ธุรกิจขวดแก้วในไทย กรณีศึกษา การปิดจุดตายของตัวเอง

ธุรกิจขวดแก้วในไทย กรณีศึกษา การปิดจุดตายของตัวเอง

28 พ.ค. 2019
ธุรกิจขวดแก้วในไทย กรณีศึกษา การปิดจุดตายของตัวเอง / โดย ลงทุนแมน
โซดาสิงห์ ขวดใส
เบียร์ช้าง ขวดเขียว
M-150 ขวดสีชา
หลายคนคงอยากรู้ว่า
ใครกันที่เป็นผู้ผลิตขวดแก้วเหล่านี้
คำตอบที่ได้อาจจะน่าตกใจเพราะ..
เครื่องดื่มแต่ละเจ้า เป็นเจ้าของโรงงานขวดแก้วของตัวเอง
แถมยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ของตลาดขวดแก้ว ในประเทศไทย
แล้วเรื่องนี้ มีอะไรน่าสนใจ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วทั่วโลก
ปี 2016 มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท
ปี 2017 มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท
ปี 2018 มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท
คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5.7% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สินค้าทดแทนอย่างขวด PET และกระป๋องอะลูมิเนียม
เข้ามามีบทบาทสำคัญในส่วนแบ่งการตลาดบรรจุภัณฑ์โดยตรง..
แน่นอนว่า..
บรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วมีข้อดีคือ
สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าได้ดี มีความพรีเมียม และให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้บริโภค
ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มชูกำลัง
ถ้าเอาไปใส่ขวดพลาสติก ก็คงไม่มีใครหยิบซื้อ
แต่ข้อเสียหลักๆ คือ น้ำหนักที่มากกว่าสินค้าทดแทนอย่างพลาสติก และกระป๋องอะลูมิเนียม
ทำให้ค่าขนส่งมีราคาสูงกว่า
พอเรื่องเป็นแบบนี้
จึงทำให้การขยายตัวไปตลาดต่างประเทศของแบรนด์เครื่องดื่มชั้นนำที่ใช้ขวดแก้ว มักมีข้อจำกัดในเรื่องบรรจุภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับกลายเป็นข้อได้เปรียบของแบรนด์ท้องถิ่น
ที่มีต้นทุนการผลิต และขนส่งที่ถูกกว่า
ปัจจุบัน ผู้เล่นรายใหญ่มี 4 ราย
คือ เครือคุณเจริญ, เครือบุญรอด, โอสถสภา และคาราบาวกรุ๊ป
แล้วใครเป็นผู้นำในธุรกิจขวดแก้ว?
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ของคุณเจริญ
กำลังการผลิต 4,000 ตันต่อวัน มากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลประกอบการเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้ว
ปี 2559 รายได้ 10,876 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 10,679 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 11,578 ล้านบาท
cr.fbcdn
บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส ของเครือบุญรอด
กำลังการผลิต 3,495 ตันต่อวัน
ปี 2559 รายได้ 10,195 ล้านบาท กำไร 618 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 11,222 ล้านบาท กำไร 252 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 10,522 ล้านบาท กำไร 524 ล้านบาท
กลุ่มบริษัท สยามกลาส และสยามคัลเล็ต ของโอสถสภา
กำลังการผลิต 1,290 ตันต่อวัน
ปี 2558 รายได้ 3,432 ล้านบาท กำไร 255 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 3,625 ล้านบาท กำไร 382 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 3,708 ล้านบาท กำไร 380 ล้านบาท
บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส ของคาราบาว
กำลังการผลิต 640 ตันต่อวัน
ปี 2558 รายได้ 1,288 ล้านบาท กำไร 445 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 1,435 ล้านบาท กำไร 478 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 1,449 ล้านบาท กำไร 393 ล้านบาท
รวมๆ กันแล้วทั้ง 4 แบรนด์มีรายได้จากบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วสูงเกือบ 30,000 ล้านบาท..
แล้วบริษัทเหล่านี้ขายขวดให้ใครบ้าง?
คำตอบก็คือ ขายให้กับบริษัทในเครือของตัวเอง เกินกว่า 50%..
ตั้งแต่ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ไม่ผสมแอลกอฮอล์
และที่เหลือเป็นการขายให้กับบริษัทอาหาร และยา..
แสดงให้เห็นว่า
จริงๆ แล้วรายได้หลักของโรงงานขวดแก้วในประเทศไทย
ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบริษัทในเครือ นั่นเอง
cr.fbcdn
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในการทำธุรกิจ
ธุรกิจเครื่องดื่ม สิ่งที่สำคัญไม่แพ้รสชาติ ก็คือบรรจุภัณฑ์
การได้ครอบครองบริษัทบรรจุภัณฑ์ หมายถึง การรับประกันว่าสินค้าของตัวเองจะสามารถผลิตเพื่อจัดจำหน่ายได้
ลองคิดดูว่า ถ้าบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ ไปพึ่งพาบรรจุภัณฑ์จากรายอื่น
นั่นหมายถึง ความเสี่ยง หากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์นั้นขึ้นราคา หรือถูกซื้อกิจการโดยบริษัทเครื่องดื่มคู่แข่ง
ในการทำธุรกิจของเรานั้น
เราต้องหา “จุดตาย” ของเราให้เจอ
และสิ่งที่ต้องทำก็คือ การปิดจุดตายนั้นให้สนิท..
เพราะถ้าเราไม่ทำ
สักวันหนึ่งที่คู่แข่งคลำหาจุดนั้นเจอ
สิ่งที่เราสร้างมาทั้งหมด อาจพังทลายลงเพราะจุดนั้นเพียงจุดเดียว..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-Thai Bev, Annual Report 2018
-CBG, Annual Report 2018
-BGC, Annual Report 2018
-Osotspa, Annual Report 2018
-Statista
-DBD
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.