 เยนต่อหุ้น (-22%)
16 ต.ค. 60 หนึ่งสัปดาห์หลังแถลงข่าว ราคาปิดไปที่ 827 เยนต่อหุ้น (-40%)
แต่ถ้าเหตุการณ์บานปลายกว่านี้ เราอาจจะยังไม่ได้เห็นราคาต่ำที่สุดก็เป็นได้
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การทำธุรกิจให้ยั่งยืนต้องมีความซื่อสัตย์
ไม่ว่าบริษัทจะยิ่งใหญ่แค่ไหน คิดมุ่งหวังแต่กำไร โดยใช้คำโกหกบังหน้า
ถึงจะได้ผลในช่วงแรก แต่คำโกหกจะสะสมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายสิ่งที่รออยู่เบื้องหลัง ก็คือ ภูเขามหึมาที่ปิดไว้ไม่อยู่..
No Lie can Live Forever
----------------------
<ad> ถ้าเรามีบ้าน หรือ คอนโด ที่ผ่อนกับธนาคารอยู่ แต่อยากลดดอกเบี้ย หรือ ยืดเวลาผ่อน มารีไฟแนนซ์ กับ REFINN ฟรีได้ที่ https://goo.gl/2KgGWa
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.