กรณีศึกษา การบินไทยล้างขาดทุนสะสม

กรณีศึกษา การบินไทยล้างขาดทุนสะสม

14 พ.ค. 2019
กรณีศึกษา การบินไทยล้างขาดทุนสะสม / โดย ลงทุนแมน
การบินไทย
เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2534
ปัจจุบัน การบินไทยขาดทุนสะสมกว่า 28,000 ล้านบาท
แต่ตอนนี้บริษัทกำลังจะล้างขาดทุนสะสมเกือบหมด
การบินไทยก่อตั้งขึ้นในปี 2503 หรือเกือบ 60 ปีที่แล้ว โดยรัฐบาลไทย เพื่อให้เป็นสายการบินแห่งชาติโดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ที่ถือหุ้น 70% และสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ ที่ถือหุ้น 30%
ปัจจุบัน การบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 51%
รายได้ของการบินไทยนั้น 91% เป็นรายได้จากการขนส่ง ขณะที่อีก 9% เป็นรายได้อื่น
ทุกคนรู้ดีว่า ธุรกิจสายการบินนั้นมีการแข่งขันกันสูง
หลายบริษัทมีการขยายความถี่ของเที่ยวบิน ขยายจำนวนเครื่องบิน
รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ขยายเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยน
จึงทำให้ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มการบินไทย ขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา
รายได้และกำไรของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ปี 2560 รายได้ 190,535 ล้านบาท ขาดทุน 2,107 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 200,586 ล้านบาท ขาดทุน 11,625 ล้านบาท
ค่าใช้จ่าย 2 รายการหลักของการบินไทยคือ ค่าน้ำมันเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 43% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัท
ปัจจุบัน การบินไทยมีทรัพย์สินเท่ากับ 268,721 ล้านบาท มีหนี้สิน 248,265 ล้านบาท
ขณะที่เป็นส่วนผู้ถือหุ้นเพียง 20,456 ล้านบาท
สิ้นปี 2561 บริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่ที่ 28,533 ล้านบาท
สำหรับผู้ถือหุ้นของการบินไทย ถ้าอยากได้รับเงินปันผล ก็ต้องรอให้บริษัทค่อยๆ ทำกำไรให้มากกว่าขาดทุนสะสม
เนื่องจากในทางกฎหมาย บริษัทที่ขาดทุนสะสมไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
คำถามคือจะใช้เวลากี่ปี?
เพราะถ้าบริษัททำกำไรเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านก็ต้องใช้เวลาถึง 28 ปี กว่าที่จะล้างขาดทุนสะสมในตอนนี้ได้หมด
cr.thebangkokinsight
พอเรื่องเป็นแบบนี้ การบินไทยจึงใช้เทคนิคทางการเงินที่จะล้างขาดทุนสะสม
เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหลายครั้ง
ถ้าราคาเพิ่มทุนมากกว่าราคาพาร์ที่ 10 บาท ส่วนที่เกินมา เราจะเรียกว่า ส่วนเกินมูลค่าหุ้น
สำหรับการบินไทยมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นอยู่ที่ 25,500 ล้านบาท
ทั้งนี้บริษัทสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ โดยการโอนส่วนเกินมูลค่าหุ้นและทุนสำรองตามกฎหมาย เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัท
การบินไทยมีทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 2,691 ล้านบาท และทุนสำรองที่เกิดจากส่วนเกินมูลค่าหุ้นจำนวน 25,500 ล้านบาท เมื่อนำมาล้างขาดทุนสะสม จะทำให้บริษัทมีขาดทุนสะสมเหลือเพียงประมาณ 300 ล้านบาท
ดังนั้น ถ้าการบินไทยสามารถทำกำไรได้เกินกว่า 300 ล้านบาท บริษัทก็สามารถกลับมาจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้นั่นเอง
ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่าการบินไทยจะกลับมาทำกำไร และเริ่มจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกครั้งได้เมื่อไร
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้ไหมว่า
มกราคม ปี 2011 มูลค่าบริษัทของการบินไทยเท่ากับ 97,000 ล้านบาท
เมษายน ปี 2019 มูลค่าบริษัทของการบินไทยเท่ากับ 27,700 ล้านบาท หรือลดลงไป 71%
หมายความว่า ถ้าเราลงทุนในหุ้นการบินไทยด้วยเงิน 1 ล้านบาทในวันนั้น เราจะเหลือเงิน 290,000 บาท ในวันนี้..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.