การเปลี่ยนถ่ายจาก รถเครื่องยนต์สันดาป สู่ EV Car ในประเทศไทย

การเปลี่ยนถ่ายจาก รถเครื่องยนต์สันดาป สู่ EV Car ในประเทศไทย

MG X ลงทุนแมน
การเปลี่ยนถ่ายจาก รถเครื่องยนต์สันดาป สู่ EV Car ในประเทศไทย
รถยนต์คันแรกที่วิ่งบนถนนเมืองไทยเกิดขึ้นปี พ.ศ. 2447
หรือเมื่อ 116 ปีที่แล้ว ซึ่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นคนนำเข้ามาจากยุโรป
แต่เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่ายังใช้งานยาก ก็ทรงสั่งให้บริษัทเยอรมันประกอบรถยนต์ยี่ห้อ เมอร์เซเดส เป็นรถยนต์พระที่นั่งที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
เมื่อเวลาผ่านไปในประเทศไทยก็มีแบรนด์รถยนต์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งแบรนด์ญี่ปุ่นและยุโรปพร้อมกับมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย
จนปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 11 ของโลก
แล้วเคยสังเกตกันไหมว่าจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วมาถึงวันนี้
สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปไหนก็คือ รถยนต์บนท้องถนนส่วนใหญ่ยังเป็นเครื่องยนต์สันดาป
ที่ต้องพึ่งพาน้ำมันซึ่งก่อให้เกิดทั้งมลภาวะทางอากาศ และมลภาวะทางเสียง
ทั้งๆ ที่เวลานี้ค่ายรถทั่วโลกได้สร้างเทคโนโลยียานยนต์ไร้ควันพิษ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
แล้วทำไม รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป จึงยังวิ่งอยู่เต็มท้องถนนเมืองไทย
ลงทุนแมนจะลองวิเคราะห์ให้ฟัง
เหตุผลที่รถเครื่องยนต์สันดาป ได้รับความนิยมสูงสุดในบ้านเรา
นอกจากทุกค่ายผู้ผลิตจะมีรถหลายรุ่นให้เลือกซื้อตามใจชอบ แล้วนั้น
อีกข้อที่สำคัญก็คือด้วยราคาขายเข้าถึงง่าย ก็เลยเป็นตลาดที่ซื้อง่ายขายคล่องไม่ว่าจะเป็นรถมือหนึ่งหรือมือสอง
แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือ นอกจากสิ่งแวดล้อมจะติดลบจากควันพิษ เราเองก็ต้องจ่ายค่าน้ำมันในแต่ละเดือน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วรถเครื่องยนต์สันดาปเมื่อใช้น้ำมัน 1 ลิตรจะวิ่งได้ 10-15 กิโลเมตร
สุดท้ายก็คือค่าซ่อมบำรุงที่ดูวุ่นวายเพราะ ต้องมีการเช็คและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ
จนในเวลาต่อมาก็มีเทคโนโลยีรถยนต์ไฮบริด HEV ที่เป็นการนำแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า
เข้ามาช่วยให้รถ มีกำลังมากขึ้นกว่าเดิม และประหยัดน้ำมันมากขึ้น
โดยวิธีการทำงานของรถยนต์ไฮบริด มีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบส่งกำลัง ทั้งแบบที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามาช่วยในระยะออกตัวเพื่อให้ออกตัวเร็วขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น หรือจะเป็นการนำพลังงานไฟฟ้ามาช่วยเครื่องยนต์ตลอดเวลา เพื่อช่วยเพิ่มกำลังให้ดียิ่งขึ้น
และอีกหนึ่งทางเลือกที่เพิ่งมีการแนะนำสู่ตลาดก็คือ การทำงานแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อเพียงอย่างเดียว แต่กำลังทั้งหมดมาจากเครื่องยนต์ "ที่ทำหน้าที่ในการปั่นไฟ" เพื่อให้รถยนต์สามารถใช้ข้อดีของมอเตอร์ไฟฟ้านั่นคือ การออกตัวที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอรอบเครื่องยนต์
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบใด ระบบไฮบริดก็ยังคงต้องมีการเติมน้ำมันให้กับเครื่องยนต์ และยังคงมีไอเสียเหมือนเครื่องยนต์สันดาป
และสิ่งที่ทำให้รถยนต์ไฮบริด ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ก็คือราคาขายที่แพงกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป และยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์อยู่ดี
ระบบที่พัฒนาต่อมาคือ ปลั๊กอินไฮบริด หรือ ระบบที่เพิ่มให้แบตเตอรี่สามารถชาร์จพลังงานจากภายนอกได้ ซึ่งจากที่เพิ่มระบบการชาร์จเข้ามานี้ จะช่วยให้รถยนต์มีกำลังมากขึ้นกว่าเดิม วิ่งด้วยระบบไฟฟ้าในช่วงความเร็วต่ำได้ไกลขึ้น และประหยัดน้ำมันมากยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น พลังงานหลักก็ยังคงเป็นน้ำมัน ในขณะที่ไฟฟ้าเป็นส่วนเสริมเพิ่มเติมเข้ามา
เนื่องจากทั้ง 3 ระบบที่ผ่านมา สามารถแก้ไขในเรื่องของการประหยัดน้ำมัน และกำลังที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีการสร้างควันพิษที่มีจากเครื่องยนต์สันดาป จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 ได้
เรื่องนี้จึงทำให้บางค่ายรถยนต์มีการคิดค้นนวัตกรรม ที่จะไม่ต้องใช้กำลังของเครื่องยนต์อีกต่อไป นั่นคือ รถยนต์ไฟฟ้า 100% โดยมีการใช้พลังงานไฟฟ้า 100% และตัดระบบเครื่องยนต์ต่างๆ ทิ้งออกไปทั้งหมด ซึ่งระบบจะสามารถชาร์จไฟได้จากภายนอกและเก็บไฟฟ้าไว้ที่แบตเตอรี่ เมื่อมีการขับเคลื่อน พลังงานไฟฟ้าจะถูกส่งไปที่มอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนล้อ
และเมื่อรถยนต์ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อน ซึ่งนั่นหมายถึงต่อไปนี้เราขับรถก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำมัน ไม่ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันเครื่อง และการใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ก็ทำให้เวลาขับรถจะไม่มีเสียง ไม่มีควันพิษ
ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า 100% นี่ล่ะ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราๆ จากการที่ต้องเติมน้ำมันที่ปั๊มเพื่อเดินทาง เปลี่ยนเป็นการชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน คล้ายกับโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังทำให้สังคมของเราเป็นสังคมสะอาดที่ไม่มี PM2.5 อีกต่อไป
โดยรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV Car นั้น นับวันจะมียอดขายเติบโตทั่วโลกอย่างก้าวกระโดด
ปี 2010 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 100% BEV ทั่วโลก 2,881 คัน
ปี 2019 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 100% BEV ทั่วโลก 1,502,798 คัน
เวลาเพียง 9 ปี BEV Car เติบโต 52,062%
ในเวลานี้มีรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV Car วิ่งบนท้องถนนทั่วโลกกว่า 4.5 ล้านคัน
โดยประเทศที่มีรถ BEV Car วิ่งบนถนนมากที่สุดก็คือ ประเทศจีน โดยมีประมาณ 2.5 ล้านคัน
หรือคิดเป็น 55% ของรถ BEV Car ทั้งหมดในโลก รองลงมาก็คือสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ BEV Car ในหลายประเทศทั่วโลกกำลังโตระเบิด ก็มาจากภาครัฐให้การสนับสนุน ทั้งด้านโครงสร้างภาษีผู้ผลิตรถยนต์ จนถึงการลดหย่อนภาษีให้แก่ประชาชนหากซื้อ BEV Car
เพราะเวลานี้ภาครัฐในหลายๆ ประเทศ กำลังหวาดกลัวกับสภาพอากาศที่กำลังแย่ลงทุกวัน
โดยเฉพาะประเทศจีน ที่หลายๆ เมืองกำลังตกอยู่ในวงล้อมของฝุ่น PM2.5
และเรื่องนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยเช่นกัน
ถึงตรงนี้หลายคนคงถามว่าสถานะตลาดรถไฟฟ้า 100% BEV Car ในบ้านเราเป็นอย่างไร?
เชื่อหรือไม่ว่ารถ EV Car ในเมืองไทยที่มีการรวมรถยนต์ที่มีแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนทั้งหมด ทั้งรถไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด มีแค่ 1.2 แสนคันหรือ 1.2% จากจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดทั่วประเทศ
และในยอดรวมนั้น มีเพียง 1,500 คัน ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV
เหตุผลที่ BEV Car ในเมืองไทยยังไม่แจ้งเกิดเหมือนประเทศอื่นๆ
ก็คงต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการส่งเสริมของภาครัฐที่ยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
เรื่องต่อมาก็คือราคาขายที่ยังคงมีราคาค่อนข้างสูง
เพราะในตอนนี้ยังไม่มีค่ายรถรายใดสามารถผลิต EV Car ในประเทศได้ จึงทำให้ทุกรายต่างมีต้นทุนในเรื่องภาษีนำเข้า
เรื่องนี้ก็เลยส่งผลให้ราคาขาย BEV Car ในท้องตลาดมีราคาแพง ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาเริ่มต้นที่ 1.8 ล้านบาท
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ก็เลยทำให้ MG มองเห็นช่องว่างด้วยการนำเข้า BEV Car “MG ZS EV”
โดยอาศัยสิทธิประโยชน์ภาษีนำเข้า 0% จากนโยบายการค้า FTA ไทย-จีน
จากจุดนี้ทำให้ MG ZS EV สามารถทำราคาขายได้ต่ำถึง 1.19 ล้านบาทซึ่งถูกกว่า BEV Car ค่ายอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

โดยรถรุ่นนี้มีจุดเด่นคือการชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งวิ่งได้ไกล 337 กิโลเมตร และรับประกันแบตเตอรี่นานถึง 8 ปี
สิ่งที่น่าติดตามก็คือ
แล้วเมื่อไร เราจะได้เห็น BEV Car ของค่ายรถอื่นๆ มีราคาให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ เหมือน MG ZS EV
แล้วเมื่อไร เราจะได้เห็น BEV Car ที่ราคาต่ำกว่าล้านบาทเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ
แล้วเมื่อไร เราจะได้เห็น BEV Car ชาร์จได้ที่สถานีชาร์จไฟฟ้าตั้งอยู่ทุกจุด เหมือนกับปั๊มน้ำมัน
คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ว่า
โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะเปลี่ยนจากผลิตรถยนต์สันดาปเป็นหลัก
มาเป็น EV Car อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไร
และจะมีการส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จรถไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน
ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ
และภาคประชาชนก็ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นเช่นกัน
และหากวันนั้นมาถึง
เมื่อ BEV Car วิ่งเต็มท้องถนนเมืองไทย
ตาของเรา จะไม่ได้เห็นควันดำ
จมูกของเรา จะไม่ได้สูดควันพิษ
หูของเรา จะไม่ได้ฟังเสียงดังจากเครื่องยนต์
และถึงเวลานั้น บนท้องถนนในประเทศไทย
ก็จะเป็นมิตรสำหรับเราทุกคน..
References
-ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)
-บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon