มาบุญครอง จากโรงสีข้าว สู่ สยามพารากอน

มาบุญครอง จากโรงสีข้าว สู่ สยามพารากอน

20 ก.พ. 2019
มาบุญครอง จากโรงสีข้าว สู่ สยามพารากอน / โดย ลงทุนแมน
MBK หรือชื่อเดิมคือ มาบุญครอง
หลายคนอาจเป็นห่วงว่า ห้างมาบุญครองจะไม่นิยมเหมือนก่อน
เพราะตอนนี้มีห้างคู่แข่งเกิดขึ้นหลายแห่ง
แต่รู้หรือไม่ว่า
MBK ก็เป็นเจ้าของห้างชื่อดังอย่าง สยามพารากอน และ ไอคอนสยาม เช่นเดียวกัน
เรื่องราวของ MBK เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
MBK เดิมมีชื่อว่า มาบุญครอง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2517 โดย คุณศิริชัย บูลกุล
ซึ่งการตั้งชื่อบริษัทมาจาก ชื่อ คุณพ่อมา และ คุณแม่บุญครอง ของคุณศิริชัย
กิจการของ มาบุญครอง ในสมัยก่อน เป็นธุรกิจโรงสีข้าว และจำหน่ายข้าวสาร
ซึ่งข้าวตรามาบุญครอง ทุกคนคงเคยได้ยิน
แต่จุดเริ่มต้นของห้างมาบุญครองที่เรารู้จักกัน คือปี พ.ศ. 2526
มาบุญครองได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 27 ไร่ บริเวณแยกปทุมวัน
โดยในตอนนั้นห้างมาบุญครอง ได้นิยามตัวเองว่าเป็น ศูนย์การค้าแบรนด์เนม
ซึ่งมาบุญครองในสมัยนั้นเป็นห้างแห่งหนึ่งที่ทันสมัยมาก
มีร้านค้าขายสินค้าแบรนด์เนมหลากหลายยี่ห้อ ห้างสรรพสินค้าโตคิวจากประเทศญี่ปุ่น
รวมถึง ศูนย์อาหาร โรงแสดงคอนเสิร์ต และสวนสนุกอยู่บนดาดฟ้า
กระทั่งปี 2538 มาบุญครองก็ได้สร้างโรงแรมในบริเวณเดียวกัน นั่นก็คือ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส
จุดเปลี่ยนของมาบุญครองก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากภายในห้างมีการจัดสรรพื้นที่ใหม่
จากร้านขายสินค้าแบรนด์เนมขนาดใหญ่ กลายเป็นการซอยพื้นที่ แบ่งเป็นร้านเล็กหลายๆ ร้าน
ลักษณะการจัดสรรแบบนี้คล้ายกับตลาดนัด แต่ติดแอร์ ซึ่งได้รับความนิยมจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
จนพื้นที่เล็กๆ ในห้างนี้ เคยติดอันดับหนึ่งในห้างที่มี ค่าเช่าและค่าเซ้ง แพงสุดในประเทศไทย
และจุดเปลี่ยนนี้เองก็เป็นแหล่งกำเนิดของธุรกิจร้านขายโทรศัพท์มือถือ ที่เรียกกันว่า “ร้านตู้มือถือ” ที่คนในยุค 2G ต้องเคยไปเดินกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วง วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้กำลังซื้อของคนไทยลดลง แต่ในทางกลับกัน สินค้าของไทยกลับมีราคาถูกลง ในสายตาของชาวต่างชาติ
มาบุญครองจึงปรับกลยุทธ์อีกครั้ง
โดยครั้งนี้เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งชาวเอเชีย, ยุโรป, อเมริกา และตะวันออกกลาง
มีการปรับรูปแบบอาคารให้ดูทันสมัยมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การค้า MBK Center
เมื่อเวลาผ่านไป มีห้างหรูใหม่ๆ เกิดขึ้น หลายคนอาจคิดว่ามาบุญครองอาจโดนคู่แข่งแย่ง
แต่จริงๆ แล้ว MBK ยังมีสัดส่วนการถือหุ้นในศูนย์การค้าอื่นอีก 15 แห่ง
โดยเฉพาะ บริษัท สยามพิวรรธน์ ที่เป็นเจ้าของ สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ และ ไอคอนสยาม นั่นเอง
MBK ถือหุ้นในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด 42.47%
นอกจากนี้ MBK ถือหุ้นในธุรกิจอื่นๆ อีกหลายประเภท ทั้ง
โรงแรมและท่องเที่ยว 12 แห่ง
สนามกอล์ฟ 7 แห่ง
อสังหาริมทรัพย์ 12 แห่ง
อาหาร 10 แห่ง
การเงิน 12 แห่ง
และ ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MBK ไม่ได้เป็นกลุ่มเดิมแล้ว
ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ MBK ปัจจุบันคือ
บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 28%
บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10%
เมื่อดูรายได้รวมของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) พบว่า
ปี 2558 รายได้รวม 12,213 ล้านบาท กำไร 1,815 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้รวม 11,268 ล้านบาท กำไร 2,055 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 10,497 ล้านบาท กำไร 1,841 ล้านบาท
มาถึงตรงนี้แล้วเราจะเห็นว่า การเปิดตัวของศูนย์การค้ารอบๆ ห้างมาบุญครองไม่ได้กระทบอะไรกับธุรกิจของบริษัทเลย
สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า MBK มีรายได้มาจากหลายทางที่เข้าไปลงทุน
และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือการพยายามปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลาของมาบุญครอง
ไม่ว่าจะผ่านอุปสรรคอะไร ปัญหาจะหนักหนาแค่ไหน แต่ห้างแห่งนี้ก็สามารถยืนหยัดและฝ่าฟันมาได้จนถึงทุกวันนี้
สำหรับชาวต่างชาติ ที่นี่คือสวรรค์ของการชอปปิงที่หาไม่ได้จากที่ไหน
แต่สำหรับคนไทย
หากเราจะมองหาสถานที่สักแห่งที่แสดงถึงความตั้งใจของการทำธุรกิจ
หนึ่งในนั้นก็คือ มาบุญครอง…
----------------------
อ่านเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆหลายท่าน โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
สั่งหนังสือลงทุนแมน เล่ม 8 ได้ที่
Lazada https://s.lazada.co.th/s.RpFk
Shopee http://bit.ly/2HVWiqj
----------------------
References
-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-http://mbk.listedcompany.com/misc/ar/20180330-mbk-ar2017-th.pdf
-https://www.thebangkokinsight.com/14813/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.