Warby Parker สตาร์ทอัพ ผู้เปลี่ยนวงการแว่นตา

Warby Parker สตาร์ทอัพ ผู้เปลี่ยนวงการแว่นตา

4 ก.ย. 2017
ทุกไอเดียเจ๋งๆของสตาร์ทอัพล้วนเกิดจากปัญหาง่ายๆในชีวิตประจำวัน
Warby Parker เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ”ราคา” แว่นสายตาในสหรัฐอเมริกา
ผสมกับโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม “Social Enterprise”
จากแผนธุรกิจเล็กๆ เริ่มต้นจากนักศึกษา MBA 4 คนแห่ง Wharton Business School
สู่ธุรกิจมูลค่าหมื่นล้านภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
อะไรคือเบื้องหลังสู่ความสำเร็จครั้งนี้ เรามาหาคำตอบกัน
จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพหมื่นล้านรายนี้
เริ่มจากที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทได้ทำแว่นตาหายขณะเดินทางท่องเที่ยว
และพบว่าเพื่อนผู้ก่อตั้งของเขาอีก 3 คนก็เคยมีปัญหาเดียวกัน
หลายคนอาจคิดว่านั่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เปล่าเลย….
ก่อนอื่นเรามาดูภาพรวมตลาดแว่นตาในสหรัฐอเมริกา
ตลาดแว่นตาในสหรัฐอเมริกามีมูลค่ากว่า 28,000 ล้านเหรียญ
ในขณะที่มูลค่าตลาดแว่นตาของทั้งโลกอยู่ที่ 95,000 ล้านเหรียญ
หรือเรียกได้ว่าตลาดแว่นตาในอเมริกาคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดแว่นตาโลก
แต่ที่น่าสนใจบริษัทที่ครองครองตลาดแว่นตาแบบเกือบผูกขาด คือ “Luxottica”
บริษัทนี้เป็นเจ้าของแบรนด์แว่นตาแบรนด์ชื่อดังเกือบทุกยี่ห้อ ไล่ตั้งแต่ Ray-Ban, Armani, Versace, Coach, Oakley
ประชากรในอเมริกากว่า 65% นั้นใช้แว่นสายตาในชีวิตประจำวัน
เฉลี่ยแว่นตา 1 อันราคาอยู่ที่ 200-500 เหรียญ
คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,000-17,500 บาท
ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าทำไมการทำแว่นตาหายนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เพราะแว่นแต่ละอันราคาสูงมาก และการสั่งตัดแว่นนั้นไม่ง่ายเหมือนเมืองไทย
ลูกค้าต้องไปตรวจสายตาเพื่อขอใบรับรองการตัดแว่นจากแพทย์
จากนั้นนำใบรับรองไปยื่นให้ร้านตัดแว่นอีกทีหนึ่ง
และรอประมาณ 1-2 สัปดาห์ กว่าจะได้แว่นตาสัก 1 อัน
อะไรคือเป้าหมายของ Warby Parker?
เป้าหมายที่ 1 : การซื้อแว่นตาควรเป็นเรื่องที่ง่ายและสนุก
Warby Parker เริ่มต้นจากการเป็นร้านขายแว่นตาออนไลน์
แต่ปัญหาก็คือ “ไม่มีใครอยากสั่งแว่นออนไลน์ เพราะไม่ได้ลองใส่”
Warby Parker แก้ปัญหาด้วยการจัดส่งแว่นไปให้ลูกค้าลองที่บ้านถึง 5 แบบ
ลูกค้ามีเวลา 5 วันในการทดลองแว่นเหล่านั้น และส่งคืนกลับมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หากลูกค้าต้องการซื้อแว่น
ก็ให้อัพโหลดเอกสารใบสั่งตัดแว่นจากแพทย์ลงบน website พร้อมบอกค่า PD (ระยะห่างรูม่านตา)
หรือหากแพทย์ไม่ได้วัดค่า PD มาให้ Warby Parker ก็สามารถวัดให้ได้ด้วยเทคโนโลยีของบริษัท โดยลูกค้าทำตามขั้นตอนที่ website บอก
โปรแกรมจะประมวลผลจากรูปหน้าของเรา และออกมาเป็นค่า PD ได้นั่นเอง
โปรแกรมทดลองสินค้ากลายเป็นจุดเด่น และสร้างรายได้ให้แก่ Warby Parker อย่างมหาศาล
Warby Parker สามารถทำยอดทะลุเป้าหมาย 1 ปีสำเร็จในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์
และมีลูกค้ารอซื้อสินค้าถึง 20,000 ออเดอร์ เนื่องจาก Warby Parker ไม่สามารถส่งแว่นให้ทดลองได้ทัน
ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จนนิตยสาร GQ เรียก Warby Parker ว่าเป็น “Netflix of Eyewear”
เป้าหมายที่ 2 : คุณควรดูดีเมื่อใส่แว่นตา ในขณะที่มีเงินเหลือในกระเป๋าสตางค์
Warby Parker จ้าง designer ฝีมือดีเพื่อออกแบบแว่นตา และ position แบรนด์ตัวเองให้เป็นบริษัทแฟชั่น
ตั้งแต่ขั้นตอนร่างแบบไปจนถึงขึ้นโมเดล ทั้งกระบวนการเกิดขึ้นภายใน Warby Parker
ตัดขั้นตอนพ่อค้าคนกลาง ที่เป็นปัญหาทำให้ราคาแว่นแพงดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แว่นตาของ Warby Parker จึงมีราคาที่ถูกกว่าราคาในตลาดถึงกว่าครึ่ง
เริ่มต้นที่ 95 เหรียญ หรือประมาณ 3,000 บาท
เป้าหมายที่ 3 : ทุกคนควรมีสิทธิที่จะมองเห็น
ปัจจุบัน มีผู้ที่ขาดแคลนแว่นตาสำหรับการใช้ชีวิตมากถึง 700 ล้านคนทั่วโลก
Warby Parker มองเห็นถึงปัญหานี้ จึงมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้คนได้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น
Warby Parker ถือว่าเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคม หรือที่เรียกว่า “Social Enterprise”
ทุกๆครั้งที่ลูกค้าซื้อแว่นตา 1 อัน
บริษัทจะบริจาคเงินเท่ากับต้นทุนการผลิตแว่นให้แก่องค์กรชื่อ VisionSpring
ปัจจุบัน Warby Parker บริจาคเงินเพื่อผลิตแว่นตาไปแล้วถึง 3 ล้านชิ้น
โมเดล Buy 1 give 1 นั้นถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการ Social Enterprise
หากใครเคยใส่รองเท้า TOMS SHOES ก็คงคุ้นเคยกับโมเดลนี้เป็นอย่างดี
VisionSpring เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร มีหน้าที่สอนอาชีพให้แก่ผู้หญิงในชุมชนที่มีรายได้น้อย โดยจะสอนวิธีวัดสายตาประกอบแว่น เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถสร้างอาชีพได้ต่อไป
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Warby Parker เคยเป็นผู้บริหารของ VisionSpring จึงรู้ว่าการบริจาคเงินให้ฟรีๆนั้นเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว
การสร้างอาชีพต่างหากคือการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะมันเป็นการทำให้คนขายตั้งใจทำสินค้าให้ออกมาดี
แต่ราคาแว่นที่ขายให้แก่ลูกค้ากลุ่มเหล่านี้จะเป็นราคาที่ถูกมาก เพียงแค่ 3-4 เหรียญต่อหนึ่งอัน ตาม concept ที่ว่า
“ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมองเห็น”
ปัจจุบัน นอกจากขายแว่นตาออนไลน์แล้ว Warby Parker ได้ขยายธุรกิจสู่การเปิดหน้าร้านกว่า 46 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่อย่าง Macy’s ทยอยปิดตัวลงกว่า 68 แห่ง ทุกคนกำลังอยากจะนำธุรกิจของตัวเองสู่โลกออนไลน์ แต่ Warby Parker ไม่คิดเช่นนั้น
Neil Blumenthal ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Warby Parker กล่าวว่า “การขายหน้าร้านไม่ได้กำลังจะตาย ประสบการณ์การซื้อสินค้าที่น่าเบื่อต่างหากที่กำลังจะตาย”
หน้าร้านของ Warby Parker จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ลูกค้าอยากเข้ามาใช้บริการ การจัดเรียงแว่นตาสามารถทำให้ลูกค้าหยิบและลองใส่ได้ทุกชิ้น ขจัดปัญหาน่าเบื่อที่ลูกค้าต้องทนให้คนขายคอยแนะนำแว่นที่เหมาะสำหรับตน
Warby Parker ไม่ได้มีเพียงกระจกบานเล็กๆให้ส่องขณะลองแว่น แต่จะมีเป็นกระจกบานใหญ่ขนาดเท่าตัวคน อยู่รอบๆร้าน
Warby Parker ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เพื่อทำให้ลูกค้า”สนุก” กับการเลือกซื้อแว่นตาจริงๆ
ถ้าให้สรุปว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ Warby Parker ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขนาดนี้คงสรุปได้ว่า Warby Parker ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงลูกค้าอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่ ออกแบบ ผลิต และขายสินค้าโดยตรงให้แก่ลูกค้า
ด้วยวิธีนี้ทำให้ Warby Parker ได้รับ feedback ต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาตัวสินค้าและบริการ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว
เรื่อง Warby Parker เป็นตัวอย่างของผู้มีความฝัน ฝันที่จะเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง และสร้างสิ่งดีๆให้แก่โลกใบนี้ เพียงแค่มองปัญหาง่ายๆรอบตัว และกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างจาก กรอบเดิมๆ..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.