กรณีศึกษา ฮะจิบัง ราเมน

กรณีศึกษา ฮะจิบัง ราเมน

23 ก.ย. 2017
ราเมน มีต้นกำเนิดที่ประเทศจีน ไม่ใช่ญี่ปุ่น
ราเมน ได้เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ 1700
ในปี พ.ศ 2510 ฮะจิบังราเมน ได้ถือกำเกิดบนถนนหลวงสาย 8 เมืองคางะ จังหวัดอิชิกะวะ ประเทศญี่ปุ่น และนี่คือที่มาของคำว่า ฮะจิบัง เพราะ ฮะจิบัง มีความหมายว่า “หมายเลข 8”
โชวจิ โกโต ผู้ก่อตั้งฮะจิบังราเมน ได้เริ่มต้นธุรกิจจากร้านราเมนเล็กๆ ที่มีชามในร้านเพียง 25 ชามเท่านั้น และเคยสามารถสร้างยอดขายสูงสุดถึง 1,300 ชามภายในวันเดียว (โดยใช้ 25 ชามในร้าน) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เล่าขานในองค์กรตลอดมา
เมื่อธุรกิจเริ่มเติบโตได้ก่อตั้ง บริษัท ฮะจิบัง จำกัด และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น (JASDAQ) โดยได้ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่นมากกว่า 150 สาขา
ในปี พ.ศ 2534 ตระกูลเหลืองภัทรเมธี ได้ก่อตั้ง บริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 11,200,000 และในปี พ.ศ 2548 ได้เพิ่มทุนเป็น 192,400,000 บาท ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ ฮะจิบังราเมน ในไทย ซึ่งมีสาขาแรกตั้งอยู่ที่สีลมคอมเพล็กซ์ โดยมี บริษัท ฮะจิบัง (ญี่ปุ่น) เป็นบริษัทแม่และเจ้าของแฟรนไชส์ ปัจจุบันสาขาของฮะจิบังราเมนในไทยมีถึง 117 สาขาทั่วประเทศ
รายได้ของ ไทยฮะจิบัง เป็นอย่างไร?
ปี 2556 มีรายได้ 1,545 ล้านบาท กำไรสุทธิ 260 ล้านบาท
ปี 2557 มีรายได้ 1,629 ล้านบาท กำไรสุทธิ 268 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 1,632 ล้านบาท กำไรสุทธิ 267 ล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ 2554 ในปีนั้น ไทยฮะจิบัง ต้องประสบวิกฤตอย่างหนัก ถึงขนาดที่ต้องปิดให้บริการสาขาทั้งหมดชั่วคราว (ตอนนั้นมี 91 สาขา) เนื่องจากประเทศไทยต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นอุทกภัยที่รุนแรงสร้างความเสียหายไปทั่วประเทศ ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท แน่นอนที่ไทยฮะจิบัง ต้องโดนไปด้วย เพราะ ไทยฮะจิบังมีโรงงานและครัวกลางอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ซึ่งตอนนั้นนิคมแห่งนี้โดนน้ำท่วมไปเต็มๆ
หน้าร้านของ ฮะจิบัง ราเมน ได้ติดประกาศว่า “ขอขอบคุณผู้มีอุปการคุณทุกท่านที่มาอุดหนุนร้านฮะจิบัง ราเมน เนื่องจากมีเหตุน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ทำให้ครัวกลางไม่สามารถผลิตวัตถุดิบให้กับทางร้านได้ ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงขอปิดบริการชั่วคราว จนกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมลดลงเป็นปกติ ทางร้านจะรีบเปิดให้บริการโดยทันที จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย”
ฮะจิบังต้องปิดบริการทุกสาขาทั้งหมดเป็นเวลามากถึง 16 วัน
สาเหตุที่ร้านฮะจิบังต้องปิดบริการชั่วคราวทั้งหมดก็เพราะ โรงงาน-ครัวกลางของไทยฮะจิบังที่นวนครโดนน้ำท่วม ไม่สามารถทำงานได้ ต่อให้ป้องกันโรงงานจากน้ำท่วมได้ แต่การที่ซัพพลายเออร์ไม่สามารถส่งวัตถุดิบหลักที่จะทำบะหมี่ เช่น แป้งสาลี ไข่ เกลือ เนื้อสัตว์ ตลอดจนน้ำสะอาดเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต
โรงงาน-ครัวกลาง คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจฮะจิบัง แม้ว่า 91 สาขา ไม่ได้โดนน้ำท่วมก็ตาม ฮะจิบังกลายเป็นอัมพาตทันที
การที่ไทยฮะจิบังในกลายเป็นอัมพาตในครั้งนั้น ส่งผลไปถึงรายได้บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากธุรกิจฮะจิบังราเมนในเมืองไทย เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของธุรกิจฮะจิบัง ญี่ปุ่นด้วย
คุณนิพนธ์ เหลืองภัทรเมธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด ต้องเขียนจดหมายแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น(JASDAQ) เพื่อบอกเล่าลำดับเหตุการณ์นับแต่ประสบภัยน้ำท่วม จนถึงขั้นตอนการกลับมาเปิดอีกครั้ง
แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แม้ว่า มหาอุทกภัย จะสิ้นสุดในกลางเดือน ม.ค ปี พ.ศ 2555 แต่ว่าการกลับมาเปิดให้บริการของไทยฮะจิบัง ยังต้องค่อยๆทยอยเปิด ช่วงเริ่มกลับมาเปิดได้เพียง 7 สาขา เท่านั้น
กินเวลาไปทั้งหมด 6 เดือนด้วยกันกว่าจะเปิดครบ 91 สาขา
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การชะงักของธุรกิจจากเหตุการณ์หลายรูปแบบที่เกิดขึ้น การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมองเห็นภาพวิกฤตล่วงหน้า
แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การจำลองสถานการณ์ล่วงหน้า คิดแผนกลยุทธ์สำรอง ซึ่งการวางแผนนี้เรียกว่า Business Continuity Planning (BCP) หรือ การจัดทำแผนต่อเนื่องทางธุรกิจ
เมื่อปัญหาต่างๆถาโถมเข้ามา จะได้รับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักยาวนาน หรือแม้เพียงเวลาสั้นก็อาจส่งผลกับรายได้อย่างมหาศาลได้..
ที่มา hachiban.co.jp, thaihachiban, gotomanager
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.