สรุปธุรกิจ ไทยเบฟ ที่เรายังไม่รู้

สรุปธุรกิจ ไทยเบฟ ที่เรายังไม่รู้

11 มี.ค. 2019
สรุปธุรกิจ ไทยเบฟ ที่เรายังไม่รู้ / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงไทยเบฟ
หลายคนคงนึกถึง เบียร์ช้าง หงส์ทอง แสงโสม..
แต่จริงๆ แล้ว
บริษัทแห่งนี้มีธุรกิจในเครือรวมกันกว่า 138 บริษัท และมีพนักงานกว่า 41,551 คน
อาณาจักรทั้งหมดนี้ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นภายใต้ชั่วอายุคนเดียว
ปัจจุบัน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าบริษัทประมาณ 476,730 ล้านบาท
และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์
แล้วไทยเบฟ ทำธุรกิจอะไรบ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มต้นมานานกว่า 51 ปีก่อน..
คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เริ่มกิจการค้าขายภายใต้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหปานีภัณฑ์
ทำธุรกิจจัดส่งสินค้านานาชนิดให้โรงงานสุรา
ต่อมาเริ่มขยายกิจการโดยเข้าซื้อบริษัท แสงโสม เพื่อดำเนินการผลิตสุรา และได้รับสัมปทานจากรัฐบาลในการสร้าง และประกอบกิจการโรงงานสุรา 12 แห่งในประเทศไทย
จนในที่สุด คุณเจริญสามารถนำบริษัท ไทยเบฟ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในปี 2549 โดยเสนอขายในราคาหุ้นละ 0.28 ดอลลาร์สิงคโปร์
แล้วปัจจุบัน ผลประกอบการ ไทยเบฟ เป็นอย่างไร?
รายได้และกำไรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ปี 2559 รายได้ 190,033 ล้านบาท กำไร 25,032 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 189,997 ล้านบาท กำไร 34,681 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 229,695 ล้านบาท กำไร 20,726 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนรายได้ตามภูมิภาค
ปี 2560 รายได้ทั้งหมดมาจากประเทศไทย 97% ต่างประเทศ 3%
ปี 2561 รายได้ทั้งหมดมาจากประเทศไทย 75% ต่างประเทศ 25%
ก็อาจจะสรุปได้ว่าไทยเบฟ สามารถขยายกิจการไปยังต่างประเทศได้ดีขึ้น
นอกจากเบียร์ช้างแล้ว
ไทยเบฟ ขายสินค้าอะไรบ้าง?
ปัจจุบัน บริษัท ไทยเบฟ แบ่งกลุ่มธุรกิจหลักออกเป็น
1) ธุรกิจสุรา
เช่น แม่โขง, แสงโสม, หงส์ทอง, เบลนด์ 285 และอื่นๆ
2) ธุรกิจเบียร์
เช่น ช้าง, เฟดเดอร์บรอย, อาชา, ไซง่อน และอื่นๆ
3) ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
เช่น เอส โคล่า, น้ำดื่มคริสตัล, โออิชิ กรีนที และสินค้าในเครือ F&N
4) ธุรกิจร้านอาหาร
เช่น โออิชิ, ชาบูชิ, Hyde & Seek, ศูนย์อาหาร Food Street, KFC บางสาขา และอื่นๆ
แล้วสินค้ากลุ่มไหนขายดีสุด?
ปี 2561 รายได้บริษัท ไทยเบฟ มาจาก
ธุรกิจสุรา 46%
ธุรกิจเบียร์ 41%
ธุรกิจเครื่องดื่ม 7%
และธุรกิจอาหาร 6%
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่าธุรกิจเบียร์กำไรพอๆ กับสุรา
แต่จริงๆ แล้ว หากเราดูอัตรากำไรสุทธิของแต่ละธุรกิจ
ธุรกิจเครื่องดื่ม ขาดทุน 7.7%
ธุรกิจเบียร์ กำไร 3.0%
ธุรกิจอาหาร กำไร 4.2%
ธุรกิจสุรา กำไร 16.7%
ตัวเลขข้างต้น สะท้อนออกมาเป็นกำไรของบริษัทไทยเบฟ ที่มาจากธุรกิจสุรากว่า 17,720 ล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 89.3% ของกำไรรวมของทั้ง 4 ธุรกิจ
หลายคนคงอยากรู้ว่าต้นทุนของเบียร์ และสุราเป็นเท่าไร
ต้นทุนหลักของทั้ง 2 สินค้านี้คือ ภาษีสรรพสามิต
ค่าใช้จ่ายภาษีสรรพสามิตเมื่อเทียบกับรายได้
ธุรกิจเบียร์ 39.8%
ธุรกิจสุรา 50.4%
ต้นทุนวัตถุดิบเมื่อเทียบกับรายได้
ธุรกิจเบียร์ 23.5%
ธุรกิจสุรา 7.1%
เมื่อดูแล้วก็น่าจะบอกได้ว่า ตลาดเบียร์เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทำให้การตั้งราคาสินค้ามีข้อจำกัด ไม่สามารถตั้งได้สูงเหมือนสุรา
ในขณะที่ สุราที่มีราคาแพง ก็อาจจะแสดงให้เห็นว่าสินค้าดี มีคุณภาพ..
ทั้งที่โดยเฉลี่ยแล้ว สุรา ราคา 100 บาท ต้นทุนวัตถุดิบของสุรา มีแค่ 7.1 บาท..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า..
หาก ไทยเบฟ จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ไทยเบฟ จะมีมูลค่าใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ
อยู่ในระดับเดียวกันกับธนาคารกสิกรไทย..
----------------------
รู้ไหม เหล้า 1 ขวดมีต้นทุนอะไรบ้าง อ่านต่อได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c789ef09492942a9ce8ec86
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada กดรับ voucher ลด 20% (มีจำนวนจำกัด): https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
Reference
-Thai Bev Annual Report & Presentation 2018
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.