กรณีศึกษา น้ำมันลิตรละ 100 ที่ซิมบับเว

กรณีศึกษา น้ำมันลิตรละ 100 ที่ซิมบับเว

5 ก.พ. 2019
กรณีศึกษา น้ำมันลิตรละ 100 ที่ซิมบับเว / โดย ลงทุนแมน
ราคาน้ำมันที่ซิมบับเวจะมีราคาลิตรละ 100 บาท
ซึ่งเป็นราคาที่แพงที่สุดในโลก
คนในประเทศนี้กำลังเดือนร้อนจนเกิดการประท้วงอย่างหนัก
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับประเทศซิมบับเวกันก่อน
สาธารณรัฐซิมบับเว เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา
มีขนาดพื้นที่ประเทศ 390,580 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 76% ของพื้นที่ประเทศไทย
ซิมบับเวนั้นมีมูลค่า GDP เท่ากับ 560,000 ล้านบาท ใหญ่เป็นลำดับที่ 19 ในทวีปแอฟริกา
สินค้าส่งออกสำคัญของประเทศคือ สินค้าเกษตรและแร่ธาตุต่างๆ
โดยซิมบับเวมีแหล่งแร่แพลทินัมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งแร่นี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตเครื่องประดับ อัญมณี และใช้ในวงการอุตสาหกรรมหลายอย่าง
ในปี 2006 ซิมบับเวยังได้ค้นพบแหล่งผลิตเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า Marange diamond fields ซึ่งมีการประเมินกันว่า แหล่งนี้มีปริมาณเพชรกว่า 13% ของปริมาณการผลิตเพชรทั้งโลก
โดยในปี 2013 ซิมบับเวได้ผลิตเพชรกว่า 10.3 ล้านกะรัต ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 17,000 ล้านบาท และเป็นประเทศที่ผลิตเพชรรายใหญ่รายหนึ่งของโลก
อ่านมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่าที่ซิมบับเวจะมีแต่เรื่องดีๆ
แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิดไว้..
ในอดีตนั้น เศรษฐกิจของประเทศเคยเติบโตในระดับ 4 - 5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปี 2014 - 2016 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของซิมบับเวลดลงจาก 3.9% เหลือเพียง 0.6%
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่นั่น สาเหตุหลักเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดและการคอร์รัปชันของรัฐบาลของนาย โรเบิร์ต มูกาเบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในช่วงปี 1987 ถึงปี 2017 ได้นำปัญหาหลายอย่างมาสู่ประเทศซิมบับเว เช่น
ในปี 2008 อัตราการว่างงานเคยขึ้นไปถึงระดับ 95%
ในปี 2013 สถานะทางการคลังของซิมบับเวเคยตกต่ำ จนรัฐบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน
แต่ที่น่าตกใจมากกว่า คือ ภาวะเงินเฟ้อของประเทศที่เลวร้ายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
ทำไมประเทศนี้ถึงเกิดเงินเฟ้ออย่างหนัก?
เรื่องเริ่มต้นจากรัฐบาลไปยึดที่ดินของชาวผิวขาวมาเป็นของรัฐบาล แต่ปรากฏว่าที่ดินที่ยึดมาไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ จนเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ
ต่อมาสินค้าและอาหารต่างๆ ขาดแคลน หนี้สินของประเทศเพิ่มมากขึ้นจนต้องมาเป็นหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง
และวิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ของรัฐบาลก็คือ การพิมพ์ธนบัตรออกมาเพื่อซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐนั้นไปใช้หนี้
อย่างไรก็ตาม การพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้หนี้มาก ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ซิมบับเวลดลงอย่างรุนแรง
ปี 1980
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 0.68 ดอลลาร์ซิมบับเว
ปี 2009
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 300,000,000,000,000 ดอลลาร์ซิมบับเว..
ทำให้สุดท้ายรัฐบาลต้องเลิกใช้เงินสกุลดังกล่าว
ขณะที่เงินเฟ้อของซิมบับเวเคยอยู่ที่ 7% ในปี 1980 จนเพิ่มขึ้นไปกว่า 79,600,000,000% ในช่วงปลายปี 2008
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับลงจนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 10%
แต่การที่ซิมบับเวขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้สถานการณ์ของซิมบับเวยังไม่ดี สินค้าหลายอย่างขาดแคลน รวมทั้งน้ำมัน
ต้นปี 2019 ราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ลิตรละ 107 บาท และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 100 บาท ราคาน้ำมันของที่นี่ถือเป็นราคาที่แพงที่สุดในโลก
จึงไม่แปลกที่จะมีประชาชนชาวซิมบับเวจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาลในตอนนี้
เรื่องนี้สามารถนำมาเป็นบทเรียนแก่เรา
ไม่ว่าประเทศจะมีทรัพยากรที่มีค่ามากมายแค่ไหน
เพชรที่ขุดมาได้จะมีกี่ล้านกะรัต
แต่ถ้าประเทศขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์, ความซื่อสัตย์สุจริต และความสามารถในการบริหารประเทศแล้ว
สุดท้ายคนที่เดือนร้อนก็คือ
ประชาชนจำนวนมากนั่นเอง..
----------------------
ประเทศซิมบับเวขาดแคลนน้ำมัน แล้วประเทศไหนผลิตน้ำมันมากสุดในโลก? https://www.blockdit.com/articles/5c1395dd4132301c4e2de457
ติดตามเพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดได้ที่ blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.