ยาคูลท์ หรือ บีทาเก้น ขายดีกว่ากัน?

ยาคูลท์ หรือ บีทาเก้น ขายดีกว่ากัน?

15 ก.ย. 2017
ในปี 2559 ที่ผ่านมาตลาดนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตมีมูลค่าตลาด 28,149 ล้านบาท
โดยมีเจ้าตลาดอย่าง บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ครองตลาดเป็นอับดับหนึ่ง ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 26.1%
แต่จริงๆแล้วในตลาดนมเปรี้ยว ยังมีผู้แข่งขันที่ดูสมน้ำสมเนื้อกันอยู่คู่นึง
มีสินค้าที่คล้ายกันมาก ส่วนประกอบหลักของการผลิตสินค้าก็เหมือนกันมาก
ทั้งเนื้อสัมผัส รูปทรง ภาพลักษณ์ ก็สุดที่จะเหมือนกันอย่างมาก
คู่แข่งทั้งสองนี้คือ ยาคูลล์ กับ บีทาเก้น
มาดูยาคูลท์กันก่อน
ยาคูลท์ได้กำเนิดขึ้นเมื่อ ศาสตราจารย์ชิโระตะ มิโนะรุ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ทำการวิจัยแบคทีเรียจนค้นพบจุลินทรีย์ชิโรต้า หรือ แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ ชิโรต้า ขึ้นใน พ.ศ. 2473 (คำว่าชิโรต้ามาจากชื่อของศาสตราจารย์ชิโระตะ)
ต่อมาใน พ.ศ. 2478 เขาได้ก่อตั้งบริษัทยาคูลท์ (Yakult Honsha Co., Ltd.) ในเมืองมินะโตะ จังหวัดโตเกียว
และปี พ.ศ 2513 ยาคูลท์ได้เข้ามาในประเทศไทย ได้ก่อตั้ง บริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด
ต่อมาในปี พ.ศ 2521 ได้ก่อตั้ง บริษัท ยาคูลท์เซลล์ (กรุงเทพฯ) จำกัด
บริษัทแรกเป็นบริษัทผลิต และ บริษัทที่สองเป็นบริษัทขายส่งให้สาวยาคูลท์
Business model ของยาคูลท์เป็นอย่างไร?
วิธีการดำเนินธุรกิจของยาคูลท์ ใช้ช่องทางการขายตรงเป็นเป็นกลยุทธ์หลัก โดยมีสาวยาคูลท์มากกว่า 5,000 คน เป็นหน่วยขาย ยอดขายมากกว่า 85% มาจากช่องทางนี้
ในปี 2557 ยาคูลท์ พลิกเกมส์เพิ่มช่องทางการค้าปลีกอื่นๆ โดยขายราคาสูงกว่าสาวยาคูลท์ 1 บาท
มาดูบีทาเก้นกันบ้าง
ในปี พ.ศ 2534 ได้ตั้งบริษัทไทยแอ็ดว้านซ์ฟูด (1991) จำกัด ต่อมาได้จับมือร่วมทุนกับ บริษัท คัมพานี ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้ก่อตั้ง บริษัท บีทาเก้น จำกัด โดยใช้ส่วนประกอบหลักของสินค้า คือ แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธ์ดี
Business model ของบีทาเก้นเป็นอย่างไร?
วิธีการดำเนินธุรกิจของบีทาเก้น ใช้ช่องทางขายผ่านคอนวีเนียนสโตร์และโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก โดยใช้กลยุทธ์ขนาด รสชาติที่มีเยอะกว่า และราคาที่หลากหลาย
แล้วบริษัทไหนขายดีกว่ากัน?
ถ้าดูโครงสร้างธุรกิจของยาคูลท์แล้ว ควรจะนับรายได้เฉพาะของบริษัทขายส่งให้สาวยาคูลท์ (ถ้านับรายได้ของบริษัทที่ผลิตด้วย จะซ้ำซ้อนกัน)
จากงบการเงินปี 2559 ยาคูลท์มีรายได้ 4,796 ล้านบาท มากกว่าของบีทาเก้นที่มีรายได้ 3,768 ล้านบาท
ส่วนกำไร ยาคูลท์ทั้ง 2 บริษัทมีกำไร 1,056 ล้านบาท และบีทาเก้นมีกำไร 1,004 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 2 บริษัทนี้มีกำไรมากกว่า บริษัทชาเขียวอย่าง โออิชิ และ อิชิตัน ที่เราน่าจะได้เห็นโฆษณากันมากกว่านมเปรี้ยว
เรื่องนี้ คงต้องสรุปว่า ขายนมเปรี้ยว ก็รวยไม่แพ้ ขายชาเขียวนะ..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.