ดัชนี Big Mac

ดัชนี Big Mac

12 ก.ย. 2017
Big Mac เมนูยอดนิยมแห่งร้าน fast food ชื่อดัง “McDonald’s”
ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1967 โดยคุณ Jim Delligatti
เจ้าของแฟรนไชส์ McDonald’s แห่งหนึ่งในเมืองพิทสเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นแฮมเบอร์เกอร์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย
ขนมปัง 3 ชั้น เนื้อ 2 ชั้น ผักกาด และซอสสูตรพิเศษ
ถือว่าเป็นเมนูที่สร้างชื่อเสียงและเป็นสัญลักษณ์ของร้าน Mcdonald’s เรื่อยมา
หากใครไปเที่ยวต่างประเทศหลายวันและเบื่อกับอาหารท้องถิ่น
อาจจะอยากลองเข้า McDonald’s ของประเทศนั้นๆ ดู
จะพบว่าราคาของ Big Mac ในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน
Big Mac 1 ชิ้น ของประเทศต่างๆเป็นดังนี้
มาเลเซีย ราคา 66 บาท
อินโดนีเซีย ราคา 79 บาท
ฟิลิปปินส์ ราคา 88 บาท
จีน ราคา 97 บาท
ญี่ปุ่น ราคา 111 บาท
โปรตุเกส ราคา 123 บาท
ประเทศไทย ราคา 123 บาท
เกาหลีใต้ ราคา 127 บาท
สิงคโปร์ ราคา 134 บาท
อังกฤษ ราคา 136 บาท
เยอรมนี ราคา 147 บาท
ฝรั่งเศส ราคา 155 บาท
ฟินแลนด์ ราคา 172 บาท
สหรัฐอเมริกา ราคา 175 บาท
นอร์เวย์ ราคา 196 บาท
สวิตเซอร์แลนด์ ราคา 223 บาท
ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมราคา Big Mac ในแต่ละประเทศถึงต่างกันมากขนาดนี้
อาหารชนิดเดียวกัน หากอยู่ในมาเลเซีย จะถูกกว่าในสวิตเซอร์แลนด์ถึง 4 เท่า!
จะบอกว่าคนสวิตเซอร์แลนด์โชคร้ายกว่ามาเลเซีย ก็อาจจะไม่ได้ ต้องดูเงินเดือนที่คนสวิตเซอร์แลนด์ได้รับด้วย
ทีนี้เรามาดูค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละประเทศกัน
ในมาเลเซีย ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 270 บาท
ทำงาน 1 วันสามารถซื้อ Big Mac ได้ประมาณ 4 ชิ้น
ในสิงคโปร์ ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 1,488 บาท
ทำงาน 1 วันสามารถซื้อ Big Mac ได้ประมาณ 11 ชิ้น
ในญี่ปุ่น ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 2,000 บาท
ทำงาน 1 วันสามารถซื้อ Big Mac ได้ประมาณ 20 ชิ้น
ในฝรั่งเศส ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 3,100 บาท
ทำงาน 1 วันสามารถซื้อ Big Mac ได้ประมาณ 20 ชิ้น
สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ Big Mac แพงที่สุดในโลก
มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 3,500 บาท
เท่ากับทำงาน 1 วัน สามารถซื้อ Big Mac ได้ประมาณ 15 ชิ้น
สรุปแล้วถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะมีราคา Big Mac ที่แพงกว่า แต่คนสวิตเซอร์แลนด์จะใช้ค่าแรงซื้อ Big Mac ได้มากกว่าคนมาเลเซีย ถึง 4 เท่า
ในขณะที่ประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท
Big Mac 1 ชิ้นราคา 123 บาท
ทำงาน 1 วันซื้อได้ไม่ถึง 3 ชิ้น..
ราคา Big Mac ยังถูกนำมาใช้ในด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์อีกด้วย โดยเรียกว่า “Big Mac Index”
Big Mac Index คิดค้นโดย The Economist นิตยสารชื่อดังสัญชาติอังกฤษ เมื่อปี 1986 ในฐานะของ “ตัวชี้วัด” ค่าเงินระหว่าง 2 ประเทศว่าสะท้อนความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด โดยใช้ทฤษฎีของ purchasing-power parity (PPP) ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาว ราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในแต่ละประเทศควรมีราคาเท่ากันในที่สุด
แล้วสินค้าอะไรที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกันอยู่ทั่วโลก?
ต้องขอขอบคุณ คุณ Ray Kroc ที่คิดค้นระบบแฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ ทำให้ตอนนี้แมคโดนัลด์เป็นเชนร้านอาหารที่ใหญ่สุดมีสาขา 36,900 สาขาทั่วโลก (ไม่ใช่ 2 พี่น้อง Richard และ Maurice McDonald ที่เป็นแค่ต้นตำรับสาขาแรก)
และ Big Mac ถือเป็นเมนูที่นำมาเป็นตัวแทนเปรียบเทียบเพื่อต้องการทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ PPP เข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น
ราคา Big Mac ในอเมริกาอยู่ที่ 5.3 USD (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนคือ 175 บาท)
แต่ในเมืองไทย ราคา Big Mac อยู่เพียงแค่ 123 บาท
หมายความว่า ค่าเงินบาทนั้นควรจะแข็งค่าขึ้นกว่าตอนนี้ 30% ถึงจะทำให้ราคา Big Mac ทั้ง 2 ประเทศเท่ากันนั่นเอง
Big Mac ไม่ใช่สินค้าอย่างเดียวที่ถูกนำมาเปรียบเทียบเพื่อดูค่าครองชีพ ราคากาแฟอย่าง Starbucks ก็ถูกนำมาเป็นดัชนีชี้วัดเช่นเดียวกัน
แต่ต้องหมายเหตุว่าวัตถุดิบในแต่ละประเทศราคาอาจไม่เท่ากัน ต้นทุนต่างๆ ก็ไม่เท่ากัน การใช้ราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว อาจจะวัดได้ไม่ตรงเสมอไป
ครั้งหน้าหากใครมีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศ ลองมองดูราคาสินค้ารอบๆ ตัว แล้วเปรียบเทียบกับบ้านเรา อาจจะเจออะไรน่าสนใจ ก็เป็นได้..
ที่มา
-statista.com
-minimum-wage.org
-tradingeconomics.com
-economist.com
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.