กรณีศึกษา MICROSOFT จับมือกับ SONY

กรณีศึกษา MICROSOFT จับมือกับ SONY

17 พ.ค. 2019
กรณีศึกษา MICROSOFT จับมือกับ SONY / โดย ลงทุนแมน
“ทั้งสองบริษัทจะพัฒนาแพลตฟอร์มบนคลาวด์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเกม และ AI ร่วมกัน..”
เรื่องนี้ถูกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการโดยบริษัท Microsoft เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา
จากคู่แข่งตลอดกาลระหว่าง Xbox ของ Microsoft และ PlayStation ของ Sony
กลับกลายมาเป็นความร่วมมือทางธุรกิจที่ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มเล่นเกมสตรีมมิง..
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาเริ่มจาก..
ยอดขาย โฮมคอนโซล ของแต่ละบริษัท
บริษัท Sony
PlayStation (1994) จำนวน 102 ล้านเครื่อง
PlayStation 2 (2000) จำนวน 155 ล้านเครื่อง
PlayStation 3 (2006) จำนวน 87 ล้านเครื่อง
PlayStation 4 (2013) จำนวน 96 ล้านเครื่อง
บริษัท Microsoft
XBox (2001) จำนวน 24 ล้านเครื่อง
Xbox 360 (2005) จำนวน 84 ล้านเครื่อง
Xbox One (2013) จำนวน 39 ล้านเครื่อง
แสดงให้เห็นว่า
ทั้งสองบริษัทนี้เป็นผู้เล่นรายใหญ่ของผู้ผลิตเกมคอนโซลประจำบ้าน มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
แล้วมาดูกันว่าในเชิงธุรกิจ
ทั้งสองบริษัทนี้มองเห็นอะไรในกันและกัน?
ผลประกอบการบริษัท Microsoft
ปัจจุบันถือเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดในโลก 31 ล้านล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 3.5 ล้านล้านบาท กำไร 5.3 แสนล้านบาท
โดยเป็นสัดส่วนรายได้จาก
Office 25.7%
Azure 23.7%
Windows 17.7%
เกม (Xbox) 9.4%
และอื่นๆ 23.5%
cr.lifewire
แสดงให้เห็นว่า
สัดส่วนรายได้หลักของ Microsoft ไม่ใช่ Windows แต่เป็น Office
แต่สิ่งที่น่าจับตาในอนาคตก็คงหนีไม่พ้น Azure
แล้ว Azure คืออะไร?
Azure เป็นกลุ่มธุรกิจบริการเซิร์ฟเวอร์ และคลาวด์สำหรับธุรกิจทั้งเล็ก กลาง และใหญ่
cr.stackpathdns
ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่พัฒนาร่วมกับ Sony PlayStation ครั้งนี้คือ นวัตกรรมเกมสตรีมมิง
หมายความว่าในอนาคต เรากำลังจะเล่นเกมสตรีมมิงบนแพลตฟอร์ม PlayStation
แต่ระบบข้อมูลเบื้องหลังทั้งหมด ถูกดูแลโดย Microsoft นั่นเอง..
ในขณะเดียวกัน บริษัท Sony ก็จะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนเรื่องเซิร์ฟเวอร์และศูนย์คอมพิวเตอร์
บริษัท Sony
โตมากับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
เริ่มทำสมาร์ตโฟน
และมาสำเร็จกับธุรกิจเกม PlayStation เติบโตจนกลายมาเป็นรายได้หลักของบริษัท
cr.console-deals
ปี 2018 รายได้ 2.5 ล้านล้านบาท กำไร 1.4 แสนล้านบาท
โดยเป็นสัดส่วนมาจากธุรกิจเกมกว่า 24%
นอกจากนี้ผู้เล่นในระบบของทั้งสองบริษัท
ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ
Xbox Live 64 ล้านคนต่อเดือน
PlayStation Network 90 ล้านคนต่อเดือน
จากการประกาศเรื่องราวการจับมือในแถลงการณ์ของ Microsoft
ทำให้วันนี้มูลค่าบริษัท Sony พุ่งขึ้นถึง 10% ภายในวันเดียว
เรื่องนี้อาจแสดงให้เห็นว่า..
ในบางครั้งการทำธุรกิจ ไม่ต้องแข่งกันเสมอไป
การนำ Know-how ของแต่ละธุรกิจมารวมกันอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า
Sony มีจุดเด่นเรื่องภาพ เรื่องเสียง เรื่องคอนโซล
Microsoft มีจุดเด่นเรื่องซอฟต์แวร์ เรื่องศูนย์ข้อมูล
ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า Nintendo ที่ว่ากันว่าเป็น Disney แห่งวงการเกม
และ Google ที่ประกาศเปิดตัวเกมสตรีมมิงภายใต้แบรนด์ Stadia จะขยับตัวกันอย่างไร..
อย่างไรก็ตาม..
สิ่งที่แฟนๆ ของทั้งสองค่ายรอคอยในอนาคต
ก็อาจจะเป็นการเล่นเกมข้ามแพลตฟอร์มระหว่างสองค่ายนี้
เพื่อนเรามี Xbox
เรามี PlayStation
แต่เราสามารถเล่นเกมเดียวกันได้
หรือถ้าให้ฝันไปไกลกว่านั้น
คือ ทั้งคู่จับมือกันทำเครื่องเกมกันไปเลย
ระยะห่างในการเปลี่ยนโฉมคอนโซลของสองบริษัทเฉลี่ยอยู่ประมาณ 6 ปี
และปีนี้บังเอิญเป็นปีที่ 6 แล้วของซีรีส์ PS4 และ Xbox One
ก็ไม่แน่ว่า
เราอาจจะเห็นเครื่องเกมชื่อ XStation ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-Visualcapitalist
-Microsoft Annual Report 2018, Q1 Report 2019
-Sony Corporation Annual Report
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.