วิริยะประกันภัย เห็นเงียบๆ แต่รวยมาก..

วิริยะประกันภัย เห็นเงียบๆ แต่รวยมาก..

21 ก.ค. 2017
ข้อมูลการจดทะเบียนจากกรมส่งทางบก มิ.ย. 60 ประเทศไทยมีรถทั้งหมด 36.6 ล้านคัน (รวมรถจักรยานยนต์) หรือถ้าเทียบกับประชากรไทยทั้งหมด 68.9 ล้านคน เฉลี่ยแล้วทุกๆ 2 คนจะมีรถหนึ่งคัน และรถเกือบทุกคันน่าจะต้องมีประกันรถยนต์ ถ้าเราคิดดูดีๆตลาดประกันรถยนต์น่าจะมีมูลค่ามหาศาล
แล้วตลาดประกันรถยนต์มีมูลค่าเท่าไร?
ข้อมูลจาก คปภ. ปี 2559 ตลาดประกันรถยนต์มีเบี้ยรับทั้งหมด 122,188 ล้านบาท
แบ่งเป็น
1)ประกันรถที่คุ้มครองโดย พรบ จำนวน 29.4 ล้านกรมธรรม์ เบี้ยรับ 16,680 ล้านบาท หารแล้วก็เฉลี่ยตกกรมธรรม์ละ 571 บาท
2)ประกันรถที่คุ้มครองโดยบริษัทประกัน จำนวน 8.6 ล้านกรมธรรม์ เบี้ยรับ 105,508 ล้านบาท หารแล้วเฉลี่ยตกกรมธรรม์ละ 12,268 บาท
รถทุกคันต้องมีประกันที่คุ้มครองโดย พรบ แต่จะมีแค่ส่วนหนึ่งที่ทำประกันเพิ่มกับบริษัทประกันรถ โดยส่วนใหญ่แล้วรถจักรยานต์ยนต์จะมีแค่ประกัน พรบ ส่วนรถยนต์จะทำประกันเพิ่มกับบริษัทประกันรถด้วย
ที่น่าสนใจคือจำนวนเงินเอาประกันภัยทุกกรมธรรม์รวมกันได้ทั้งหมด 13.6 ล้านล้านบาท ซึ่งแปลว่าถ้ารถในประเทศเสียหายทุกคัน บริษัทประกันทั้งหมดจะต้องชดใช้ให้กับเจ้าของรถรวมกัน 13.6 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับ GDP ไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว
คำถามต่อมาคือ ตอนนี้ใครเป็นผู้นำตลาดประกันรถ?
ปี2559 “วิริยะประกันภัย” มีส่วนแบ่งตลาดประกันรถมากถึง 24.8% เรียกได้ว่าถ้าเราเห็นรถทุกๆ 4 คันบนท้องถนน 1 ในนั้นจะทำประกันรถกับวิริยะประกันภัย เบี้ยรับทั้งหมดของบริษัทในปี 2559 มีมากถึง 30,267 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาคือ เวลาบริษัทรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้ามา ลูกค้าจะไม่ได้เจออุบัติเหตุแล้วเคลมค่าสินไหมทันที ส่วนใหญ่ก็จะหลายเดือน หรือบางรายก็ไม่ได้เคลม ดังนั้นก็จะมีเงินค้างอยู่ในบริษัทอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งระหว่างนี้บริษัทสามารถนำเงินที่ค้างอยู่นี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆได้เช่น ฝากธนาคาร พันธบัตร หุ้นกู้ หรือ แม้แต่ซื้อหุ้น
แล้ววิริยะประกันภัยถือหุ้นอะไรอยู่?
หลายคนคงไม่รู้ว่า วิริยะประกันภัย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงพยาบาลกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยถือทั้งหมด 948 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ามากถึง 18,300 ล้านบาท โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องขายหุ้นตัวนี้ เพราะเงินที่ค้างอยู่ในบริษัทมันก็จะค้างอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เพราะจะมีเงินใหม่เข้ามาทุกๆปี ชดเชยกับค่าสินไหมที่จ่ายไป
ปี 2558 บริษัทสินทรัพย์มากถึง 61,785 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นพันธบัตร หุ้นกู้ และหุ้น โดยบริษัทมีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินอาคารและอุปกรณ์เพียง 845 ล้านบาท (1.4%ของทรัพย์สินทั้งหมด) แต่สามารถทำให้บริษัทได้กำไรในปี 2558 มากถึง 2,566 ล้านบาท
วิริยะประกันภัยดูเหมือนจะเงียบๆไม่ได้โฆษณาอะไรมาก แต่จริงๆแล้วบริษัทนี้ก็น่าจะรวยหน่อยๆเหมือนกันนะ..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.