ฝันสลาย GL

ฝันสลาย GL

16 ต.ค. 2017
ฝันสลาย GL / โดย เพจลงทุนแมน
ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ผู้บริหาร GL
กรณีทุจริต ทำบัญชีไม่ถูกต้อง
โดยทำธุรกรรมอำพราง เพื่อให้ผลประกอบการสูงเกินความจริง
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
ทำไมหลัก common sense ยังใช้ได้เสมอกับการลงทุน
เราสามารถนำเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อป้องกันการโดนหลอกในอนาคตได้
-------------------------------
บทความลงทุนแมน เรื่อง สรุปหุ้น GL วันที่ 13 มี.ค.60
ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะไม่ดี แต่กลับมีบริษัทหนึ่งในตลาดหุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หมายความว่าถ้าลงทุนบริษัทนี้เริ่มที่ 1 ล้านบาท 2 ปีผ่านไปจะมีเงิน 10 ล้านบาท บริษัทนี้ชื่อ กรุ๊ปลีส หรือ GL บริษัทนี้เขาทำธุรกิจอะไรทำไมราคาหุ้นถึงเพิ่มขึ้นมาก
แต่เดิมบริษัท GL เป็นบริษัทปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย เพื่อกู้เงินซื้อมอเตอร์ไซค์ ต่อมาบริษัทขยายสาขาไปประเทศกัมพูชา ทำให้กำไรเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนคาดหวังว่ากำไรในอนาคตจะมากกว่านี้อีกหลายเท่าจากการขยายไปประเทศอื่นๆ จนทำให้จากบริษัทลีซซิ่งเล็กๆที่มีมูลค่าหลักพันล้านบาท ขึ้นไปมีมูลค่าแตะถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่ก่อตั้งมาหลายสิบปีบางแห่งเสียอีก
แล้ววันที่ร้ายๆของหุ้นตัวนี้ก็มาถึง คนทั่วไปลืมคิดว่าบริษัทลีซซิ่งนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดเรื่องราวแปลกๆต่อมาว่ากำไรที่บริษัทได้มานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยกู้ให้อีกบริษัทหนึ่ง โดยที่บริษัทนั้นมีผู้ถือหุ้นเดียวกันกับบริษัท GL
ที่แปลกไปกว่านั้นคือบริษัทนั้นตั้งอยู่ที่ประเทศไซปรัส และมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคือ อสังหาริมทรัพย์ที่ประเทศไซปรัส และ บราซิล แค่ 60% ของมูลค่าหนี้ ส่วนที่เหลือคือเอาหุ้น GL เองไปค้ำประกัน!
ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ที่ 17% ต่อปี จึงไม่แปลกเลยทำไมบริษัทถึงแสดงกำไรที่มากมายได้ขนาดนั้น แต่ที่น่าสนใจคือบริษัทบอกว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทที่กู้ จึงให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปได้ ข้อน่าสงสัยคือบริษัทที่กู้ทำธุรกิจได้อย่างไร ถ้าต้นทุนการเงินเขามากถึง 17% ต่อปี
เรื่องนี้ทำให้ราคาหุ้น GL ตกลงมาถึง 50% ใน 1 สัปดาห์ และราคา floor 2 วันติด หลังจากที่มีข้อมูลของผู้ตรวจสอบบัญชีออกมา และน่าติดตามว่าผู้กำกับดูแล ทั้ง กลต ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร หรือ ต้องปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยต้องค้นหาความจริงกันเอาเอง
-------------------------------
บทความลงทุนแมน เรื่อง ข้อคิดที่ได้หลังจากฟัง GL แถลงข่าว วันที่ 13 มี.ค.60
บริษัทพยายามอธิบายว่าให้เงินกู้กับลูกค้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดี โดยลูกค้าก็มีสินทรัพย์มาค้ำประกันเงินกู้คือ อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไซปรัส และบราซิล แต่ข้อสังเกตของผมมีอยู่อย่างเดียวที่เป็น common sense ง่ายๆ คือ
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ GL ให้กู้คือ 17%
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขนาดนี้ถ้าเป็นสำหรับรายย่อย บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล รถแลกเงิน ยังพอรับฟังได้ เพราะขนาดของสินเชื่อส่วนใหญ่จะอยู่ในหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ในชีวิตประจำวันของคน และ รายย่อยไม่มีทางเลือกมากนัก
แต่สำหรับผู้กู้ของ GL เป็นรายใหญ่ที่มีการกู้ระดับร้อยล้านถึงพันล้านบาท แต่ยอมจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงนั้นไม่ make sense เพราะ
– รายใหญ่มีทางเลือกที่จะกู้คนอื่นที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า เช่นถ้าเขามีอสังหาริมทรัพย์ เขาแค่เอาไปจำนองกับธนาคาร ดอกเบี้ยจะต่ำกว่านี้มาก ไม่จำเป็นต้องมากู้ GL
– ขนาดของสินเชื่อใหญ่เกินไป และ เราไม่รู้ว่าผู้กู้จะเอาเงินไปทำธุรกิจที่ได้กระแสเงินสดเข้ามามากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายหรือไม่ ถ้าธุรกิจนั้นกำไรดีจริงถึงหลักพันล้านบาท เขาสามารถนำไปอ้างอิงเพื่อกู้ธนาคารได้ หรือ ระดมทุน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ยังได้เลย ไม่จำเป็นต้องกู้ GL
ดังนั้นดูจากข้อเท็จจริงแล้ว ธุรกรรมนี้น่าจะผิดธรรมชาติ เท่าที่คิดได้เหตุผลเดียวที่จะดู make sense คือ GL และ ผู้กู้เป็นคนเดียวกัน หรือมีเงื่อนไขพิเศษซ่อนอยู่ในการกู้
---------------------------------
7 เดือนผ่านไป..
---------------------------------
ข่าว ก.ล.ต. ฉบับ ที่ 95 / 2560 วันที่ 16 ต.ค.60
ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (GL) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
กรณีทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท และทำบัญชีไม่ถูกต้อง โดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศหลายแห่ง
เพื่อให้ผลประกอบการของ GL สูงเกินความจริง
สืบเนื่องจากในงบการเงินงวดปี 2559 ของ GL ที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกรรมการให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้ในต่างประเทศ
ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการของ GL เพิ่มสูงขึ้น ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายมิทซึจิให้บริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิ้งส์ จำกัด (GLH)
ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GL ที่ประเทศสิงคโปร์ ปล่อยกู้แก่บริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง
โดยพบหลักฐานว่า GLH ให้กู้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส 4 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง เป็นเงินให้กู้รวมประมาณ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ
และมีนายมิทซึจิ เป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง โดยเมื่อบริษัททั้ง 5 แห่งได้รับเงินกู้จาก GLH ไปแล้ว ได้นำไปหมุนเวียนในกลุ่มบริษัทผู้กู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ GLH เป็นงวด ๆ
ซึ่งยอดดอกเบี้ยถูกนำไปรวมเป็นรายได้ในงบการเงิน อันเป็นการแต่งบัญชีและสร้างผลประกอบการของ GL ให้สูงเกินจริง
การกระทำของนายมิทซึจิข้างต้นเป็นการทำธุรกรรมอำพราง การยักยอก ยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง
รวมถึงบอกกล่าว เผยแพร่ ข้อความเท็จ ส่งผลกระทบต่อราคาหรือการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ตลอดจนขัดแย้งกับข้อมูลที่ GL ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 13 มีนาคม 2560
และการแถลงข่าวของนายมิทซึจิ ในวันที่ 14 มีนาคม 2560 ที่ยืนยันว่า บริษัทผู้กู้ในต่างประเทศไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตนเอง จึงเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต
ตามมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 และ มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาทรัพย์สิน
หรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรานั้น ๆ แล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าว ต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 240 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559
ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนายมิทซึจิ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การถูกกล่าวโทษทำให้นายมิตซึจิเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต.* จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณี GL ข้างต้น
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์ และอาจเป็นการยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นความผิดมูลฐานแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก.ล.ต. จึงแจ้งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ
การดำเนินคดีนี้ ก.ล.ต. ได้รับความช่วยเหลือจาก Cyprus Securities and Exchange Commission ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเอาผิดข้างต้น
---------------------------------
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..
เมื่อเราลงทุน ให้มองลึกไปถึงธุรกิจบริษัท
ถ้าบริษัทมีที่มาของรายได้ผิดธรรมชาติ
ภายใต้สามัญสำนึกของเรา ควรยับยั้บตัวเองไม่ลงทุน
แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ ยับยั้งตัวเองไม่ได้
เมื่อเห็นผลตอบแทนที่น่าดึงดูด ก็ขอลองเสี่ยงสักหน่อย
สุดท้ายโทษใครไม่ได้
ต้องโทษความโลภตัวเอง..
----------------------
<ad> กด add LINE เพจลงทุนแมน ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40longtunmanหรือ LINE ID: @LONGTUNMAN
----------------------
Tag: GL
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.