UBI ถ้ารัฐบาลแจกเงินให้เราทุกเดือน?

UBI ถ้ารัฐบาลแจกเงินให้เราทุกเดือน?

31 ส.ค. 2017
ถ้ารัฐบาลแจกเงินเดือนฟรีให้กับพวกเราทุกคน
โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทำงาน หรือมีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น
เราจะทำงานหรือมีอาชีพเหมือนกับที่ทำอยู่ในทุกวันนี้หรือไม่?
ถึงตอนนั้น เราจะไปทำอะไร?
นโยบายที่ว่านี้ก็คือ แนวคิด Universal Basic Income (UBI) ที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องการันตีรายได้ต่อหัว แจกเงินที่มากพอสำหรับการดำรงชีวิตพื้นฐาน เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเรียนหนังสือ ค่ารักษาพยาบาล ให้กับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ตามในทุกๆเดือน และต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น (unconditional) พูดง่ายๆ ก็คือ “เงินเดือนให้เปล่าฟรีสำหรับทุกคน”
ภายใต้แนวคิดนี้มีความเชื่อหลักๆ 3 ข้อ คือ
1)จะช่วยให้คนทุกคนหลุดพ้นจากความยากจน อยู่ได้โดยไม่อดอยาก
2)สร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถเลือกทำงานในสิ่งตัวเองรักและถนัด โดยไม่ต้องมาคอยพะวงกับรายได้
3)เป็นทางออกในยุคที่หุ่นยนต์กำลังจะเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนคนอย่างเต็มรูปแบบ
รัฐที่ใช้แนวคิดนี้แล้วในปัจจุบัน คือ รัฐอลาสก้า ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ในปี 1976 รัฐอลาสก้าได้ผ่านกฎหมายก่อตั้งกองทุนถาวร (Alaska Permanent Fund) โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะนำรายได้จากการขายแก๊สและน้ำมันที่เป็นรายได้หลัก มาปันผลแจกเป็นสวัสดิการให้กับคนในรัฐ
โดยรัฐอลาสก้าเริ่มแจกเงินครั้งแรกในปี 1982 เป็นจำนวน $1,000 หรือประมาณ 23,000 บาท ให้กับประชากร 401,851 คนในขณะนั้น ซึ่งจำนวนเงินที่จะแจกในแต่ละปี มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลประกอบการเฉลี่ยของกองทุน มีสูตรคำนวณ คือ
(((รายได้สุทธิเฉลี่ย 5 ปี x 0.21)/2) – ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปีก่อน)/จำนวนประชากรทั้งหมด = เงินปันผลที่รัฐจะจ่ายให้แต่ละคน
ในแต่ละปีที่ผ่านมา คนอลาสก้าจะได้รับเงินดังนี้
ปี 2013 ได้รับเงิน $900 หรือประมาณ 30,015 บาท
ปี 2014 ได้รับเงิน $1,884 หรือประมาณ 62,831 บาท
ปี 2015 ได้รับเงิน $2,072 หรือประมาณ 69,101 บาท
ปี 2016 ได้รับเงิน $1,022 หรือประมาณ 34,083 บาท (ตอนแรกคาดว่าจะได้ $2,052 หรือประมาณ 68,434 บาท แต่ว่าผู้ว่าการรัฐ นายบิล วอล์คเกอร์ ได้ตัดลดงบประมาณลง)
ถึงแม้ว่าเงินที่ชาวอลาสก้าได้รับอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตพื้นฐานทั้งหมด แต่นี่ก็นับเป็นโมเดลต้นแบบของแนวคิด Universal Basic Income ที่สามารถใช้จริงมาหลายสิบปีได้..
นอกจากรัฐอลาสก้าแล้ว ยังมีประเทศฟินแลนด์ที่กำลังอยู่ในช่วงการทดลอง
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2016 ที่ผ่านมา Kela หน่วยงานประกันสังคมของประเทศฟินแลนด์ได้ทำการทดลองสุ่มให้เงิน 560 ยูโร หรือประมาณ 22,035 บาทต่อเดือน ให้กับประชาชนชาวฟินแลนด์ที่มีอายุ 25-58 ปี จำนวน 2,000 คน โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น เป็นระยะเวลา 2 ปี (โครงการจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม ปี 2018)
เพื่อต้องการทดลองว่า เมื่อคนเหล่านี้ได้รับเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตไปแล้ว เขาจะมีแรงจูงใจหางานที่ชอบ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจริงหรือไม่?
จากการรายงานของ The Independent ได้เปิดเผยผลการทดลองอย่างไม่เป็นทางการใน 3 เดือนแรกพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองหลายคนมีความเครียดในการทำงานน้อยลง และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
แล้วประเทศไทยจะมีโอกาสใช้นโยบายนี้ได้หรือไม่?
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับนโยบายนี้ คือ ปริมาณเงินมหาศาลที่ต้องใช้ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2015 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 7,296 บาท โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 65,931,550 คน
หมายความว่า ถ้ารัฐบาลจะทำนโยบายนี้ โดยให้ครอบคลุมคนไทยทุกคนจะต้องใช้เงินสูงถึง 5.77 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ในขณะที่ ปี 2016 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีรายได้รวมสุทธิ 2.46 ล้านล้านบาท
จึงสรุปได้ว่า คนไทยคงต้องรอไปอีกนาน เพราะ นโยบาย Universal Basic Income ไม่น่าจะครอบคลุมคนไทยทุกคนได้..
แต่ก็น่าคิดว่า ถ้าคนไทยได้เงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน คงจะมีคนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก ไม่เลิกทำงานเดิม และก็ยังใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไป เงินที่รัฐให้มาถือเป็นเงินสะสมไว้ใช้ตอนเกษียณ
กลุ่มที่สอง เลิกทำงานเดิม นั่งเล่น นอนเล่น เที่ยวเล่น เอาเงินไปใช้จ่ายอย่างเดียว
กลุ่มที่สาม เลิกทำงานเดิมเช่นกัน แต่ ไปทำงานหรือสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองชอบ และทำได้ดี ถึงแม้ว่างานนั้นไม่มีคุณค่าทางตัวเงิน แต่ก็มีความสุขที่ได้ทำมัน
แล้วผู้อ่านคิดว่าท่านจะอยู่ในกลุ่มไหน..?
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.