ไทยเบฟ vs บุญรอด

ไทยเบฟ vs บุญรอด

4 ก.ย. 2017
ตลาดเบียร์ในบ้านเราที่มีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท
ถูกครอบครองโดยเบียร์เพียงไม่กี่แบรนด์
และส่วนแบ่งการตลาดกว่า 90% เป็นของเบียร์ไทย
แน่นอนว่าถ้าพูดถึงเบียร์ไทย ก็คงไม่หนีพ้นเจ้าใหญ่อย่าง เบียร์ลีโอ และเบียร์สิงห์ ของตระกูล ภิรมย์ภักดี (บุญรอดบริวเวอรี่) และเบียร์ช้าง ของเสี่ยเจริญ (ไทยเบฟ)
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ นั้นมีประวัติมาอย่างยาวนาน เพราะเริ่มธุรกิจผลิตเบียร์มาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 7 โดยพระยาภิรมย์ภักดียื่นหนังสือขออนุญาตจากรัฐบาลและได้รับอนุมัติเพื่อตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของไทยในปี 2476 ซึ่งผู้บริหารในยุคปัจจุบันก็เริ่มเข้าสู่รุ่นที่ 4 ของตระกูลภิรมย์ภักดีแล้ว
ด้าน เสี่ยเจริญ ก่อร่างสร้างตัวมาจากธุรกิจสุราก่อนจะมาจับธุรกิจเบียร์ โดยเริ่มจากการเป็นลูกจ้างในบริษัทที่จัดส่งสินค้าให้โรงงานสุราบางยี่ขันผู้ผลิต แม่โขง ในปี 2504 ก่อนจะร่วมกันกับเจ้าสัว เถลิง เหล่าจินดา ในปี 2518 เข้าซื้อกิจการ ธารน้ำทิพย์ หรือก็คือบริษัทแสงโสมในปัจจุบัน แล้วจึงได้ตั้งบริษัท เบียร์ไทย และ เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ ขึ้นในปี 2534 เพื่อเริ่มทำธุรกิจผลิตเบียร์
ซึ่งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นไปเมื่อปี 2546 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อรวมกิจการที่เกี่ยวข้องกับเบียร์และสุราให้มาเป็น กลุ่มบริษัท นั่นเอง
เบียร์ไหนเกิดก่อนกัน?
แน่นอนว่า เบียร์สิงห์ เกิดก่อน และเกิดก่อนมานานมาก เพราะเบียร์สิงห์เปิดตัวครั้งแรกต้องย้อนไปเมื่อปี 2477 หรือเมื่อ 83 ปีก่อน วางขายครั้งแรกที่ราคาขวดละ 32 สตางค์
ตามมาด้วย เบียร์ช้าง จากการที่รัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในปี 2534 และได้วางขายครั้งแรกในปี 2538 หรือ 22 ปีก่อน โดยมีกลยุทธ์ที่ใช้สู้กับเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ด้วยการเสนอราคาที่ถูกกว่าค่อนข้างเยอะ และระบบขายพ่วง (เช่น สุราพ่วงเบียร์) จึงสามารถแย่งลูกค้ามาได้เป็นจำนวนมาก และทำให้เบียร์สิงห์เริ่มสั่นคลอน
เบียร์ลีโอ วางขายครั้งแรกในปี 2541 หรือเมื่อ 19 ปีก่อน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโต้การทำตลาดของเบียร์ช้างโดยเฉพาะ ด้วยการกำหนดราคาให้ถูกลงกว่าเบียร์สิงห์ และใกล้เคียงกับราคาของเบียร์ช้างมากขึ้น
ผลประกอบการของ 2 บริษัท
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นับเฉพาะธุรกิจเบียร์ (ซึ่งมี เบียร์ช้าง เบียร์อาชา และเบียร์เฟดเดอร์บรอย)
ปี 2555 มีรายได้ 34,386 ล้านบาท ขาดทุน 1,256 ล้านบาท
ปี 2556 มีรายได้ 32,935 ล้านบาท ขาดทุน 447 ล้านบาท
ปี 2557 มีรายได้ 35,193 ล้านบาท กำไร 396 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 43,112 ล้านบาท กำไร 1,215 ล้านบาท
ปี 2559 (มีการเปลี่ยนแปลงรอบปีให้จบที่เดือน 9) มีรายได้ 44,397 ล้านบาท กำไร 2,780 ล้านบาท
บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องดื่มของเครือบุญรอด
ปี 2555 มีรายได้ 98,990 ล้านบาท กำไร 3,115 ล้านบาท
ปี 2556 มีรายได้ 105,563 ล้านบาท กำไร 3,256 ล้านบาท
ปี 2557 มีรายได้ 113,897 ล้านบาท กำไร 2,915 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้ 116,548 ล้านบาท กำไร 2,310 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 104,794 ล้านบาท กำไร 770 ล้านบาท
แต่จะเปรียบเทียบรายได้ตรงๆ เลยคงไม่ได้ เนื่องจากรายได้ของทางบุญรอดนั้น น่าจะรวมเครื่องดื่มอื่น นอกเหนือจากเบียร์ เช่น น้ำดื่ม โซดา หรือ ซันโว ไว้ด้วย
บุญรอดยังมีบริษัทในเครืออีก 2 บริษัทคือ
1 บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ปี 2559 มีรายได้ 8,698 ล้านบาท กำไร 3,580 ล้านบาท
2 บริษัทสิงห์คอร์เปอเรชั่น ปี 2559 มีรายได้ 4,747 ล้านบาท กำไร 3,226 ล้านบาท
สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาดของเบียร์นั้น จากการเปิดเผยตัวเลขโดยประมาณเมื่อปลายปีที่แล้ว
ลีโออยู่ที่ 53% ช้าง 38% สิงห์ 5%
 
ที่น่าสนใจต่อมาคือ ในยุคที่ห้ามโฆษณาเหล้าเบียร์ออกสื่อ
มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หลังจากมีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เราก็รู้สึกได้ว่าจะเห็นโฆษณา "โซดา" ที่มีแบรนด์เหมือนกับเบียร์บ่อยขึ้น
ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ลีโอ ได้เปิดตัว โซดาลีโอ และเราคงมีโอกาสได้เห็นโฆษณาโซดาลีโอทางทีวีกันบ้างแล้ว
สรุปแล้วโฆษณาเบียร์ไม่ได้ บริษัทเลยโฆษณาโซดาแทนละกัน
จุดที่น่าสนใจต่อมา คือ ข้อมูลที่เปิดเผยจากบริษัทไทยเบฟ ภาษีสรรพสามิต มีสัดส่วนมากถึง 57.7% ของยอดขาย
สรุปแล้ว ถ้าเรากินเบียร์ คนที่ได้เงินมากสุด ไม่ใช่บริษัทขายเบียร์ แต่คือ รัฐบาล..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.