การบิดเบือนค่าเงินระหว่างประเทศ คืออะไร

การบิดเบือนค่าเงินระหว่างประเทศ คืออะไร

12 มิ.ย. 2019
การบิดเบือนค่าเงินระหว่างประเทศ คืออะไร / โดย ลงทุนแมน
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากที่สุดในโลก
หนึ่งในสาเหตุหลักคือ การขาดดุลการค้า
ลองมาดูการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปี 2016 ขาดดุลการค้า 16.1 ล้านล้านบาท
ปี 2017 ขาดดุลการค้า 17.7 ล้านล้านบาท
ปี 2018 ขาดดุลการค้า 19.8 ล้านล้านบาท
เมื่อดูจากข้อมูลแล้ว มูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกามีมูลค่ามากกว่า GDP ของประเทศไทยที่ 15.6 ล้านล้านบาทเสียอีก
และถ้านับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกามีการขาดดุลการค้ารวมกันไปแล้วกว่า 327 ล้านล้านบาท
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมองว่า ประเทศคู่ค้าของตนนั้นใช้มาตรการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
นั่นจึงเป็นที่มาของการเจรจาต่อรองทางการค้า หรือแม้แต่ทำสงครามการค้าอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ามากที่สุด
หนึ่งในมาตรการที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้คือ ตรวจสอบรายชื่อประเทศที่คาดว่าจะมีการบิดเบือนค่าเงิน เพื่อหวังผลทางการค้าหรือที่เรียกว่า Currency Manipulation
ซึ่งวิธีการดังกล่าวคือ การที่ธนาคารกลางเข้ามาแทรกแซงด้วยการทำให้ค่าเงินของประเทศตนเองอ่อนค่าลงกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า
แล้วการแทรกแซงค่าเงินทำให้ได้เปรียบอย่างไร?
ลองนึกภาพว่า
ถ้าจีนส่งออกปากกาไปขายที่สหรัฐฯ ณ อัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 6 หยวน
ต่อมาเมื่อเงินหยวนอ่อนค่าลง ไปเป็น 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 6.5 หยวน หมายความว่า ตอนนี้ผู้นำเข้าชาวอเมริกันใช้เงินน้อยลงเพื่อซื้อปากกาด้ามเดิม
สรุปแล้ว ประเทศไหนที่เงินอ่อนค่าลง จะก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้ากับประเทศคู่ค้า
Cr. Fortune
โดยเกณฑ์ที่ทางกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ นำมาใช้เพื่อดูว่าประเทศไหนมีการบิดเบือนค่าเงินจะมี 3 เกณฑ์คือ
1. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของ GDP
2. การเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
3. การสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 2% ของ GDP
ซึ่งผลการตรวจสอบล่าสุดนั้นมี 9 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อที่สหรัฐอเมริกากำลังเฝ้าดูอยู่ ประกอบไปด้วย
จีน
ญี่ปุ่น
เกาหลีใต้
เยอรมนี
สิงคโปร์
มาเลเซีย
อิตาลี
ไอร์แลนด์
เวียดนาม
แม้ว่าจะไม่มีประเทศไหนที่เข้าทั้ง 3 เกณฑ์ แต่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เชื่อว่า บางประเทศที่เข้าเกณฑ์เพียง 1 หรือ 2 เกณฑ์อาจจะอยู่ในข่ายบิดเบือนค่าเงินได้
สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เฝ้าดูอยู่
โดยในปี 2018 ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 7.4% ของ GDP มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาจำนวน 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่ 6.7 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ได้เพิ่มจากปีก่อนหน้ามากนัก
อย่างไรก็ตาม บางครั้งการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของค่าเงินนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ
ทั้งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ความสงบเรียบร้อยในประเทศ โดยที่อาจไม่ได้มาจากการเข้ามาแทรกแซงของธนาคารกลางเลยก็ได้
หรือบางกรณีธนาคารกลางอาจเข้าแทรกแซงค่าเงินจริง แต่มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนเท่านั้น โดยไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการค้า
แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกาในตอนนี้จะเน้นความสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
และน่าจะมีมาตรการหลายเรื่องออกมา เพื่อไม่ให้เสียเปรียบประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในโลกนี้..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.