สรุปเรื่อง Brexit แบบเข้าใจง่ายๆ สไตล์ลงทุนแมน

สรุปเรื่อง Brexit แบบเข้าใจง่ายๆ สไตล์ลงทุนแมน

20 เม.ย. 2019
สรุปเรื่อง Brexit แบบเข้าใจง่ายๆ สไตล์ลงทุนแมน
การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)
หลายคนไม่รู้ว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว
ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน
และจนวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
เรื่องนี้มีที่มาเป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า สหราชอาณาจักร ที่ว่านั้นประกอบไปด้วยประเทศอะไรบ้าง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน
สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ประกอบไปด้วย 4 ประเทศ คือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ หมายความว่า การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หมายถึง การถอนตัวของ 4 ประเทศดังกล่าว
ในปี 2018 สหราชอาณาจักร มีมูลค่าทาง GDP ประมาณ 90 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของโลก
และคิดเป็น 15% ของมูลค่า GDP ของสหภาพยุโรปที่ประมาณ 592 ล้านล้านบาท
สหราชอาณาจักร ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 1973 โดยสมัยนั้นยังใช้ชื่อว่า ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
ในปี 1975 สหราชอาณาจักรได้มีการจัดลงประชามติ ภายใต้รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม นำโดยนาย Edward Heath ซึ่งตอนนั้นประชาชนยังสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
อย่างไรก็ตาม พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝั่งซ้ายต้องการให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเด็นการถอนตัวของสหราชอาณาจักรนั้นได้เกิดขึ้นมานานแล้ว
ในปี 2010 การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พรรคอนุรักษนิยมได้คะแนนสูงสุด นาย David Cameron กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยที่ 2 ของการลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2015 นั้น หนึ่งในแคมเปญการหาเสียงของนาย David Cameron ก็คือ หากประชนชนเลือกเขา เขาจะจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ตามที่หลายฝ่ายต้องการ
ซึ่งหลังจากชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เขาจึงจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะต้องการให้สหราชอาณาจักรคงการเป็นสมาชิกภาพ (Bremain) หรือออกจากการเป็นสมาชิกภาพ (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016
cr.weforum
จากผู้มาลงคะแนนทั้งหมดประมาณ 30 ล้านคนนั้น ผลการลงประชามติกลับกลายเป็นว่า กว่า 51.9% ต้องการ Brexit ขณะที่ 48.1% ต้องการ Bremain
โดยเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการให้แยกตัวคือ อังกฤษและเวลส์ ขณะที่ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือนั้นต้องการให้อยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป
พอเรื่องเป็นแบบนี้ วันรุ่งขึ้นนาย David Cameron จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที ทำให้ Theresa May ลงสมัครตำแหน่งที่ว่าง และได้รับเลือกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด
cr.telegraph
ทั้งนี้ ฝ่ายที่ต้องการอยู่ต่อนั้นมองว่า การเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปจะทำให้สหราชอาณาจักรได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า ทางภาษี และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ขณะที่ฝ่ายซึ่งไม่ต้องการอยู่ต่อนั้นมองว่า การเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปนั้น ทำให้ต้องทำตามข้อตกลงหลายอย่าง เช่น การรับผู้อพยพจากประเทศสมาชิก รวมไปถึงประชากรของประเทศอื่นๆ ในฐานะผู้ลี้ภัยจากสงคราม ทำให้เกิดการแย่งงาน หรือแม้แต่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม

การเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ยังรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
เช่น กรณีการเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะกรีซในปี 2010 ที่สหภาพยุโรปได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวนมาก ทำให้ชาวอังกฤษไม่พอใจ เนื่องจากนำเงินจากภาษีของพวกเขาไปใช้
ซึ่งตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา สหราชอาณาจักรได้จ่ายค่าสมาชิกแก่สหภาพยุโรปเป็นจำนวนกว่า 4.2 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การแยกตัวไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะต้องจัดทำแผน Brexit และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 20,833 ข้อ..
ที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ที่ Theresa May เข้ามาทำหน้าที่นั้น ได้มีการผลักดันแผน Brexit ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่กลับถูกปฏิเสธตลอด
เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องการแผน Soft Brexit คือ การออกจากสหภาพยุโรปแต่ยังสามารถใช้กฎเกณฑ์บางอย่างแบบเดิมได้อยู่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย
ขณะที่แผนของ Theresa May นั้นเป็น Hard Brexit คือ การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเด็ดขาด ทำให้สหราชอาณาจักรมีอิสระในการกำหนดนโยบายเองได้หลายอย่าง แต่กรณีนี้จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างกว่า
เมื่อยังไม่ได้ข้อสรุป
สุดท้ายแผนดังกล่าว ได้เลยเส้นตายเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินวันที่ 29 มีนาคม 2019 ทำให้สหภาพยุโรปเลื่อนประเด็นเรื่อง Brexit ออกไปอีกครั้ง
ความยืดเยื้อดังกล่าว ทำให้ประชาชนเองก็เริ่มเบื่อ
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่องนี้จะจบกันอย่างไร
Brexit ก็คงเปรียบเหมือนชีวิตของคนเรา
เมื่อเราได้ผูกพันกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นระยะเวลานานแล้ว
ก็คงยากที่จะตัดขาดกันแบบสิ้นเชิง
ถึงแม้ว่าเราคิดที่จะแยกทางจากคนนั้นมาแล้วกี่ครั้ง
แต่ความผูกพัน ก็ยังมีข้อดีหลายอย่างที่คอยดึงเราไว้เสมอ
ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
ทางเลือกที่เลวร้ายที่สุดอาจไม่ใช่การ ออก หรือไม่ออก
แต่เป็นการลังเล ตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะเลือกอะไร..
----------------------
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆในแอป blockdit
นอกจากนั้น เรายังเขียนเองได้ และสามารถสร้างรายได้ในนี้
โหลดแอปได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.