กรณีศึกษา Evernote ยูนิคอร์นที่เจอปัญหา

กรณีศึกษา Evernote ยูนิคอร์นที่เจอปัญหา

13 มิ.ย. 2019
กรณีศึกษา Evernote ยูนิคอร์นที่เจอปัญหา / โดย ลงทุนแมน
คำว่า ยูนิคอร์น มักเป็นสิ่งที่เหล่าบริษัทสตาร์ตอัป ตั้งเอาไว้เป็นเป้าหมาย
นั่นก็คือ การมีมูลค่าธุรกิจสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.2 หมื่นล้านบาท
แต่ใช่ว่า เมื่อก้าวไปสู่จุดนั้นแล้ว ทุกอย่างรอบตัวจะสวยหรูเสมอไป
ดังเช่นในกรณีของแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Evernote”
ยูนิคอร์นตัวนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังมานานหลายปี แต่ภายหลัง กลับต้องเผชิญกับปัญหา ไม่สามารถทำได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Evernote คือ แอปพลิเคชันสำหรับจดบันทึก ที่มีฟีเจอร์ให้ตกแต่งข้อความ ทั้งในรูปแบบภาพหรือเสียง โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกจัดเก็บไว้บนโลกออนไลน์
บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นโดยนาย สเตปาน พาชิคอฟ และเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2008
Cr. Vimeo
ในตอนแรก Evernote เป็นแพลตฟอร์มบนเว็บไซต์ แต่เมื่อได้เห็นแนวโน้มการใช้ Smart Device ที่เพิ่มขึ้น จึงหันมาพัฒนาแอปพลิเคชัน
ซึ่ง Evernote ถือเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ในตลาดขณะนั้น ที่นำเสนอบริการเกี่ยวกับระบบคลาวด์
ทั้งนี้ Evernote ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Freemium
คือ มีบัญชีแบบ Basic ที่เปิดให้ใช้งานฟรี แต่หากเสียค่าสมาชิก จะมีฟีเจอร์เสริมให้ใช้เพิ่มเติม
ฟีเจอร์เสริมมีอะไรบ้าง?
บัญชีแบบ Premium ค่าบริการ 100 บาทต่อเดือน
ผู้ใช้สามารถเซฟ หรืออัปโหลดไฟล์ได้ขนาดใหญ่ขึ้น
บัญชีแบบ Business ค่าบริการ 390 บาทต่อคนต่อเดือน
ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้
การที่บริษัทเข้าสู่ตลาดก่อนรายอื่น ประกอบกับมีให้ใช้ฟรี ทำให้ Evernote ขยายฐานผู้ใช้แอปได้อย่างรวดเร็ว
ปี 2010 มีผู้ใช้บริการ 5 ล้านบัญชี
ปี 2012 มีผู้ใช้บริการ 34 ล้านบัญชี
ปี 2014 มีผู้ใช้บริการ 101 ล้านบัญชี
ปี 2016 มีผู้ใช้บริการ 200 ล้านบัญชี
ปี 2018 มีผู้ใช้บริการ 225 ล้านบัญชี
โดยปัจจุบัน มีโน้ตถูกสร้างขึ้น 8 พันล้านไฟล์ และข้อมูลบนคลาวด์ มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านกิกะไบต์
ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่การระดมทุนในปี 2012 นั้น Evernote จึงถูกประเมินมูลค่าธุรกิจไว้ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นบริษัทสตาร์ตอัป ระดับยูนิคอร์น
อย่างไรก็ตาม แม้อนาคตจะดูสดใส
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์กลายเป็นตรงกันข้าม

เพราะบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ ในการเปลี่ยนจำนวนลูกค้าในมือ ให้ก่อเกิดเป็นรายได้ของธุรกิจ
รายได้ของ Evernote อยู่ที่ราว 1,150 ล้านบาท น้อยกว่าที่นักลงทุนคาดหวังเอาไว้มาก
เนื่องจาก บริการเสริมต่างๆ ในแอป ยังไม่น่าจูงใจพอที่จะทำให้ผู้ใช้แบบบัญชีฟรี เปลี่ยนมาเป็นแบบบัญชีเสียเงินได้
ซึ่ง Evernote ก็ไม่ได้เน้นการพัฒนาฟีเจอร์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
แต่กลับไปมุ่งสร้างแอปพลิเคชันประเภทอื่น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยหวังสร้างเป็น Ecosystem ของตนเองขึ้นมา
ยกตัวอย่างเช่น
Skitch แอปเพิ่มเเคปชันในรูปภาพ
Work Chat แอปแช็ตสำหรับคนทำงาน
Evernote Market แอปขายอุปกรณ์สำนักงาน
Evernote Food แอปที่ให้คนแชร์สูตรและภาพอาหาร
Cr. iClarified
ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆ นั้น ไม่ได้รับผลตอบรับเรื่องความพึงพอใจจากผู้ใช้สักเท่าไร จนบางแอปต้องปิดตัวลงไป และผู้ใช้ก็ยังไม่ยอมเสียเงินให้กับ Evernote อยู่ดี
สิ่งที่ทำให้ลูกค้ายอมเสียเงิน อาจไม่ใช่ความหลากหลายของสินค้าหรือบริการ อย่างที่ Evernote คิด
เรื่องราวนี้ ทำให้เราเรียนรู้ว่า
ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ การมุ่งสร้างจำนวนลูกค้าให้ได้มากที่สุด คงไม่ใช่สิ่งผิดอะไร
แต่หากทำโดยไม่มีแผนการขั้นต่อไป ว่าจะใช้วิธีใดในการสร้างรายได้ หรือฐานผู้ใช้ ให้มีความมั่นคงในระยะยาว
สิ่งที่ทำมาทั้งหมด ก็อาจจะไม่มีความหมาย
เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
สุดท้ายแล้ว วัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจ ก็คือ การทำกำไร..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.businessinsider.com/evernote-is-in-deep-trouble-2015-10
-https://techcrunch.com/2018/09/04/evernote-lost-its-cto-cfo-cpo-and-hr-head-in-the-last-month-as-it-eyes-another-fundraise/
-https://www.statista.com/statistics/446885/number-of-evernote-users/
-https://evernote.com/compare-plans
-https://expandedramblings.com/index.php/evernote-statistics/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.