คนญี่ปุ่นต้องใช้บริการของ Rakuten อย่างน้อยหนึ่งอย่าง

คนญี่ปุ่นต้องใช้บริการของ Rakuten อย่างน้อยหนึ่งอย่าง

7 มิ.ย. 2019
คนญี่ปุ่นต้องใช้บริการของ Rakuten อย่างน้อยหนึ่งอย่าง / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงบริษัทผู้นำธุรกิจค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจจะนึกถึง
Amazon จากสหรัฐอเมริกา
Alibaba จากจีน
แต่ถ้าพูดถึงประเทศญี่ปุ่นแล้ว
ผู้นำก็คือ “Rakuten”
บริษัทนี้ นอกจากชอปปิงออนไลน์แล้ว ยังทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบันอีกมากมาย
จนเรียกได้ว่า ประชาชนญี่ปุ่นแทบทุกคน ต้องใช้บริการอยู่ในโลกของ Rakuten อย่างน้อยสักหนึ่งแพลตฟอร์ม
เรื่องราวนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Rakuten ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1997 หรือ 22 ปีที่แล้ว โดยชายที่ชื่อว่า มิกิทานิ ฮิโรชิ
เขาได้เห็นแนวโน้มการเติบโตของอินเทอร์เน็ต จึงตัดสินใจสร้างเว็บไซต์สำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ขึ้นมา
Rakuten มักจะถูกเปรียบเทียบว่าเป็น Amazon แห่งประเทศญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้ว รูปแบบของธุรกิจนั้นแตกต่างกันเล็กน้อย
Amazon ดำเนินกิจการ e-Commerce ในลักษณะ Business-to-Customer (B2C) ที่บริษัทเป็นผู้รวบรวมสินค้า มาเสนอให้กับผู้บริโภคโดยตรง
ในขณะที่ Rakuten จะดำเนินกิจการในลักษณะ Business-to-Business-to-Customer (B2B2C)
ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้รวบรวมผู้ขายสินค้า โดยการพัฒนาคอนเทนต์บนเว็บไซต์ ให้แต่ละแบรนด์สามารถออกแบบร้านค้าตัวเองให้จูงใจกลุ่มเป้าหมายได้ เพื่อสุดท้ายแล้ว ลูกค้าจะได้ประสบการณ์ที่ดี เสมือนได้เดินชอปปิงในห้างสรรพสินค้าจริงๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำลังหาซื้อรองเท้ากีฬา
ใน Amazon เราจะซื้อมันจาก Amazon เอง
ใน Rakuten เราจะซื้อมันจากร้าน Nike ที่ตั้งอยู่บนเว็บ Rakuten

ซึ่งกลยุทธ์นี้ ประสบความสำเร็จในตลาดค้าปลีกออนไลน์ของญี่ปุ่น สามารถครองส่วนแบ่งได้ใกล้เคียงกับ Amazon ที่ราว 20%
ทั้งนี้ Rakuten มีการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศเช่นกัน โดยซื้อกิจการ Buy.com ในอเมริกา, Play.com ในอังกฤษ รวมถึงอีกหลายแห่งในยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Cr. Moboplay
บริษัทยังเคยเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Tarad.com ในไทยอีกด้วย แต่ได้ขายหุ้นส่วนออกไปแล้วในภายหลัง
แต่ Rakuten ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้..
พวกเขาได้ลงทุนต่อยอดไปในอีกกว่า 70 ธุรกิจ เพื่อสร้างโลกแห่ง Ecosystem ของตนเองขึ้นมา ซึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่
บัตรเครดิต (Rakuten Card)
สถาบันการเงิน (Rakuten Bank)
ระบบชำระเงินออนไลน์ (Rakuten Pay)
สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต (Rakuten Mobile)
บริการจองที่พัก (Rakuten Travel)
แอปพลิเคชันแช็ต (Viber)
วิดีโอสตรีมมิง (Wuaki.tv)
หนังสือออนไลน์ (Kobo)
Cr. engadget
ดังนั้น เราอาจได้เห็นคนบางกลุ่ม ใช้อินเทอร์เน็ต ซื้อสินค้า หรือเสพคอนเทนต์ออนไลน์ โดยใช้บัตรเครดิต ผ่านระบบชำระเงิน ที่ทั้งหมดมี “Rakuten” เป็นผู้ให้บริการ
และเหตุผลที่คนญี่ปุ่นสนใจเข้ามาอาศัยอยู่ในโลกของ Rakuten ก็คือการใช้ระบบสะสมคะแนนสำหรับสมาชิก ที่เชื่อมกันทุกแพลตฟอร์ม ทำให้ลูกค้ายิ่งใช้บริการ ยิ่งได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย
แล้วโลกของ Rakuten มีขนาดใหญ่แค่ไหน?
ในญี่ปุ่น มีผู้ใช้บริการที่ Rakuten เป็นเจ้าของอยู่ 95 ล้านบัญชี
คิดเป็นราว 75% ของประชากรประเทศ
และบริษัทให้บริการใน 190 ประเทศ ซึ่งมีผู้ใช้ Rakuten รวมทุกแพลตฟอร์ม อยู่ทั้งสิ้น 1,200 ล้านบัญชี
คิดเป็นราว 15% ของประชากรโลก
ซึ่งลูกค้าเหล่านี้ได้ใช้จ่ายเงิน รวมกันกว่า 3.7 ล้านล้านบาท
รายได้และกำไรของ Rakuten, Inc.
ปี 2016 รายได้ 2.3 แสนล้านบาท กำไร 1.1 หมื่นล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 2.7 แสนล้านบาท กำไร 3.2 หมื่นล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 3.2 แสนล้านบาท กำไร 4.1 หมื่นล้านบาท
จากแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน Rakuten มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า
ทุกวันนี้ สิ่งที่หลายบริษัทให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในโลกออนไลน์ ก็คือการสร้างฐานลูกค้า
การสร้างฐาน เราต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกัน ที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตของลูกค้าสะดวกสบายขึ้น และต้องกลับมาใช้มันซ้ำอีกเป็นประจำ
จนในบางครั้ง ถ้าเราเข้าไปอยู่ในโลกแห่งนั้น เราอาจจะยังไม่รู้ตัวว่า
แท้จริงแล้ว ทั้งหมดอาจมีเจ้าของ เป็นคนเดียวกัน..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
Tag: Rakuten
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.