"ลิง" พันธุ์เดียวผู้ครองโลก / โดย ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ

"ลิง" พันธุ์เดียวผู้ครองโลก / โดย ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ

19 ส.ค. 2017
ในโลกอายุ 4,500 ล้านปีใบนี้ บรรพบุรุษของมนุษย์มีเส้นทางอันน่าทึ่งอย่างยิ่ง เพราะจากที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 27 สปีชีส์ ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง Homo sapiens ซึ่งเป็นพวกเราเท่านั้น มันเกิดอะไรขึ้น และเราสามารถเอามาใช้เป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาอนาคตได้อย่างไร

ในครอบครัว Hominidae (homonids) หรือที่เรียกว่า great ape (ลิงใหญ่) นั้นมี 7 สปีชีส์ที่หลงเหลืออยู่ กล่าวคือ ใน Orangutan (ลิงอุรังอุตัง) 2 สปีชีส์ ใน Gorilla 2 สปีชีส์ ใน Pan (ลิงชิมแปนซีกับลิง bonobo) 2 สปีชีส์ และใน Homo ​1 สปีชีส์
ในสปีชีส์ Homo นั้นที่มีหลงเหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียวก็คือ Homo sapiens ซึ่งคือท่านผู้อ่าน ผู้เขียน และสมาชิกรวม 7 พันล้านคนในขณะนี้ ที่น่าสงสัยก็คือญาติๆ ของเราหายไปไหนกันหมดอย่างน่าเหงาใจ ​​
ผู้เขียนขอย้อนหลังกลับไปยังจุดเปลี่ยนของโลกเมื่อ 7 ล้านปีก่อน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกครั้งสำคัญ จนทำให้พื้นที่ป่าเขตร้อน (rainforest) อันกว้างขวางในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์ แปรเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าแบบไม่มีต้นไม้ใหญ่หนาแน่น (savannas) การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีผลอย่างสำคัญต่อกลุ่ม ape อันประกอบด้วย great ape และ ape พันธุ์เล็ก ซึ่งปัจจุบันมีสปีชีส์หลงเหลืออยู่ 2 สปีชีส์ คือ ชะนี (Gibbons) และลิงขนาดเล็กอื่นๆ

โดยปกติแล้ว เมื่ออยู่ในป่าเขตร้อน สัตว์เหล่านี้ดำรงชีพด้วยการปีนต้นไม้หาอาหาร ซึ่งได้แก่ลูกไม้เล็ก ผลไม้ ถั่ว ฯลฯ โดยมีหัวแม่โป้งเท้าขนาดใหญ่และโค้ง เพื่อช่วยให้สามารถปีนลำต้นและกิ่งได้อย่างกระชับ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเป็นทุ่งหญ้า ความสามารถในการปีนต้นไม้เพื่อหาอาหารจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากมีต้นไม้จำนวนน้อยให้ปีน
​เมื่อต้องอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า ศัตรูที่จ้องไล่ล่าก็มีมากขึ้น จึงเกิดวิวัฒนาการทางพันธุกรรมขึ้นในสปีชีส์ Homo กล่าวคือ หัวแม่โป้งเท้าไม่โค้งงออย่างเดิม แต่ตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถรับน้ำหนักร่างกายได้มากขึ้น โดยไม่ต้องใช้มือแตะดินเพื่อช่วยพยุงตัวอีกต่อไป (หัวแม่เท้ารับได้ 30% ของน้ำหนักตัว) ดังนั้น จึงสามารถเดินตัวตรงและใช้มือสองข้างได้อย่างเสรี ​
หัวแม่เท้าตรงทำให้สามารถวิ่ง กระโดด เปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว นอกจากนี้ การยืนตัวตรงทำให้สามารถเฝ้าระวังศัตรูและมองหาเหยื่อได้ไกลขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยให้สามารถมีชีวิตรอดในสิ่งแวดล้อมใหม่ได้เป็นอย่างดี
วิวัฒนาการทางพันธุกรรมของสปีชีส์ Homo มิได้มีเพียงเท่านี้ การมีมันสมองที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน อีกประเด็นสำคัญก็คือ การอยู่อาศัยในทุ่งหญ้าทำให้ต้องหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ซึ่งให้พลังงานมากกว่าอาหารดั้งเดิม และเสริมให้มีขนาดมันสมองใหญ่ขึ้นอีก
ถึงแม้การเดินตัวตรงและมีมันสมองใหญ่จะสร้างข้อได้เปรียบ แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการคลอดทารก กล่าวคือ การเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วจากการเดินสองขาตัวตรงทำให้เชิงกรานเล็กลง ในขณะที่สมองและกะโหลกกลับใหญ่ขึ้น
แล้ววิวัฒนาการทางพันธุกรรมก็เข้ามาช่วยเหลือ ​บรรพบุรุษของเราเริ่มอยู่ในครรภ์สั้นลง ทั้งนี้เพื่อมิให้หัวโตเกินไปจนคลอดออกมาไม่ได้ กอริลลาญาติไม่ห่างของเราใช้เวลาอยู่ในท้องนานถึง 20 เดือน เมื่อเทียบกับระดับพัฒนาการเดียวกันของมนุษย์ในครรภ์ ซึ่งใช้เวลาเพียง 9 เดือนเศษ ​​
การพัฒนานอกครรภ์ของ Homo sapiens สร้างข้อได้เปรียบเหนือญาติพี่น้องอื่นๆ อย่างสำคัญ ลิงชิมแปนซีใช้เวลา 11-12 ปี กว่าจะเป็นหนุ่มสาวเต็มตัว ในขณะที่มนุษย์ใช้เวลา 20 ปี เพื่อให้สมองและร่างกายพัฒนาได้เต็มที่ ​
ช่วงเวลาที่อยู่นอกครรภ์มากขึ้นทำให้มนุษย์มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาความคิด ตลอดจนทักษะต่างๆ ได้มากกว่า จนนำไปสู่ความสามารถในการจัดการและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ และพัฒนาการด้านวัฒนธรรม ​
เมื่อเวลาเดินทางมาถึง 1.9 ล้านปีก่อน สปีชีส์ Homo ซึ่งพัฒนามาไกลในการมีชีวิตอยู่รอดในทุ่งหญ้า ก็เริ่มออกจากทวีปแอฟริกาและกระจายไปทั่วโลก สปีชีส์ Homo ที่เริ่มพัฒนาก่อนเพื่อนคือ Homo erectus ซึ่งรู้จักใช้ไฟ ประดิษฐ์เครื่องมือจากหิน และเดินทางไปไกลถึงตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ยุโรป และอินโดนีเซีย ​
สปีชีส์อันหลากหลายของ Homo ดำรงอยู่และสูญหายไป โดยมิได้มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกันทั้งหมด เนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น โรคระบาด การพ่ายแพ้ศัตรูที่จ้องทำลาย การต่อสู้ การพ่ายแพ้สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรม ฯลฯ สมาชิกทั้งหมดของสปีชีส์นี้อาศัยอยู่ในเกือบทุกพื้นที่ของโลก โดยสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี มากน้อยแล้วแต่เงื่อนไขซึ่งแตกต่างกันออกไป
​Homo sapiens มีบรรพบุรุษที่ใกล้ชิดมากที่สุดคือ Homo neanderthalis หรือที่รู้จักกันในชื่อ Neanderthals
Neanderthals มีสมองขนาดใหญ่ใกล้เคียงมนุษย์ มีความสามารถและการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกับ Homo sapiens เพียงแต่ด้อยกว่าในเรื่องการใช้ภาษาสื่อสาร Neanderthals มีชีวิตอยู่เมื่อ 250,000 ปีก่อน และสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 20,000-40,000 ปีก่อน ​
จุดอ่อนของ Neanderthals ก็คือเติบโตเร็วเกินไป ร่างกายเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์เมื่ออายุ 15 ปี หรือเร็วกว่ามนุษย์ 5 ปี จนมีเวลาเรียนรู้ในวัยเด็กน้อยกว่า เชื่อกันว่าอากาศหนาวของยุโรปซึ่งเป็นแหล่งพักพิงมีผลต่อพันธุกรรมให้เป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้นเพื่อความอยู่รอด แต่ราคาที่ต้องจ่ายก็คือมีเวลาเรียนรู้ก่อนเป็นผู้ใหญ่สั้น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่ามีการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Homo sapiens และ Neandertals เพราะ 1-4% ของ DNA มนุษย์มาจาก Neandertals
​เมื่อ 70,000 ปีก่อน Homo sapiens เกือบสูญพันธุ์เพราะเกิดปรากฏการณ์ภูเขาไฟขนาดใหญ่ระเบิด มีฝุ่นฟุ้งกระจายมากมายบดบังแสงอาทิตย์ จนทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความยากลำบาก วงวิชาการเชื่อว่ามีจำนวนลดลงเหลือประมาณ 10,000 คน เท่านั้นเอง
​อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาจำนวน Homo sapiens ก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และครอบครองโลกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือกว่าสัตว์และสปีชีส์ของ Homo ด้วยกันเอง ​
Homo sapiens แตกต่างจากเผ่าพันธุ์อื่น เพราะมีความสามารถในการคิดเชิงสัญลักษณ์ จนพัฒนาขึ้นเป็นภาษาที่ซับซ้อนและทำให้สามารถ “ตระหนักความมีตัวตน” (self-awareness) ได้ในที่สุด
​ความสามารถในการใช้สัญลักษณ์ เช่น ตัวอักษร ตัวเลข ภาพ ฯลฯ ทำให้สื่อสารถึงกันได้ เกิดการเรียนรู้ วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดในคนหมู่มากได้ จนเกิดความแตกฉานในทักษะความรู้และปัญญา ​
ประเด็นสำคัญของการคิดเชิงสัญลักษณ์ก็คือ การทำให้เกิดการมองเห็นตัวเอง รู้ว่าตนเองมีตัวตน เช่น ข้อความในภาษาที่คนอื่นกล่าวถึงตนหรือกลุ่มตน ผลจากกระบวนการนี้ก็คือทำให้สามารถรู้จักตนเอง อันนำไปสู่ความสามารถในการวางแผนและประเมินพฤติกรรมของตนเอง
​เมื่อ 67,000 ปีก่อน Homo sapiens ย้ายถิ่นฐานไปจนถึงจีน 40,000 ปีก่อน ถึงยุโรปและออสเตรเลีย 20,000 ปีก่อน ข้ามดินแดนซึ่งเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างรัสเซียและอลาสกา และ 13,000 ปีก่อน ไปถึงอเมริกาใต้ ​
สาเหตุของการสูญหายไปของญาติมนุษย์ นอกจากศึกสงคราม (มีหลักฐานว่ากินกันเองด้วย) แล้ว การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งที่อยู่อาศัย และการใช้ความสามารถทางความคิดที่เหนือกว่าของ Homo sapiens รุกไล่ จนกลายเป็น Homo พันธุ์เดียวที่หลงเหลืออยู่ ​
ความรู้ที่กล่าวถึงข้างต้นเพิ่งเกิดขึ้นในรอบ 180 ปี หลายประเด็นเป็นการใช้เหตุใช้ผลประกอบกับหลักฐานที่มีไม่มากนัก ดังนั้นความรู้ใหม่ที่ขัดแย้งจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ข้อมูลส่วนหนึ่งของข้อเขียนนี้มาจาก Last Ape Standing (2013) โดย Chip Walter ​
บทเรียนสำคัญก็คือ มนุษย์มีข้อได้เปรียบอย่างยิ่งที่มีช่วงเวลาถึง 20 ปี จากทารกจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ ช่วงการเรียนรู้ยาวนานเช่นนี้จึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรปล่อยให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ความจริงนี้เป็นเรื่องที่ควรใคร่ครวญทั้งในระดับรวมของประเทศและของครอบครัว
ที่มา: https://www.the101.world
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.