สรุป Blind Trust คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ

สรุป Blind Trust คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ

19 มี.ค. 2019
สรุป Blind Trust คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
หลังจากที่เรื่อง Blind Trust กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมือง
มีหลายคนถามมาว่า ความจริงเป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง แบบไม่อิงเรื่องการเมือง
หลังจากอ่านบทความนี้จบ เราจะเข้าใจว่า Trust และ Private Fund คืออะไร
ทั้งนี้ขออนุญาตผู้อ่านงดให้ความเห็นต่อพรรคการเมืองหลังจากอ่านจบ
Trust คืออะไร?
Trust อธิบายง่ายๆ ก็คือ
กองทรัพย์สินที่เจ้าของทรัพย์สิน มอบให้อีกคนหนึ่งบริหารจัดการทรัพย์สินนั้นให้ โดยมี Trustee เป็นผู้ดูแล
ในประเทศไทยจะมีการจัดตั้ง Trust กันไม่มาก แต่จะนิยมทำกันในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นก็คือ การจัดตั้งกองทุน (Fund)
ตัวอย่าง การจัดตั้ง Trust ในบ้านเราที่เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างก็คือ REIT
REIT ย่อมาจาก Real Estate Investment Trust หรือเรียกได้ว่าเป็น Trust ประเภทหนึ่ง ที่จะนำเงินไปลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์
ยกตัวอย่าง REIT ที่มีชื่อเสียงก็คือ CPNREIT ซึ่งจะลงทุนในห้างเซ็นทรัลหลายสาขาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่เราคนไทยคุ้นเคยกันมากกว่าก็คือ กองทุน
ปัจจุบันกองทุนในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1.กองทุนรวม (Mutual Fund)
2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
3.กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund)
ถ้าเรารู้จักกองทุน LTF RMF หรือแม้แต่ไปซื้อกองทุนตามธนาคารต่างๆ
กองทุนนี้จะเป็นประเภทกองทุนรวม (Mutual Fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่เสนอขายให้กับบุคคลทั่วไป
ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คนที่ทำงานในบริษัทจะรู้จักกันดี เพราะเป็นกองทุนที่หักเงินสะสมส่วนหนึ่งจากเงินเดือนของเรา และมีอีกส่วนหนึ่งจากนายจ้างที่สมทบให้ นำไปเข้ากองทุนนี้เพื่อสะสม และลงทุนเพื่อให้เราไว้ใช้ในยามเกษียณ
ส่วนกองทุนประเภทสุดท้ายก็คือ กองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund
กองทุนส่วนบุคคล ส่วนมากจะจัดตั้งขึ้นสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีนโยบายการลงทุนของตัวเอง ซึ่งอาจแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป
เช่น กองทุนส่วนบุคคล ผู้ลงทุนอาจกำหนดสัดส่วนประเภทสินทรัพย์ หรือ อุตสาหกรรม ด้วยตนเอง ตามความต้องการของตน
ทั้งนี้กองทุนส่วนบุคคลไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลธรรมดา อาจเป็นนิติบุคคลก็ได้
ตัวอย่างเช่น บริษัท หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยที่มีเงินเหลือ แต่ไม่อยากบริหารเงินเอง ก็จัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล ให้ผู้จัดการกองทุนบริหารให้ แบบนี้ก็ถือเป็น Private Fund
ซึ่งการจัดตั้ง Trust จะมีลักษณะที่คล้ายกับ Private Fund
ต่างกันตรงที่ผู้บริหารทรัพย์สินของ Private Fund จะเป็นผู้จัดการกองทุนที่อยู่ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
แต่ผู้บริหารทรัพย์สินของ Trust อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในสินทรัพย์นั้นที่ไม่ได้อยู่ใน บลจ. ตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำหน้าที่บริหารจัดการ REIT
ซึ่งในกรณีของนายธนาธรที่ให้ บลจ. ภัทร จัดการนั้น จริงๆ แล้วถ้าเรียกให้ถูกจะเป็น Private Fund ไม่ใช่ Trust อย่างไรก็ตามจุดประสงค์จะคล้ายกันก็คือ การมอบทรัพย์สินของตนเองให้ผู้อื่นจัดการให้
แล้ว Blind Trust คืออะไร?
โดยปกติแล้ว การมอบทรัพย์สินให้ผู้อื่นจัดการ คนที่จัดการก็จะต้องคอยรายงานแก่ผู้มอบทรัพย์สินว่าเอาเงินไปลงทุนในทรัพย์สินใดบ้าง พันธบัตรประเภทไหน หุ้นกี่ตัว หุ้นชื่ออะไร
แต่คำว่า Blind ก็คือ คราวนี้ผู้จัดการจะไม่เปิดเผยต่อผู้มอบทรัพย์สินว่าเอาเงินไปลงอะไรบ้าง
เรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนกฎหมายอาจทำเพื่อป้องกันการขัดแย้งกันระหว่าง เรื่องสาธารณะ กับ เรื่องส่วนตัว
เพราะผู้เขียนกฎหมายจะไม่รู้ว่าตัวเองลงทุนในทรัพย์สินประเภทไหนบ้าง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราแก้กฎหมายให้บริษัทโทรคมนาคมต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้มากขึ้น ถ้าผู้แก้กฎหมายรู้ว่าตัวเองถือหุ้นบริษัทโทรคมนาคมอยู่ก็คงไม่อยากแก้กฎหมายนี้
จริงๆแล้วจะมีสิ่งที่เหนือกว่า Blind Trust ก็คือ Double Blind Trust
ซึ่งก็คือ ผู้มอบทรัพย์สิน จะไม่รู้แม้แต่ชื่อของคนที่บริหารทรัพย์สินนั้น เช่น ถ้ากรณีนี้เป็น Double Blind Trust คุณธนาธรจะไม่รู้ว่า บลจ.ภัทร บริหารทรัพย์สินให้ และในทางกลับกัน บลจ.ภัทร ก็จะไม่รู้ว่าบริหารทรัพย์สินให้คุณธนาธร
ส่วนเรื่องการตรวจสอบเป็นคนละประเด็น
Trust และ Private Fund ไม่ว่า Blind หรือไม่ Blind ก็จะเหมือนกันในเรื่องตรวจสอบ
ถ้าหน่วยงานรัฐอยากตรวจสอบก็สามารถตรวจสอบกับผู้จัดการทรัพย์สินนั้นได้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
หลายคนคงอยากรู้ว่า อุตสาหกรรมจัดการกองทุนแต่ละประเภทมีมูลค่ามากขนาดไหน?
ปี 2540 มูลค่าทรัพย์สิน
กองทุนรวม 101,750 ล้านบาท
คิดเป็น 2.15% ของ GDP
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 137,245 ล้านบาท
คิดเป็น 2.90% ของ GDP
กองทุนส่วนบุคคล 180 ล้านบาท
คิดเป็น 0.004% ของ GDP
ปี 2561 มูลค่าทรัพย์สิน
กองทุนรวม 5,045,826 ล้านบาท
คิดเป็น 30.98% ของ GDP
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1,129,096 ล้านบาท
คิดเป็น 6.92% ของ GDP
กองทุนส่วนบุคคล 989,428 ล้านบาท
คิดเป็น 6.06% ของ GDP
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เราคนไทยเริ่มเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการลงทุน และสิ่งนี้เริ่มจะสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมนี้ทุกประเภท
และผู้ที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้นอกจากผู้ลงทุนแล้ว
ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่เป็น บริษัทจัดการกองทุนนั่นเอง..
----------------------
อ่านเรื่อง สินทรัพท์ทางการเงินแบบง่าย ๆ ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5badebfa8f6d4574ddaf2a8b
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.