รู้จัก “ลูซี เผิง” หญิงสาวผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba

รู้จัก “ลูซี เผิง” หญิงสาวผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba

17 พ.ย. 2020
รู้จัก “ลูซี เผิง” หญิงสาวผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงผู้ก่อตั้ง Alibaba บริษัท E-commerce ยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน
คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงชื่อ “แจ็ก หม่า” เป็นคนแรก
แต่รู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้ว Alibaba ยังมีผู้ร่วมก่อตั้งอยู่อีก 17 คน
ซึ่งหนึ่งในคนสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Alibaba รวมทั้งบริษัทในเครืออย่าง Ant Group
คือ ผู้หญิงที่ชื่อว่า “ลูซี เผิง”
เรื่องราวของเธอคนนี้น่าสนใจอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ลูซี เผิง (Lucy Peng) เป็นนักธุรกิจหญิงชาวจีน เธอเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1972 ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 48 ปี
เธอจบการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ และทำงานเป็นอาจารย์สอนภาควิชาเศรษฐศาสตร์และการเงิน ที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เป็นเวลา 5 ปี
หลังจากนั้น เธอลาออกมาแต่งงานกับสามี ซึ่งเคยทำงานร่วมกับ แจ็ก หม่า ที่ China Yellow Pages เว็บไซต์สมุดหน้าเหลือง ซึ่งเป็นที่รวบรวมข้อมูลสถานที่ตั้งและช่องทางการติดต่อของบริษัทต่างๆ ในประเทศจีน
ด้วยการที่สามีของเธอ มีความใกล้ชิดกับ แจ็ก หม่า จึงทำให้ทั้งคู่มีโอกาสได้ฟังแนวคิดเกี่ยวกับการเริ่มทำธุรกิจ E-commerce ในประเทศจีนของ แจ็ก หม่า ทั้งคู่เลยตัดสินใจเป็นผู้ร่วมลงทุนเพื่อก่อตั้ง Alibaba ในปี 1999
กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba มีอยู่ทั้งหมด 18 คน โดยเป็นผู้หญิงถึง 6 คน และ ลูซี เผิง ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ถึงแม้ ลูซี เผิง ไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเท่ากับคนอื่น
แต่ประสบการณ์จากอาชีพอาจารย์ ทำให้เธอมีจุดเด่นในด้านการบริหารบุคลากรให้สามารถทำงานต่างๆ ให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงทำให้ ลูซี เผิง ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านทรัพยากรบุคคล หรือ HR ของบริษัท Alibaba
เธออยู่ในตำแหน่งนี้นานถึง 10 ปี ดูแลพนักงานมากกว่า 35,000 คน
และมีผลงานที่โดดเด่น คือ การวางโครงสร้างองค์กรให้แต่ละหน่วยงานมีผู้บริหาร 2 บทบาท
โดยคนหนึ่ง ดูแลด้าน Hard Side ขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของธุรกิจ
ส่วนอีกคนหนึ่ง ดูแลด้าน Soft Side สร้างสภาพแวดล้อมและแรงจูงใจ และ Soft Skills ในการทำงานให้กับพนักงาน

การพัฒนาองค์กรควบคู่กันไปทั้งสองด้าน ช่วยให้ Alibaba เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ทำให้ผู้บริหารและพนักงาน ต่างยอมรับในตัวของ ลูซี เผิง เป็นอย่างมาก
และต่อมา เธอก็ได้โอกาสแสดงฝีมือในการบริหารธุรกิจบ้าง
เมื่อแพลตฟอร์ม E-commerce ของ Alibaba มีผู้ใช้งานมากขึ้น
บริษัทจึงต้องการมีระบบชำระเงิน เพื่อรองรับการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์
ทำให้บริการ Alipay ถือกำเนิดขึ้น เมื่อปี 2004
และในปี 2010 คณะกรรมการของ Alibaba ได้แต่งตั้ง ลูซี เผิง เป็น CEO ของ Alipay
ซึ่งในเวลาต่อมา เธอได้นำ Alipay แยกตัวออกมาตั้งเป็นบริษัทแห่งใหม่ ชื่อว่า Ant Financial Services Group หรือชื่อในปัจจุบันคือ “Ant Group” นั่นเอง
โดยปัจจุบัน แพลตฟอร์มชำระเงิน Alipay มีผู้ใช้งานสูงถึง 1,000 ล้านบัญชี
และนอกเหนือจาก Alipay แล้ว บริษัท Ant Group ยังให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ธนาคารออนไลน์, สินเชื่อรายบุคคล, บริการเกี่ยวกับการลงทุน
ล่าสุด Ant Group ถูกประเมินมูลค่าบริษัทไว้สูงถึง 9.9 ล้านล้านบาท และกำลังดำเนินการ IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่าระดมทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท (แต่ล่าสุด หน่วยงานกำกับดูแลของจีน มีคำสั่งให้ระงับการจดทะเบียนไว้ก่อน)
ทั้งนี้ ลูซี เผิง ออกจากตำแหน่งประธานบริษัท Ant Group เมื่อปี 2018 เนื่องจากเธอต้องการโฟกัสกับงานของอีกบริษัท นั่นก็คือ “Lazada”
Alibaba ได้มองหาโอกาสทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ และเลือกลงทุนใน Lazada โดยทยอยซื้อหุ้นมาตั้งแต่ปี 2016 จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
ซึ่งทาง Alibaba ก็ได้แต่งตั้งให้ ลูซี เผิง เข้ามาเป็น CEO ของ Lazada เมื่อปี 2018 ก่อนที่ต่อมาจะก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัทแทน
โดยเธอได้พา Lazada ครองตลาดแพลตฟอร์ม E-commerce ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีจำนวนผู้ซื้อสินค้าเป็นประจำ (Active Buyers) สูงถึง 50 ล้านบัญชีต่อปี
ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินล่าสุดโดย Forbes
ลูซี เผิง มีทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท
ถือเป็นบุคคลร่ำรวยอันดับที่ 108 ของประเทศจีน
นอกจากนั้น เธอยังถือหุ้นของบริษัท Ant Group อยู่ในสัดส่วน 1.7%
ซึ่งหากบริษัทสามารถจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ หุ้นของเธออาจมีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท เลยทีเดียว
และด้วยผลงานที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ Alibaba รวมไปถึง Ant Group
ทำให้เมื่อปี 2016 นั้น Forbes ได้จัดอันดับให้เธอเป็นผู้หญิงทรงอิทธิพลอันดับที่ 35 ของโลก และอันดับที่ 17 ของทวีปเอเชีย
จากเรื่องราวนี้ เราจะเห็นได้ว่า
ที่ผ่านมาหลายคนอาจคุ้นเคยกับ แจ็ก หม่า ซึ่งเป็นเหมือนหน้าตาของ Alibaba
แต่ส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ผู้ร่วมก่อตั้งและทีมงานต่างๆ ที่คอยสนับสนุน แจ็ก หม่า ด้วยทักษะที่แต่ละคนถนัดแตกต่างกันออกไป
เหมือนที่ ลูซี เผิง ได้วางรากฐานในด้านทรัพยากรบุคคลเอาไว้
รวมถึงบริหารธุรกิจในเครือ อย่าง Ant Group และ Lazada
ซึ่งช่วยส่งเสริมอาณาจักรของ Alibaba ให้ครองความยิ่งใหญ่จนถึงทุกวันนี้..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.