SHAKE SHACK จากร้านรถเข็น สู่แบรนด์เบอร์เกอร์หมื่นล้าน

SHAKE SHACK จากร้านรถเข็น สู่แบรนด์เบอร์เกอร์หมื่นล้าน

2 มิ.ย. 2019
SHAKE SHACK จากร้านรถเข็น สู่แบรนด์เบอร์เกอร์หมื่นล้าน / โดย ลงทุนแมน
เมนูแฮมเบอร์เกอร์ หรือ ฮอตดอก มักถูกมองว่าเป็น อาหารขยะ (Junk Food) ที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพ
แม้กระทั่งเจ้าตลาดอย่าง McDonald’s ก็ไม่อาจต้านทานมุมมองดังกล่าว จนยอดขายเริ่มหดตัว
แต่กลับมีแบรนด์เบอร์เกอร์รายหนึ่ง ที่ชื่อว่า “SHAKE SHACK” สามารถเอาชนะใจผู้บริโภค และเติบโตเป็นร้านชั้นนำของโลกได้
ทั้งที่เริ่มแรกไม่กี่ปีก่อน เป็นเพียงแค่ร้านรถเข็นในสวนสาธารณะเท่านั้น
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในปี 2000 นายแดนนี่ เมเยอร์ ซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ได้เข้าร่วมโครงการปรับปรุง สวนสาธารณะเมดิสันสแควร์ ในเมืองนิวยอร์ก
หนึ่งในสิ่งที่เขาเสนอคือ เพิ่มร้านรถเข็นขายฮอตดอก ภายในสวน
ด้วยทำเลที่ตั้งย่านออฟฟิศ ทำให้ร้านขายดี โดยเฉพาะช่วงกลางวัน ที่คนหาอะไรทานแบบเร่งรีบ
ต่อมาในปี 2004 นายเมเยอร์ ได้ประมูลพื้นที่ เพื่อขยายกิจการให้กลายเป็นร้านขนาดเล็ก และเพิ่มเมนูอาหารจานด่วนอื่นเข้ามา เช่น เบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ และเครื่องดื่ม
Cr.theglobeandmail
โดยเขาได้ตั้งชื่อให้กับร้านใหม่นี้ว่า “Shake Shack”
เอกลักษณ์ที่สำคัญของแบรนด์คือ ไม่ใช้วัตถุดิบที่เป็นเนื้อแช่แข็ง แบบ Fast Food ทั่วไป แต่ใช้เนื้อสดใหม่ ที่ไม่ใส่สารเร่งใดๆ
จากการที่ร้านมีชื่อเสียงด้านคุณภาพ รวมทั้ง ตัวร้านออกแบบในลักษณะ Community ที่คนสามารถใช้เวลาพบปะสังสรรค์กันได้ ทำให้ Shake Shack ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนต้องต่อแถวรอซื้อนานเป็นชั่วโมง
ถึงขนาดที่ร้านได้ติดกล้อง Shake Cam ให้คนดูความยาวของแถวแบบ real time เพื่อตัดสินใจว่า จะออกมาซื้อเมื่อไรดี
Cr.etc.soundfunny
ความจริงแล้ว เมเยอร์ คิดจะทำร้านแค่ในสวนเมดิสันเพียงที่เดียว แต่ด้วยกระแสตอบรับดังกล่าว เขาจึงเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ..
แล้วตอนนี้ Shake Shack ขยายไปใหญ่แค่ไหนแล้ว?
ปัจจุบัน Shake Shack มีทั้งหมด 208 สาขาทั่วโลก โดยตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา 136 สาขา
บริษัทได้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เมื่อปี 2015 และขณะนี้มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 70,000 ล้านบาท
ผลประกอบการของบริษัท Shake Shack Inc.
ปี 2016 รายได้ 8,500 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 11,400 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 14,600 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า รายได้ของแบรนด์นี้เติบโตต่อเนื่อง แม้จะขายสินค้าที่ตลาดมีความต้องการน้อยลง
ในสมัยนี้ นอกจากความรวดเร็วของบริการ ผู้บริโภคก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพด้วย
ทำให้ธุรกิจ Fast Food ที่ถูกมองว่าใช้วัตถุดิบคุณภาพไม่ดี ได้รับผลกระทบในเชิงลบ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เป็นเจ้าตลาด
ผลประกอบการของ McDonald’s
ปี 2016 ยอดขาย 7.84 แสนล้านบาท
ปี 2017 ยอดขาย 7.26 แสนล้านบาท
ปี 2018 ยอดขาย 6.69 แสนล้านบาท

แต่ Shake Shack นั้น กลับเป็นร้านที่เข้ามาตอบโจทย์ช่องว่างในตลาดได้ ด้วยการขายเมนูอาหารจานด่วน ที่มีคุณภาพดี
Cr.tastingtable
ถ้าถามว่าราคาแพงกว่าเจ้าอื่นมากไหม ก็ต้องบอกว่าแพงกว่า แต่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาที่เพิ่มขึ้น
Big Mac ราคาชิ้นละ 125 บาท
Shake Burger ราคาชิ้นละ 170 บาท
นอกจากนี้ ร้านยังได้พยายามปรับตัวเข้าหาผู้บริโภค โดยการออกแบบเมนูและร้าน ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งนำวัตถุดิบคุณภาพดีของแต่ละพื้นที่มาประยุกต์ใช้
ส่งผลให้ Shake Shack สามารถแข่งขันในตลาดอาหารจ่านด่วนได้อย่างเข้มแข็ง
เปรียบเทียบยอดขายต่อสาขา
Shake Shack เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ล้านบาท
McDonald’s เฉลี่ยอยู่ที่ 18 ล้านบาท
ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ คงหนีไม่พ้นคำว่า คุณภาพ
สิ่งที่คนต้องการในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่สินค้าคุณภาพแย่ ราคาต่ำ แต่เป็นสินค้าที่คุณภาพดีในราคาเหมาะสม
หากเราเสนอสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้
สุดท้าย ไม่ว่าจะราคาเท่าไร หรือต้องรอนานแค่ไหน
คนก็ยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อมัน..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Shake_Shack
-https://www.investopedia.com/articles/personal-finance/041615/story-behind-shake-shacks-success.asp
-https://www.thedailymeal.com/eat/secret-shake-shacks-success
-https://finance.yahoo.com/quote/SHAK/
-https://finance.yahoo.com/quote/MCD/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.