ขสมก. มีหนี้เท่าไร?

ขสมก. มีหนี้เท่าไร?

8 ส.ค. 2017
ขสมก. มีหนี้เท่าไร? / โดย ลงทุนแมน
ธุรกิจที่ผูกขาด
โดยทั่วไปแล้วจะได้กำไรเพราะไม่มีคู่แข่ง กำหนดราคาสินค้าเองได้ กำไรเห็นๆ
แต่ ขสมก. เป็นธุรกิจผูกขาดที่ไม่ได้กำไร.. แถมยังขาดทุนเละเทะ
แล้ว ขสมก.ขาดทุนเท่าไร?
ปี 2558 ขสมก.มีขาดทุนสะสมอยู่ 100,831,156,582 บาท
ตัวเลขนี้ให้อ่านคงตาลาย สรุปได้ว่า ขสมก.ขาดทุนสะสมอยู่ 1 แสนล้านบาท
ตั้งแต่ผมอ่านงบการเงินมาหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังไม่เคยเห็นบริษัทไหนมีขาดทุนสะสมมากเท่านี้มาก่อน
เรื่องนี้อาจเป็นเพราะถ้าส่วนทุนติดลบ บริษัทก็คงถูกเจ้าหนี้ฟ้อง และบริษัทต้องล้มละลายไป แต่เรื่องนี้ไม่ใช่สำหรับองค์กรของรัฐ ดูเหมือนว่า ขสมก. จะมีหนี้เท่าไรก็ได้ ไปเรื่อยๆ..
ขสมก.มีหนี้เท่าไร?
ปี 2558 ขสมก.มีหนี้ทั้งหมด 97,382 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ย
แล้ว ขสมก. ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละเท่าไร?
ปี 2558 แค่ค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็ปีละ 3,000 ล้านบาท
แล้วใครเป็นเจ้าหนี้ ขสมก. อยู่บ้าง?
ธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงไทย ออมสิน และที่น่าสนใจคือ ขสมก. ออกพันธบัตรได้ด้วย
ปี 2558 ขสมก.กู้ยืมเงินจากพันธบัตรจำนวนมากถึง 56,513 ล้านบาท แต่ไม่ต้องตกใจพันธบัตรจะรับประกันโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งก็น่าจะปลอดภัย เรียกว่าหมุนเงินไปได้เรื่อยๆโดยมีรัฐค้ำประกัน
ปี 2558 ขสมก. มีรายได้ 8,062 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 12,853 ล้านบาท ขาดทุน -4,790 ล้านบาท แต่ถ้าสังเกตดีๆ ในส่วนนี้เป็นค่าดอกเบี้ยมากถึง 3,000 ล้านบาท
แปลว่าถ้า ขสมก. เคลียหนี้ได้ บริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก ก็อาจจะมีโอกาสกลับมากำไรได้อยู่เหมือนกัน แต่ดูเหมือนความหวังนี้จะริบหรี่ถ้าไปดูงบลงทุนที่จะมีมาอีกในอนาคต
เรื่องมีอยู่ว่ารถของ ขสมก. ตอนนี้เก่ามากแล้ว ต้องใช้เงินอีกจำนวนมากเพื่อซื้อรถใหม่มาแทนรถเดิม ขสมก มีแผนที่จะปลดระวางรถเดิมทั้งหมด 2731 คัน แยกเป็นรถร้อน 1543 คัน รถแอร์ 1011 คัน รถเช่า 177 คัน
รถแต่ละคันตอนนี้มีอายุการใช้งานมาแล้วกี่ปี?
1) รถร้อนครีมแดง มีอายุการใช้งานมาแล้ว 26 ปี (ใครที่เกิดหลัง 2534 รถคันนี้เกิดก่อนคุณ)
2) รถแอร์ครีมน้ำเงิน มีอายุการใช้งานมาแล้ว 22 ปี
3) รถแอร์สีส้มชุดแรก มีอายุการใช้งานมาแล้ว 19 ปี และชุดที่สอง มีอายุการใช้งานมาแล้ว 15 ปี
แล้วต้นทุนค่าโดยสารของรถแต่ละรุ่นหล่ะ?
1) รถร้อนครีมแดง มีต้นทุนค่าโดยสาร 10,780 บาทต่อวัน
2) รถแอร์ครีมน้ำเงิน มีต้นทุนค่าโดยสาร 11,286 บาทต่อวัน
3) รถแอร์สีส้มชุดแรก มีต้นทุน 12,624 บาทต่อวัน รถแอร์สีส้มชุดสองต้นทุน 14,055 บาทต่อวัน
จึงไม่แปลกใจเลยว่ารถเมล์รุ่นใหม่ของ ขสมก. จะเป็นรถแอร์ทั้งหมด เพราะ ต้นทุนต่างกันไม่มาก
เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ถ้าคนใช้งานขึ้นมาบนรถเจออากาศเย็น ก็จะได้รู้สึกดี และไม่หงุดหงิดเวลารถติด
เมื่อไปดูต้นทุนของ ขสมก. จะพบว่ามีต้นทุนใหญ่ๆ 2 เรื่องคือ
ต้นทุนของ ขสมก. คือเงินเดือน 49%
ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น 27%
ส่วนต้นทุนอื่นไม่มีนัยยะสำคัญเท่า 2 เรื่องนี้
ประเด็นที่ต้องคิดคือจะลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร?
ถ้าโจทย์คือต้องลดค่าใช้จ่าย และเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด พูดตรงๆเลยก็คือก็ต้องหาวิธีลดพนักงาน ผมไปต่างประเทศมาหลายประเทศ ไม่เคยเห็นรถเมล์ประเทศไหนที่มีกระเป๋ารถเมล์
ทำให้เกิดคำถามที่ว่าจริงๆแล้วพนักงานเก็บเงินบนรถเมล์จำเป็นหรือไม่?
จะมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรที่ ใช้บัตรแตะเพื่อจ่ายค่าโดยสารโดยไม่ต้องจ้างพนักงานเก็บเงินหรือไม่?
พนักงานเก็บเงินก็คงไม่ต้องกลัวตกงานหรอก ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในโลก ไปทำอาชีพอื่นอาจจะได้เงินมากกว่าเป็นกระเป๋ารถเมล์ด้วยซ้ำ
ส่วนเรื่องอื่นก็อาจจะแก้ได้อีกเช่น การวางแผนเส้นทางการเดินรถใหม่ ลดเส้นทางที่ซ้ำซ้อน
ประเด็นต่อมาคือ รัฐอาจจะต้องให้เงินอุดหนุน ขสมก มากกว่านี้ เมื่อผมไปเปิดข้อมูลจาก Transport for London เป็นองค์กรขนส่งมวลชนของลอนดอนประเทศอังกฤษ ทำไมองค์กรนี้เขามีกำไรได้? เมื่อไปดูลึกๆแล้วเขาก็ขาดทุนเหมือนกัน แต่เขามีคำว่า Grant Fee ของรัฐบาลมาช่วย จริงๆแล้ว ขสมก.ก็ได้เงินอุดหนุนอยู่ แต่ยังได้น้อยไปหรือเปล่า?
สรุปแล้วธุรกิจนี้อาจจะไม่มีวันได้กำไร เพราะเป็นธุรกิจขั้นพื้นฐานที่บริการให้แก่ประชาชน เราจะไปขึ้นค่าโดยสารก็ไม่ได้ เพราะ รถเมล์ที่เป็นการเดินทางที่ราคาถูกสุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหมดแล้ว ถ้ารถเมล์ขึ้นราคา แล้วคนที่มีรายได้น้อยจะเดินทางได้อย่างไร
ที่น่าสนใจคือ ขสมก.มีแผนซื้อรถเมล์ใหม่จำนวน 3,450 คัน ตั้งแต่ปี 2560-2564
แปลว่าจริงๆแล้วเราจะได้เห็นรถเมล์ใหม่ทั้งหมดยกเซ็ตเริ่มทยอยเข้ามาใน 4 ปีข้างหน้านี้
แต่ล็อตแรกก็เกิดมีปัญหาซะก่อนเพราะผู้นำรถเข้ามาแจ้งว่าผลิตจากมาเลเซีย แต่จริงๆเอาเข้ามาจากจีน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องภาษี เพราะมาเลเซียอยู่ในอาเซียนไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าจากจีนต้องเสียภาษี พอเรื่องเป็นอย่างนี้เราก็ยังไม่ได้ใช้รถเมล์ใหม่กันซักที
และจริงๆแล้ว ขสมก. มีแผนจะซื้อรถเมล์ใหม่มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว.. แต่ก็ติดอุปสรรคเรื่อยมา
สงสัยเรื่องนี้คงต้องเอาเรื่องโชคเรื่องดวงเข้ามาเป็นตัวช่วย
ผมแนะนำให้เปลี่ยนชื่อย่อขององค์กรเพื่อแก้เคล็ด เพราะตอนนี้ ขสมก. น่าจะย่อมาจาก องค์กร ขาดทุนสะสมมากสุดในกรุงเทพ..
ที่มา: รายงานประจำปีของ ขสมก
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.