สรุปเรื่องธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ แบบง่ายๆ

สรุปเรื่องธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ แบบง่ายๆ

31 พ.ค. 2019
สรุปเรื่องธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ แบบง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
“ลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์”
เป็นหนึ่งในเทรนด์ยอดนิยมของหลายบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่รู้หรือไม่ว่า การลงทุนในธุรกิจนี้มีอะไรที่เราควรรู้บ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ 3 หน่วยงานหลักของรัฐ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
โดยมีผู้ที่กำหนดขอบเขต กฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.
และหลังจากนั้น หน่วยงานการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วย ก็จะนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เหล่านั้นเข้าสู่ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ใครก็จะสามารถขายไฟฟ้าให้กับรัฐได้
ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มีการเปิดประมูล ให้ผู้ที่สนใจจากภาคเอกชนสามารถเข้ามาลงทุนได้
ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกันไปในแต่ละครั้ง ตั้งแต่ในเรื่องของสัญญาไปจนถึงราคาที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้า
เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น เราลองมาดูตัวอย่าง
สมมติว่า บริษัท ลงทุนแมน ได้ทำสัญญาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายให้กับ กฟผ.
ก็ต้องมาดูว่าสัญญานี้เป็นประเภทอะไร
สัญญาจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Firm และ Non-Firm
ถ้าเป็นสัญญาแบบ Firm คือการรับประกันว่าจะจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบตามจำนวนในสัญญา ถ้าไม่ทำตามเราจะถูกปรับเงิน
ซึ่งสัญญาแบบ Firm นี้ส่วนใหญ่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะต้องมีความมั่นคงด้าน Supply สูง เช่น แก๊สธรรมชาติ หรือมีการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ผู้ลงทุนถึงจะสามารถทำสัญญาแบบ Firm ได้
ส่วนสัญญาแบบ Non-firm ส่วนใหญ่เป็นพลังงานทางเลือกที่ไม่สามารถควบคุมวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าได้ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานชีวมวล เป็นต้น
ราคารับซื้อไฟฟ้าของสัญญาแบบ Non-firm ส่วนใหญ่จึงแพงกว่าแบบ Firm และจะไม่ถูกปรับเงินถ้าเราไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ถึงตามที่กำหนด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอัตราค่าไฟที่รับซื้อ
ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ระบบการรับซื้อไฟ เรียกว่า Feed-in Tariff (FiT) โดยจะเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุโครงการ ซึ่งทางรัฐจะคิดจากต้นทุนด้านต่างๆ เช่น แนวโน้มเทคโนโลยี ค่าวัสดุ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าแรง อัตราเงินเฟ้อ และดอกเบี้ย เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ
นอกจากระบบ FiT แล้ว ในสมัยก่อนจะมีบางโครงการที่มีการรับซื้อไฟในระบบ Adder
Adder จะเป็นระบบที่ผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุน เพื่อจูงใจให้ลงทุนทางด้านพลังงานทดแทน ซึ่งมีราคาที่แตกต่างกันตามแต่ละชนิดของพลังงาน โดยจะมีส่วนที่บวกเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า FT
อีกคำศัพท์หนึ่งที่ควรรู้ก็คือ กิโลวัตต์-ชั่วโมง
"เมกะวัตต์" เป็นหน่วยของกำลังการผลิตของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีคำนวณจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เพื่อขายให้แก่การไฟฟ้า (รวมถึงการคำนวณจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่บ้านเรือนทั่วไปต้องจ่ายค่าไฟให้แก่การไฟฟ้าก็เช่นกัน) จากเครื่องจักรอุปกรณ์ใดๆ
หากอธิบายอย่างง่ายก็ให้นำกำลังการผลิตของเครื่องจักรอุปกรณ์นั้นๆ คูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่เปิดเดินเครื่อง จะได้ตัวเลขที่มีหน่วยเป็น"กิโลวัตต์-ชั่วโมง" หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ อย่างที่เห็นในบิลค่าไฟฟ้าทุกเดือนว่า "หน่วย" ออกมานั้นเอง
ซึ่งเมื่อเรานำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ขายให้แก่การไฟฟ้ามาคูณกับราคาค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าประกาศรับซื้อตามสัญญา (บาทต่อหน่วย) ก็จะสามารถประมาณการรายได้ค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ เราไม่ได้พิจารณาเพียงแค่รายได้เท่านั้น
ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ต้องคำนึงถึง ตั้งแต่เรื่องของต้นทุนการก่อสร้าง ต้นทุนทางการเงิน เทคโนโลยีที่จะใช้ ไปจนถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
การทำความเข้าใจในรายละเอียดทั้งหมด ก็จะทำให้เราคาดการณ์ถึงผลตอบแทน และความคุ้มค่าของโครงการได้..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.