กลับไปทำงานประจำ

กลับไปทำงานประจำ

16 มิ.ย. 2019
ลาออกจากงาน, มีอิสรภาพทางการเงิน 2 คำนี้เป็นสิ่งที่หลายคนมองหา
เพราะเราจะมีอิสระ ไม่ต้องทำอะไร ทำอะไรก็ได้ตามที่เราอยากทำ แต่เมื่อถึงเวลาได้สิ่งที่ต้องการมา กลับรู้สึกว่า..ชีวิตตัวเองมีค่าน้อยลง
ถ้าให้ไปดูเศรษฐีในโลกนี้
วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ยังทำงานที่ตัวเองรักจนถึงอายุ 88 ปี
เจฟฟ์ เบโซส ยังบริหารงานที่ Amazon ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นบุคคลที่รวยสุดในโลก
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังตั้งหน้าตั้งตาพัฒนา Facebook ไม่ได้ลาออกไปไหน ถึงแม้ว่ามาร์ก จะมีเงินมากพอที่ไม่จำเป็นต้องทำงานแล้ว
อะไรคือคำตอบที่ซ่อนอยู่ ของสิ่งที่เกิดขึ้น?
คำตอบก็คือ “คุณค่าของชีวิต” ไม่ได้วัดกันที่อิสรภาพทางการเงิน..
ไม่ได้วัดกันที่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วจะได้เงินเท่าไรโดยไม่ต้องทำงาน
แต่คุณค่าของชีวิต คือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อคนอื่น..
วอเร็น บัตเฟตต์ ได้ทำงานเกี่ยวกับการลงทุนที่ตัวเองรัก และเขาเป็นผู้บริจาคเงินการกุศลอันดับหนึ่งของโลก
เจฟฟ์ เบโซส เชื่อว่า Amazon ของเขาจะเปลี่ยนแปลงวิถีชิวิตผู้คน
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เชื่อว่า Facebook จะเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน และทำให้โลกนี้ดีขึ้น
อาจไม่ต้องเป็นงานใหญ่โต ช่างซ่อมรถ คนทำขนมปัง คนทำความสะอาด หลายงานในโลกนี้ล้วนแต่มีคุณค่าต่อผู้คน
เราเป็นคนขับแท็กซี่ ถ้าเราส่งผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย แม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ แต่นั่นก็ถือว่ามีคุณค่ากว่า คนมีเงินมากมาย เดินทางไปทั่วโลก แต่ไม่ได้ทำอะไรมีคุณค่าต่อผู้อื่นเลย
เมื่อเราได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งนั้นพอเลี้ยงตัวเองได้ และ สิ่งนั้นมีคุณค่ากับคนอื่น นั่นคือ คำตอบของชีวิต..
ล่าสุด ดร. นิเวศน์ เขียนบทความเรื่อง กลับไปทำงานประจำ เป็นบทความที่ครบถ้วน สมบูรณ์ อยากให้ลองอ่านกัน
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
16 มิถุนายน 2562
===กลับไปทำงานประจำ===
​หลาย ๆ ปีก่อนในช่วงที่ตลาดหุ้นยังปรับตัวขึ้นเป็น “กระทิง” ต่อเนื่องยาวนานนั้น เรามักพบนักลงทุนโดยเฉพาะที่ยังหนุ่มแน่นอายุไม่มากเช่น 30-40 ปีหลาย ๆ คนลาออกจากงานประจำและหันมาลงทุนเต็มตัว บางคนมีเงินก้อนหนึ่งอาจจะแค่ 2-3 ล้านบาทซึ่งเขา “คิด” ว่าสามารถทำเงินแต่ละเดือนจากการเล่นหุ้นได้ 40,000-50,000 บาท ซึ่งมากพอที่จะ “เลี้ยงชีพ” ได้ ดังนั้นเขาจึงลาออกจากงานประจำเงินเดือนน้อยนิดและน่าเบื่อเพื่อเน้นเล่นหุ้นที่จะ “ได้กำไรดีขึ้น” จากการ “ทุ่มเท” กับการ “ลงทุน” อย่างจริงจัง
ในวันนี้ผมเชื่อว่าพวกเขาคงกลับมาทำงานประจำกันหมดแล้วเพราะขาดทุนหุ้นหนัก ไม่มีเงินพอเลี้ยงชีพ
นักลงทุนอีกหลายคนนั้น ประสบความสำเร็จสูงกว่าจากการลงทุนและมีพอร์ตเพิ่มขึ้นมากจนคิดว่าตนเองมี “อิสรภาพทางการเงิน” แล้ว เนื่องจากคิดว่าพอร์ตของเขาใหญ่พอที่ถ้าสามารถทำผลตอบแทนเพียงปีละ 10-20% แบบทบต้นนั่นคือได้กำไรโดยเฉลี่ยแบบนั้นทุกปีเขาก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงานประจำ
ตัวอย่างเช่น พอร์ตอาจจะเท่ากับ 10 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนปีละ 12% ก็จะได้เงินกำไรมาใช้ปีละ 1,200,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 100,000 บาท ดังนั้น เขาก็สามารถใช้ชีวิตที่อิสระโดยมีการลงทุนเป็นงานที่เขาชอบและเขาสามารถทำอะไรก็ได้โดยเฉพาะการท่องเที่ยวไปทั่วโลก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาไม่ได้มีภาระอะไรมากมายและก็ยังเป็นคนที่ไม่ได้ใช้จ่ายอะไรฟุ่มเฟือย ดังนั้น นี่คือ “ความฝัน” ที่เขาเคยคิดมานาน นั่นคือ เกษียณก่อนกำหนดมาก และใช้ชีวิตตามที่ตนเองชอบ ไม่มีจ้าวนายมาสั่งให้ทำอะไรที่ตนไม่ชอบ
เมื่อหลายวันก่อนผมได้พบกับนักลงทุนที่ห้างสรรพสินค้าที่ผมมักไปประจำ เขามาทักทายผมและแนะนำว่าชื่อ “เต้” เป็นคนที่อยู่แถวบ้านย่านเดียวกับผม เคยเห็นผมอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่ได้เข้ามาทัก เราก็เลยได้คุยกัน เขาบอกว่าตนเองเป็นนักลงทุนแนว “ไฮบริด” นั่นคือใช้ทั้งหลัก VI และเทคนิคผสมกัน มักซื้อหุ้นที่กำลังร้อนแรงและเมื่อราคาขึ้นไปทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำก็จะขายทิ้งซึ่งก็ทำให้ “รอดตัว” เมื่อหุ้นตัวนั้นตกจนบางครั้งเป็นหายนะ เขาเล่าเรื่องการเล่นหุ้นบางตัวที่เคยร้อนแรงมากและเขาได้กำไรมากเป็น “หลายแสนบาท” ก่อนที่มันจะกลายเป็นกิจการที่กำลังล้มละลายในตอนนี้
เช่นเดียวกับหุ้นอย่าง ปตท. ในช่วงก่อนที่มันจะปรับขึ้นไปหลายเท่า เขาทำกำไรกับมันเป็นกอบเป็นกำ และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขา “มีอิสรภาพทางการเงิน” หลังจากลงทุนได้ประมาณ 12 ปีจากอายุ 23 ถึง 35 ปี หลังจากนั้นเขาก็เกษียณอายุออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวจากการเป็นพนักงานของบริษัทข้ามชาติผู้ให้บริการ IT แห่งหนึ่ง และเป็นนักลงทุนเต็มตัวมาได้ 7 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุ 42 ปี เขาได้กลับเข้ามาทำงานกินเงินเดือนอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้หลังจากที่ตลาดหุ้นเงียบเหงาและเขาไม่ค่อยได้ทำอะไรกับหุ้นมาประมาณ 2 ปีแล้ว หุ้นที่ถืออยู่ก็แค่ 20% ของเงินที่มีอยู่ นี่เป็นการกลับมาทำงานประจำที่ไม่ได้มาจากการที่หุ้นตกและเต้ขาดทุนหนักแต่มาด้วยเหตุผลอื่น
เมื่อเต้ตัดสินใจเกษียณตอนอายุ 35 ปีนั้น เขาคาดหวังที่จะใช้ชีวิตที่เขาชอบ เขาตัวคนเดียวไม่มีแฟนและไม่มีภาระที่จะต้องดูแลพ่อแม่แม้ว่าเขายังอยู่บ้านพ่อแม่ เขาใช้ชีวิตที่สมถะไม่ฟุ้งเฟ้อไม่เคยใช้จ่ายกับอะไรมากมาย วัน ๆ หนึ่งก็ใช้ “ไม่กี่บาท” เขาไม่ได้มีเพื่อนมากมาย เพื่อนที่เป็นนักลงทุนเขาก็ไม่ได้คบค้าเป็นเรื่องเป็นราว เขาไม่มี “ก๊วน” ลงทุนที่แลกเปลี่ยนข้อมูลหรือร่วมกันเล่นหุ้นตัวเดียวกัน เขามีแนวทางและการดำเนินชีวิตของตนเอง เขาเที่ยวต่างประเทศในช่วงต้น ๆ และก็อ่านหนังสือมาก เวลาผ่านไปหลายปีที่เขานั่งทำงานหรือลงทุนอยู่กับบ้านนั้น เพื่อน ๆ ของเขาต่างก็ทยอยแต่งงานมีครอบครัว บางคนก็คงห่างเหินกันไป ชีวิตเขาเริ่มเหงา
วันหนึ่งเขาได้อ่านพบว่าคุณหมอชื่อดังคนหนึ่งอายุ 90 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังทำงานและบอกว่าเหตุผลของการทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นการทำตัวให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า มีเงินแต่ไม่ทำงานนั้นชีวิตก็อาจจะไร้ความหมาย นั่นทำให้เต้เริ่มคิดว่าการลงทุนที่ตนเองทำอยู่นั้น อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรต่อคนอื่น นอกจากนั้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เขาเริ่มคิดว่าเงินที่มีอยู่นั้นก็อาจจะไม่พอที่จะใช้ชีวิตตลอดไปเนื่องจากค่าเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมเองคิดว่าผลตอบแทนของการลงทุนที่ลดลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาน่าจะทำให้เขาเริ่มคิดว่า เขาอาจจะยังไม่ได้มีอิสรภาพทางการเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ การเจ็บป่วยรุนแรงก็อาจจะทำให้ความมั่งคั่งหายไปได้อย่างง่ายดาย
เหตุผลของเต้ที่ต้องการกลับมาทำงานยังมีต่อ เขาเริ่มรู้สึกว่าการมีสังคมของเพื่อนร่วมงานในออฟฟิสนั้นเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์และดีกว่าการนั่งทำงานอยู่คนเดียวที่บ้าน เขามีเวลาปรึกษาพูดคุยกับคนอื่น ดูเหมือนว่าเขาอยากจะมีความรักกับผู้หญิงซักคนที่จะเป็นคู่คิด เขาคงเห็นจากเพื่อนที่มีครอบครัวและบางคนก็อาจจะมีลูก ความเป็น “อิสระ” ที่จะทำอะไรก็ได้นั้นดูเหมือนว่าอาจจะเป็น “ภาพลวงตา” เวลาที่ยังไม่มีเราก็อาจจะอยากได้มันมาก แต่เมื่อเราได้มันมาจน “ชิน” แล้ว มันก็อาจจะเป็นชีวิตที่ไม่ค่อยมีความหมาย เราอยากมีเพื่อน เราอยากได้รับการยอมรับ เราอยากเป็นที่พึ่งของใครบางคน
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เต้กลับมาทำงานเป็น “ผู้จัดการ” ในโครงการเกี่ยวกับ IT ให้กับธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในขณะนี้ด้วยรายได้ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นเงิน 6 หลักต่อเดือน และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เต้บอกว่าเป็นสิ่งที่ดีที่คนเราจะต้องมีรายได้หลาย ๆ ทางตามแนวของหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” นั่นก็คือ มีทั้งเงินเดือน ปันผลหรือกำไรจากการลงทุนในหุ้น และค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น นี่จะทำให้ชีวิตการเงินของเรามั่นคงกว่าการพึ่งการลงทุนในหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว
ในความรู้สึกของผม สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปคงทำให้ความคิดของเต้เปลี่ยนไป อายุและความรอบรู้จากการอ่านและศึกษาในช่วงเวลาที่ค่อนข้างว่างในฐานะนักลงทุนเต็มตัวก็น่าจะมีส่วนมาก ในยามที่อายุยังน้อย คนก็มักจะไม่ค่อยคิดถึงอนาคตที่ยาวไกล พวกเขากล้าเสี่ยงกว่า พวกเขามีเพื่อนที่มีเสรีภาพมากกว่าในชีวิตเพราะไม่มี “ภาระ” อะไรที่จะต้องรับผิดชอบซึ่งทำให้รู้สึกสนุกสนานรื่นรมย์ แต่ทั้งหมดนั้นในไม่ช้าก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถึงตัวเราไม่เปลี่ยนแต่คนอื่นรวมถึงเพื่อนฝูงและคนรอบตัวก็เปลี่ยน ดังนั้น ความคิดและมุมมองต่อโลกของเราก็มักจะเปลี่ยน
ผมเองเห็นด้วยกับเต้ในการกลับมาทำงานประจำ มันไม่ใช่เรื่องของความล้มเหลวของการลาออกจากงานมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวตั้งแต่อายุ 35 ปีด้วยเงินที่ “ยังไม่เพียงพอ” และยังไม่ได้มี “อิสรภาพทางการเงิน” จริง ๆ เขาอาจจะตัดสินใจ “ผิดพลาด” เพราะในยามนั้นเขาอาจจะยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้รับก็ยังไม่ถูกต้องเฉพาะอย่างยิ่งที่อาจจะคิดว่าการลงทุนจะได้ผลตอบแทนสูงอย่างที่เคยได้รับไปเรื่อย ๆ และค่าใช้จ่ายที่คิดว่าจะคงที่ไปเรื่อย ๆ
แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากก็คือ เต้กล้าตัดสินใจกลับมาทำงานและดูเหมือนว่าจะมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เขาเคย “หนี” จากมา เพราะผมเชื่อว่า ด้วยอายุขณะนี้และฐานะการเงินที่เป็นอยู่ เขาควรที่จะยังทำงานประจำที่มีรายได้ที่มีนัยสำคัญและมั่นคง มีสังคมที่หลากหลาย โดยที่การลงทุนนั้นน่าจะเป็นกิจกรรมรองที่สำคัญอย่างยิ่งแต่ไม่ได้ใช้เวลามาก ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันเป็นการลงทุนระยะยาว อาจจะเป็นแบบ VI หรือลงทุนในกองทุนอิงดัชนีในตลาดหุ้นที่ยังโตและมีอนาคต
ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองนั้น ผมเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 50 ปีต้น ๆ เพื่อมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ในวันนั้น ผมเองพร้อมเต็มที่ในทุกด้านที่จะใช้ชีวิตอย่างเสรีและมีความสุขที่ได้ “หนี” ออกจากงานประจำที่น่าเบื่อและ “อันตราย” ถึงวันนี้ผมคิดว่าผมตัดสินใจถูกต้องและจะไม่หวนกลับไปทำงานที่ไม่ชอบอีกเลย พอร์ตหุ้นของผมในตอนนั้นใหญ่พอที่จะสร้างรายได้ต่อปีสูงกว่า 5 เท่าของรายได้จากการทำงานประจำ
นอกจากนั้น ผมเองก็สามารถใช้ชีวิตที่มี “คุณค่า” นั่นก็คือการเผยแพร่ความรู้ทางการลงทุนผ่านข้อเขียนและสื่อต่าง ๆ เช่นเดียวกับชีวิตสังคมและครอบครัวที่ “ลงตัว” หมดแล้ว ซึ่งทั้งหมดก็คือเงื่อนไขสำคัญก่อนที่เราจะเกษียณจากงานประจำ ผมคิดว่าวันหนึ่งเต้เองก็อาจจะกลับไปเกษียณก่อนกำหนดอีกครั้งก็เป็นได้เมื่อทุกอย่างพร้อม อาจจะอีก 10 ปีข้างหน้าเมื่อเขาอายุ 50 ต้น ๆ อย่างที่ผมเคยทำ และวันนั้นก็จะเป็นวันที่เขามีความสุขที่แท้จริง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.