สรุป กาตาลัน

สรุป กาตาลัน

6 ต.ค. 2017
ช่วงนี้ข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจคือ สเปน
แคว้นกาตาลูญญาต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจาก สเปน
กาตาลูญญา คือพื้นที่ไหนของสเปน
แล้วทำไม เขาถึงอยากแยกตัวออกมา?
ก่อนอื่นเราต้องมองก่อนว่า ประเทศสเปนประกอบไปด้วยแคว้นปกครองตนเอง 17 แคว้น กับอีก 2 เมือง โดยในแต่ละแคว้นก็จะมีเมืองหลวง รัฐบาล และประธานาธิบดีเป็นของตัวเอง โดยมีพระมหากษัตริย์และรัฐบาลกลางของสเปนคอยกำกับดูแลอีกที
กาตาลูญญาก็คือแคว้นนึงทางตะวันออกในสเปนมีชายแดนติดกับฝรั่งเศส ประกอบไปด้วย 4 เมือง ได้แก่ เยย์ดา (Lleida), ตาร์ราโกนา (Tarragona), คิโรนา (Girona), และ บาร์เซโลนา (Barcelona) เป็นเมืองหลวงของแคว้น และเป็นเมืองที่คนไทยหลายคนรู้จักจากสโมสรฟุตบอล บาร์เซโลนา
คนในแคว้นกาตาลูญญา จะถูกเรียกว่า กาตาลัน มีภาษาท้องถิ่นคือ ภาษากาตาลัน (ซึ่งไม่ใช่ภาษาสเปน) มีพื้นที่ 32,108 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 6.3% ของสเปน มีประชากร 7.5 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากแคว้น อันดาลูเซีย (Andalusia) และคิดเป็น 16% ของประเทศ
แม้ว่าจะมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก (ประมาณ 1.5 เท่าของ โคราช) แต่จัดได้ว่าเป็นแคว้นที่ ร่ำรวยที่สุดแคว้นหนึ่งของประเทศ
สเปนก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ คือไม่ได้เกิดมาก็กลายเป็นสเปนเลย แต่เกิดจากการรวมกันของอาณาจักร Aragon (ที่แคว้นกาตาลูญญาอยู่) กับ Castilla (พื้นที่ส่วนใหญ่ของสเปนในปัจจุบัน) ซึ่งก็คงเรียกได้ว่า ไม่ได้ชอบกันเท่าไหร่
จริงๆ เขาก็ต้องการจะแยกออกมานานแล้ว และก็มีการพยายามที่เป็นรูปเป็นร่างอยู่หลายครั้งในอดีต ถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง แต่ก็ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ แถมยังเคยถูกบังคับให้ลดความเป็นกาตาลันลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน ชื่อถนนและสถานที่ต่างๆ ให้เป็นภาษาสเปน รวมถึงถูกจำกัดการใช้ภาษาท้องถิ่น
สถิติที่น่าสนใจ คือ GDP เฉพาะของแคว้นกาตาลูญญานั้นอยู่ที่ 215,600 ล้านยูโร หรือราว 8.4 ล้านล้านบาท (ของไทยอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท) ประชากร 7.5 ล้านคน แต่มี GDP ขนาดนี้ถือว่าไม่ธรรมดา
ชาวกาตาลันมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) ที่ 1,124,570 บาทต่อปี (ของไทยอยู่ที่ 194,964 บาทต่อปี) อยู่ประมาณอันดับที่ 4 จากแคว้นทั้งหมด
ที่น่าสนใจคือ กาตาลูญญามีประชากร 16% ของประเทศ แต่มี GDP คิดเป็น 20% ส่งออกคิดเป็น 25% และเงินลงทุนจากต่างชาติคิดเป็น 25% ของสเปนทั้งประเทศ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงว่าแคว้นนี้มีรายได้สูงกว่าแคว้นอื่น และต้นตอของปัญหาเรื่องนี้ ก็คือ “ความอยากทำให้เท่าเทียมกันของรัฐบาลสเปน”
เมื่อรัฐบาลมีการโฆษณานโยบายความเท่าเทียมกันของทุกแคว้น คือแคว้นไหนมีอะไร แคว้นอื่นๆ ก็จะต้องได้ด้วย
รัฐบาลสเปนเก็บค่าเล่าเรียน ภาษี และบริการสาธารณะต่างๆ เช่น ค่าผ่านทางถนนหลวงในแคว้นกาตาลูญญาแพงขึ้น แต่ดันไม่เก็บค่าผ่านทางถนนบางเส้นในแคว้นอื่น รวมถึงไปสร้างสนามบินใหญ่โต สร้างรถไฟความเร็วสูงเข้าไปในเมืองเล็กๆ กลางทุ่ง ที่สุดท้ายกลายเป็นว่าไม่มีคนใช้
ซึ่งชาวกาตาลันก็รู้สึกว่า ทำงานหนักหาเงินมา เพื่อให้รัฐบาลสเปนเอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ได้ประโยชน์น้อยและไม่ได้ร่วมกัน โดยไปเอื้อประโยชน์ให้กับแคว้นอื่นจากการเอาเปรียบแคว้นของตน
ทีนี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลกาตาลูญญาจัดให้มีการลงประชามติ เพื่อแยกตัวเป็นเอกราช และแน่นอนว่าผิดกฎหมายของสเปน (แต่ไม่ผิดกฎหมายท้องถิ่น เพราะรัฐบาลกาตาลูญญาออกกฎหมายรับรองเองเสร็จเรียบร้อย) ทำให้ทางสเปนส่งตำรวจมาขัดขวาง จนเกิดเป็นเหตุการณ์ชุลมุนอย่างที่เราได้เห็นกันในข่าว
ทางสเปนเองก็คงไม่ปล่อยให้กาตาลูญญาแยกประเทศง่ายๆ โดยกษัตริย์สเปนก็ออกมาสนับสนุนรัฐบาลสเปน และกล่าวว่าการกระทำของกาตาลันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
ถ้าสเปนเสียแคว้นกาตาลูญญาไป ก็คงได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะแคว้นนี้มี GDP 1 ใน 5 ของประเทศ และประเทศสเปนเองก็ยังกระท่อนกระแท่นจากวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ยังไม่ฟื้นไข้ดี
นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว สำหรับแฟนๆ ฟุตบอลหลายคน ก็คงต้องคอยลุ้นว่ายังจะมีแมตช์ El Clasico (เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า) ให้ดูอีกหรือไม่ หรือบาร์เซโลน่าจะต้องไปร่วมแจมกับลีคฟุตบอลประเทศอื่น เพราะถ้าตั้งลีคขึ้นมาเอง ก็ไม่รู้ว่าจะมีนักเตะระดับโลกไว้เตะกับใคร (ทีมใหญ่หน่อยมีแต่ เอสปันญอล)
จากเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีกับประเทศไทย แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่ง
ในท่ามกลางที่มีแต่คนคิดว่าจะแบ่งจัดสรรงบประมาณไปให้ชนบทเพื่อให้เขามีรายได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน คนที่รวยกว่าก็เห็นว่า รายได้ของเขาควรจะเสียภาษีเท่าๆกับคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นมาเอาเปรียบ
เรื่องนี้คงต้องสรุปว่า บางทีการกระทำของเราควรคิดให้รอบด้าน บางอย่างที่คิดว่าดีแล้ว แต่ก็ไปกระทบกับอีกฝ่ายได้
เช่นในกรณีนี้ เจตนาที่จะทำให้เท่าเทียมกัน แต่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่เท่าเทียม..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.