มาม่า ยำยำ ไวไว ใครขายดีสุด?

มาม่า ยำยำ ไวไว ใครขายดีสุด?

4 ต.ค. 2017
ทุกคนเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า มาม่า
แต่รู้ไหมว่า มาม่า ไม่ได้เป็นเจ้าแรก
แต่เป็น ยำยำ ที่มาก่อน
แล้ว ไวไว ก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน
สุดท้ายนับตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยก็ถูกครองตลาดด้วย 3 ยี่ห้อนี้
แล้ว มาม่า ยำยำ ไวไว ใครขายดีสุด?
ในปี 2559 สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) เปิดเผยว่าคนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จอยู่ลำดับที่ 9 ของโลก โดยในแต่ละวัน คนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยคนละ 45-50 ซองต่อคนต่อปี
พูดให้เห็นภาพ คือโดยเฉลี่ยแล้ว คนไทย กินมาม่า สัปดาห์ละครั้ง..
วันนี้เราไปทำความรู้จักกันว่า ใครเป็นใครในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมีผู้เล่นรายใหญ่ 3 รายด้วยกันคือ มาม่า ยำยำ และ ไวไว
มาม่า ผลิตโดย บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) จำหน่ายโดย บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 มาม่าจะเป็นแบรนด์ที่แมส คือมีกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่ก็พยายามที่จะใช้แต่ละรสชาติเข้ามาเจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะใน 2 รสชาติ ที่เป็นรสชาติหลักของตลาดคือ ต้มยำกุ้ง และ รสหมูสับ
ทั้งผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายของมาม่า เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ชื่อย่อว่า TF สหพัฒนพิบูล ชื่อย่อว่า SPC ใครอยากเป็นเจ้าของมาม่าทางอ้อม ก็ไปซื้อ 2 บริษัทนี้ได้ (ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้น การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน)
แต่คงมีไม่กี่คนที่รู้ว่า
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายแรกในประเทศไทยคือ ยี่ห้อ ซันวา ที่ต้องต้มก่อนกิน
แต่ต่อมา ยำยำ ได้นำเสนอในรูปแบบที่เติมน้ำร้อนแล้วทานได้ทันทีเป็นเจ้าแรก โดยเริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 (ก่อนมาม่า 1 ปี) ผลิตและจัดจำหน่ายโดย บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ยำยำพยายามฉีกแนว โดยใช้ตัว “ยำยำ จัมโบ้” ที่มีปริมาณมากกว่าเป็นตัวชูโรง และยังเพิ่ม segment ไปยังกลุ่มเด็ก คือ ยำยำ ช้างน้อย ทำให้ยำยำช้างน้อยเป็นผู้นำในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำหรับเด็ก
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ไวไว ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2515 ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ปัจจุบันไวไวจะมี แบรนด์ “ควิก” ที่เล่นกับไลฟ์สไตล์ของวัยุร่นโดยตรง โดยใช้ในเรื่องของรูปแบบการทำที่ไม่ต้องต้มเพียงแค่ชง และใช้รสชาติจัดจ้านที่ฉีกออกไปจากรสต้มยำกุ้งของมาม่าเป็นตัวชูโรง
ความเห็นส่วนตัวลงทุนแมนชอบทาน ไวไว แบบแห้ง รสดั้งเดิม ที่ด้านหลังซองมีรูปเด็กใส่ชุดสีแดง (ไม่รู้ว่าเด็กตอนนี้โตไปถึงไหนแล้ว)
ในปี 2559 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
มาม่าครองส่วนแบ่งตลาด 51%
ไวไว ครองส่วนแบ่งตลาด 21%
และ ยำยำครองส่วนแบ่งตลาด 20% ส่วนที่เหลือเป็นผู้เล่นรายย่อยอีกประมาณ 8%
จะเห็นว่า ยำยำนั้นเกิดก่อน 2 เจ้าแรก แต่ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาด อยู่ลำดับที่ 3
มาดูผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรของทั้ง 3 บริษัท
บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) (มาม่า)
ปี 2557 รายได้ 12,145 ล้านบาท กำไร 1,675 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 12,155 ล้านบาท กำไร 1,911 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 13,153 ล้านบาท กำไร 2,167 ล้านบาท
บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด (ไวไว)
ปี 2557 รายได้ 6,192 ล้านบาท กำไร 170 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 6,085 ล้านบาท กำไร 183 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 6,319 ล้านบาท กำไร 228 ล้านบาท
บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด (ยำยำ)
ปี 2557 รายได้ 4,669 ล้านบาท กำไร 465 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 4,898 ล้านบาท กำไร 570 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 5,038 ล้านบาท กำไร 678 ล้านบาท
จาก 3 รายจะพบว่าอัตราการทำกำไรของ มาม่าจะอยู่ที่ประมาณ 14-17% ในขณะที่ยำยำแม้ส่วนแบ่งทางการตลาดจะอยู่ลำดับที่ 3 แต่กลับมีอัตราการทำกำไรอยู่ที่ 10-13% สูงกว่าไวไวที่มีส่วนแบ่งทางการลำดับที่ 2 ซึ่งมีอัตราการทำกำไรอยู่ที่ 2-3%
อดีตเคยมีความเชื่อกันว่า ดัชนีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (รู้จักกันในนาม ดัชนีมาม่า) สามารถบ่งบอกภาวะเศรษฐกิจว่าอยู่ในสถานะใด เช่น เวลาเศรษฐกิจไม่ดี คนจะหันไปบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำให้ยอดขายเพิ่ม
และ ตอนนี้ลงทุนแมนคิดว่าดัชนีมาม่าน่าจะกลับมาเริ่มทำงานอีกครั้ง แต่ไม่ได้เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดีนะ แค่ลงทุนแมนหิว อยากกินมาม่า..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.