MSCI ธุรกิจผลิตดัชนี 5 แสนล้าน

MSCI ธุรกิจผลิตดัชนี 5 แสนล้าน

1 พ.ค. 2019
MSCI ธุรกิจผลิตดัชนี 5 แสนล้าน / โดย ลงทุนแมน
เราเคยสงสัยไหมว่า..
เวลาเราลงทุนในกองทุน
กองทุนนั้นๆ จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน
เกณฑ์ดังกล่าวอ้างอิงกับแต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรมบนโลกนี้
บริษัท MSCI เป็นหนึ่งในผู้สร้างเกณฑ์หรือดัชนีเหล่านี้ขึ้นมา
ปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้มีมูลค่าบริษัทประมาณ 560,000 ล้านบาท
เทียบเท่ากับ ปูนซิเมนต์ไทย บริษัทใหญ่สุดอันดับ 4 ของประเทศไทย
แล้วโมเดลรายได้ของ MSCI เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริงๆ แล้ว บริษัทแห่งนี้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ 51 ปีก่อน..
Capital International หนึ่งในบริษัททางการเงินในสหรัฐอเมริกาเริ่มจัดทำดัชนีตลาดทุนโลกขึ้นมา
โดยมีจุดประสงค์หลัก เพื่อชี้วัดภาพรวมธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่นอกเหนือประเทศสหรัฐอเมริกา
18 ปี ต่อมา..
Morgan Stanley หนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของโลกตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์การทำดัชนีดังกล่าว จึงกลายเป็นที่มาของ MSCI หรือ Morgan Stanley Capital International นั่นเอง..
นอกจาก ดัชนีตลาดทุนโลก
MSCI เริ่มออกแบบ และสร้างดัชนีมากขึ้นเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น
ดัชนีตลาดทุนประเทศกำลังพัฒนา
ดัชนีบริษัทขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่
หรือแม้แต่ดัชนี เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างเช่น ดัชนีธุรกิจค้าปลีก และดัชนีแบรนด์หรู..
เมื่อรวมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทุกยุคทุกสมัย
ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดัชนีก็ถูกสร้างขึ้นมากตามไปด้วย
MSCI ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของสถาบันการเงินทั่วโลก
ลูกค้าของ MSCI มีตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์, บริษัทหลักทรัพย์, บริษัทประกันภัย, กองทุนบำเหน็จบำนาญ, กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ, ธนาคารกลาง, กองทุนรวม, กองทุนบริหารความเสี่ยง, ทรัสต์, กองทุน Exchange-Traded Fund (ETF)
รวมถึงนักลงทุนรายย่อย ก็ล้วนเป็นลูกค้าของ MSCI..
ธุรกิจนี้เติบโตดี จนในที่สุด Morgan Stanley ตัดสินใจแยกธุรกิจ MSCI
ออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2007
ปัจจุบัน MSCI ทำธุรกิจให้บริการเครื่องมือทางการเงินมากมาย
ได้แก่ ดัชนี, บทวิเคราะห์ และการจัดอันดับ
cr.seekingalpha
รายได้และกำไรของบริษัท MSCI
ปี 2016 รายได้ 37,000 ล้านบาท กำไร 8,300 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 41,000 ล้านบาท กำไร 9,700 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 46,000 ล้านบาท กำไร 16,000 ล้านบาท
ระหว่างปี 2016 ถึง 2017 รายได้เพิ่มขึ้น 11% กำไรเพิ่มขึ้น 17%
ระหว่างปี 2017 ถึง 2018 รายได้เพิ่มขึ้น 13% กำไรเพิ่มขึ้น 67%
แสดงถึงกำไรเพิ่มเร็วกว่ารายได้
โดยสัดส่วนรายได้ของ MSCI มาจากระบบสมาชิก 74% ค่าธรรมเนียม 23% และอื่นๆ อีก 3%
ที่น่าสนใจคือโมเดลธุรกิจหลักของ MSCI คือระบบสมาชิก
คล้ายๆ กับธุรกิจสตรีมมิงอย่าง Netflix หรือ Spotify
แต่ที่ต่างออกไปคือลูกค้าของ MSCI มีทั้งบุคคลธรรมดา บริษัท และสถาบันทางการเงิน
อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของธุรกิจประเภทนี้ คือการประหยัดขนาด หรือ Economies of Scale
เนื่องจากสินค้าในบริษัทหลักๆ คือ ข้อมูล ที่ต้นทุนการผลิตไม่เพิ่มขึ้นไปจากเดิม
cr.fbcdn
ถ้าขายได้มากขึ้น รายได้จะไหลลงมาเป็นกำไรทันที เพราะต้นทุนไม่เพิ่ม..
นั่นก็เป็นที่มาว่า อัตรากำไรสุทธิของบริษัทนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จาก 22.4% ในปี 2016 กลายเป็น 34.8% ในปี 2018
ซึ่งในโลกนี้ มีไม่กี่บริษัทที่จะมีอัตรากำไรสุทธิสูงขนาดนี้
การจะได้อัตรากำไรสุทธิเท่านี้ บริษัทต้องมีแบรนด์ และโมเดลธุรกิจที่ได้เปรียบคู่แข่งอย่างชัดเจน
สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาเป็นมูลค่าบริษัท MSCI ที่สูงระดับ 560,000 ล้านบาท และมี P/E สูงถึง 36.5 เท่า
มาถึงตรงนี้ เราก็อาจสรุปได้ว่า..
MSCI เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง
เป็นธุรกิจที่มีรายรับสม่ำเสมอจากการเป็นสมาชิก
เป็นธุรกิจที่ใครๆ ก็ต่างต้องใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิง
เป็นธุรกิจที่ลูกค้าเลิกใช้ยาก
และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมานับไม่ถ้วน
เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจจะดี หรือแย่แค่ไหน
ดัชนีของ MSCI ก็ถูกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงอยู่ดี..
----------------------
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆในแอป blockdit
นอกจากนั้น เรายังเขียนเองได้ และสามารถสร้างรายได้ในนี้
โหลดแอปได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 10.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/100-i312324208-s559866635.html?mp=3&spm=0.0.productPromotion_13579257.1
Shopee: https://shopee.co.th/ลงทุนแมน-หนังสือ-10.0-i.116732911.2099369914
----------------------
References
-MSCI, Annual Report 10-K 2018
-MSCI Website
-Morgan Stanley
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.