กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจ ลูกชิ้นทิพย์พันล้าน

กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจ ลูกชิ้นทิพย์พันล้าน

11 มิ.ย. 2019
กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจ ลูกชิ้นทิพย์พันล้าน / โดย ลงทุนแมน
การขายลูกชิ้นปิ้งอาจเป็นธุรกิจที่หลายคนมองข้าม
แต่เชื่อหรือไม่ว่าลูกชิ้นปิ้งที่ขายไม้ละ 5 บาท
สามารถสร้างรายได้มากถึงพันล้านบาท
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หนึ่งในปัจจัยที่จะตัดสินว่าธุรกิจจะเติบโตได้มากแค่ไหนก็คือ ความสามารถใน “การสเกล” หรือทำขายในปริมาณมาก
ลองนึกภาพถึง Facebook ที่ลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชันครั้งเดียว
แต่สามารถรองรับผู้ใช้งานหลายล้านคนทั่วโลก
ดังนั้นเวลาพูดถึงธุรกิจที่มีความสามารถในการสเกล
หลายคนจึงอาจนึกถึงสตาร์ตอัปที่พัฒนาแอปพลิเคชัน
แต่เราอาจจะมองข้ามธุรกิจใกล้ตัวเราที่สามารถทำได้เหมือนกัน
ธุรกิจที่ลงทุนแมนพูดถึงก็คือ ธุรกิจลูกชิ้นปิ้ง
หนึ่งในแฟรนไชส์ลูกชิ้นที่พบเห็นได้ทั่วไปก็คือแบรนด์ “ลูกชิ้นทิพย์”
เจ้าของลูกชิ้นทิพย์คือ คุณศราลี พรอำนวย
Cr. เส้นทางเศรษฐี
จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่จะมาจับธุรกิจลูกชิ้น
คุณศราลี ได้ผ่านการทำธุรกิจมาหลายอย่าง
เริ่มจากการเปิดแผงหมู ก่อนจะหยุดกิจการเพื่อกลับมาดูแลคุณแม่สามีที่มีอายุมาก
แต่ด้วยความเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่เฉย จึงเริ่มรับจ้างทำงานหลายๆ อย่าง
รวมถึงการรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปขายตามตลาดนัด
เรื่องนี้ทำให้คุณศราลีมีเงินเก็บมากพอจะเป็นทุนขยายธุรกิจ
เธอมีความคิดที่จะผลิตเสื้อผ้าของตัวเอง
แต่ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ทำให้กิจการไปต่อไม่ได้
หลังจากนั้นคุณศราลีก็ได้หันมาเปิดร้านเครปที่คิดสูตรเอง
ตอนแรกก็ขายดี แต่ต่อมากลับโดนโกงเนื่องจากคุมลูกน้องไม่ได้
คุณศราลีจึงเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่เป็นการขายแฟรนไชส์ร้านเครปแทน
ใช้เวลาไม่นาน แบรนด์ของเธอก็ติดตลาด
อย่างไรก็ตาม เครปกลับเป็นเหมือนสินค้าแฟชั่นที่ได้รับความนิยมเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ทำให้ขายดีแค่ในช่วงแรก แต่พอคนเริ่มเบื่อ ยอดขายก็ตก
คุณศราลีจึงเริ่มต้นในธุรกิจใหม่อีกครั้ง
รอบนี้เธอขายไอศกรีมกะทิใส่เครื่องแบบโบราณ ชื่อว่า “ทิพย์สุคนธ์”
โดยเลือกทำเลบริเวณห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก
ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น
แต่อยู่ดีๆ ยอดขายสาขาแห่งหนึ่งกลับตกลงอย่างเห็นได้ชัด
ตอนแรกเธอก็คิดว่าอาจจะโดนโกงอีกครั้ง
แต่เมื่อคุณศราลีไปดูที่ร้านสาขานั้น
กลับพบว่าเป็นเพราะมีร้านลูกชิ้นปิ้งมาเปิด
ลูกชิ้นปิ้งร้านนี้ขายดีมาก มีทั้งลูกค้าที่ยืนกิน และซื้อกลับบ้าน
เรื่องนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณศราลีสนใจในธุรกิจลูกชิ้นปิ้ง
เธอตั้งชื่อแบรนด์ว่า “ลูกชิ้นทิพย์”
แรกๆ ก็รับลูกชิ้นจากโรงงานมาปิ้งขายเอง
พอแบรนด์ของเธอเริ่มติดตลาดก็มักจะมีคนมาขอซื้อลูกชิ้นไปขายต่อ
แต่เนื่องจากเธอไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองจึงทำให้ได้กำไรน้อย
คุณศราลีจึงตัดสินใจลองผิดลองถูกพัฒนาสูตรลูกชิ้นของตัวเอง
จากนั้นจึงลงทุนสร้างโรงงาน โดยเริ่มจากพื้นที่อาคารพาณิชย์ 2 คูหาก่อน
เวลาผ่านไปไม่นาน สินค้าก็ได้รับความนิยมเกินคาด
จนกำลังการผลิตไม่เพียงพอ และต้องขยายโรงงานอีกหลายครั้ง
ปัจจุบันลูกชิ้นทิพย์มีทั้งขายแฟรนไชส์ และขายส่ง
โดยเพียงแค่จำนวนร้านแฟรนไชส์ทั่วประเทศก็มีเกือบ 400 สาขาแล้ว
คุณศราลีได้จดทะเบียนธุรกิจลูกชิ้นทิพย์ภายใต้ 2 บริษัท
บริษัท พงษ์-ศรา แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด สำหรับส่วนผลิต
และบริษัท พงษ์-ศรา ดิสทริบิวชั่น จำกัด สำหรับจัดจำหน่าย
แล้วผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นอย่างไร?
บริษัท พงษ์-ศรา แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
ปี 2559 รายได้ 413.8 ล้านบาท กำไร 43.2 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 471.8 ล้านบาท กำไร 65.0 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 977.0 ล้านบาท กำไร 57.4 ล้านบาท
บริษัท พงษ์-ศรา ดิสทริบิวชั่น จำกัด
ปี 2559 รายได้ 633.6 ล้านบาท กำไร 48.5 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 781.7 ล้านบาท กำไร 59.1 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,640.3 ล้านบาท กำไร 16.5 ล้านบาท
ใครจะไปคิดว่าธุรกิจผลิตลูกชิ้นจะมีรายได้เป็นพันล้านบาท
Cr. MCOT HD
เรื่องนี้บอกอะไรกับเรา?
การทำธุรกิจในบางครั้งต้องดูที่โมเดล
ในบางครั้งการออกแรงหนึ่งครั้ง แล้วทำซ้ำ จะได้ผลปลายทางที่ยิ่งใหญ่กว่า ออกแรงแล้วทำซ้ำไม่ได้
โมเดลธุรกิจของการผลิตลูกชิ้น มีจุดเด่นคือ สามารถสเกลการผลิตได้ในปริมาณมาก โดยยังควบคุมคุณภาพได้ แม้ว่าจะผลิตเพิ่มขึ้น
ต่างจากธุรกิจอื่นอย่างร้านอาหาร ที่หากเปิดสาขาใหม่ คุณภาพก็อาจไม่เท่าเดิม
ที่น่าสนใจคือ ในบางครั้งการสเกลอาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้น
แต่เป็นสิ่งพื้นฐานที่เรียบง่ายจนเราคิดไม่ถึง
เหมือนลูกชิ้นทิพย์ของคุณศราลี
ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
เทคโนโลยีเปลี่ยนไป อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแค่ไหน
คนไทยก็น่าจะยังกินลูกชิ้นกันอยู่..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.lookchinthip.com/?page_id=6872
-http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=0714010959&srcday=&search=no
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.