สรุปเรื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำ แบบเข้าใจง่ายๆ

สรุปเรื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำ แบบเข้าใจง่ายๆ

16 เม.ย. 2019
สรุปเรื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำ แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
“ค่าจ้างขั้นต่ำ” คำนี้ทุกคนเคยได้ยิน
แต่เคยสงสัยไหมว่า
ที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอย่างไร
แล้วค่าจ้างขั้นต่ำ ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่
ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร
ปี 2499 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ
ต่อมาในปี 2515 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ให้อำนาจแก่กระทรวงมหาดไทยในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
โดยในปี 2516 เป็นปีแรกที่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำออกมาเป็นตัวเลข คือ วันละ 12 บาท ในกรุงเทพและปริมณฑลก่อนที่จะเริ่มกระจายไปสู่ต่างจังหวัด
ปัจจุบัน ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำคือ คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ถูกแต่งตั้งมาเป็นคณะกรรมการ โดยมีหน้าที่พิจารณา เสนอและกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีต้องมีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการค่าจ้างเสนอ
ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีหลายปัจจัย เช่น
ต้นทุนค่าครองชีพ
อัตราเงินเฟ้อ
ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ผลิตภาพแรงงาน
แล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวัน ของประเทศไทยเป็นอย่างไร
ปี 2551 ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 148-203 บาท ขึ้นกับแต่ละจังหวัด
ปี 2553 ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 151-206 บาท ขึ้นกับแต่ละจังหวัด
ปี 2554 ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 159-221 บาท ขึ้นกับแต่ละจังหวัด
ปี 2555 ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 222-300 บาท ขึ้นกับแต่ละจังหวัด
ปี 2556 ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 300 บาท ทั่วประเทศ
ปี 2560 ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 300-310 บาท ขึ้นกับแต่ละจังหวัด
ปี 2561 ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 308-330 บาท ขึ้นกับแต่ละจังหวัด
หมายความว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ได้มีการปรับทุกปี และยังมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดอีกด้วย
ยกเว้นปี 2556 เพียงปีเดียว ที่ค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดให้มีอัตราเท่ากันทั่วประเทศ
แล้วถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ประเทศไหนที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำที่สุดและสูงที่สุด?
พม่า เป็นประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำที่สุดคือเฉลี่ยวันละ 102 บาท
ขณะที่ ไทย เป็นประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำ สูงที่สุดคือเฉลี่ยวันละ 316 บาท
ขณะที่มี 2 ประเทศในอาเซียนที่ไม่มีกฎหมายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนั่นก็คือ บรูไนและสิงคโปร์
คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาคงจะทราบดีว่า ปัจจัยการผลิตนั้นประกอบไปด้วยทุน ที่ดิน แรงงาน และผู้ประกอบการ ซึ่งในส่วนของแรงงานนั้นผลตอบแทนก็คือ ค่าจ้าง
แน่นอนว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
เพราะถ้าค่าจ้างขั้นต่ำไม่สามารถเพิ่มได้ทันค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแล้ว แรงงานบางส่วนอาจย้ายไปทำงานในที่ที่มีค่าจ้างที่สูงกว่า ส่งผลให้แรงงานขาดแคลน จนอาจกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ
ในอีกด้านหนึ่ง การปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ไม่ควรส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก
เพราะอาจส่งผลให้ธุรกิจขาดทุน จนต้องปิดกิจการ หรือแม้แต่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานถูก
ซึ่งผลเสียไม่เพียงแต่ตกอยู่กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังรวมไปถึงตัวของแรงงานเองด้วย
เรื่องเหล่านี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาหาจุดที่เหมาะสม
เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ กับทุกฝ่ายนั่นเอง..
----------------------
แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละประเทศเป็นเท่าไร? ดูได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5cac12aad19e080ff39ce5ea
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.