LTCM ตำนานกองทุน ที่ขาดทุนแสนล้านใน 4 เดือน

LTCM ตำนานกองทุน ที่ขาดทุนแสนล้านใน 4 เดือน

1 ก.พ. 2019
LTCM ตำนานกองทุน ที่ขาดทุนแสนล้านใน 4 เดือน / โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อน
จะมีชื่อกองทุน LTCM อยู่ในนั้นด้วย
กองทุนนี้มีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลมาร่วมบริหาร
แต่ในวาระสุดท้ายของ LTCM..
กองทุนนี้ขาดทุนกว่าแสนล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน
เรื่องราวของ LTCM เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Long-Term Capital Management L.P. (LTCM) เป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ตั้งขึ้นในปี 1994 โดย John W. Meriwether อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและผู้บริหารธนาคาร Salomon Brothers
แต่ที่น่าสนใจคือ กองทุนนี้มีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 2 คน คือ Myron S. Scholes และ Robert C. Merton
นอกจากนั้นยังมี David W. Mullins Jr. อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่มาช่วยพัฒนาโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อใช้ในการลงทุน
เพียงเท่านี้ก็ดูเหมือนว่ากองทุนนี้น่าจะประสบความสำเร็จในแง่ของด้านการลงทุน
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ในช่วงแรก..
John W. Meriwether ได้ริเริ่มก่อตั้งกองทุน โดยการรวบรวมเงินจากลูกค้าที่มั่งคั่งและมีสินทรัพย์สูง สุดท้ายเขาก็สามารถรวบรวมเงินได้มากพอ ซึ่งลูกค้านั้นมีตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ นักแสดงที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงกองทุนเงินสะสมของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
ด้วยชื่อเสียงของผู้บริหารกองทุน ทำให้ LTCM มีเงินทุนตั้งต้นกว่า 33,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม LTCM กำหนดจำนวนลูกค้าที่มาลงทุนไม่ให้เกิน 100 ราย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการควบคุมจากกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า กองทุนจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดเมื่อมีลูกค้าตั้งแต่ 100 รายขึ้นไป
กลยุทธ์การลงทุนที่ LTCM ใช้ คือ การกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนเป็นหลัก
กองทุนนี้ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเน้นการลงทุนไปที่พันธบัตรรัฐบาล ทั้งของประเทศที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่
ในปี 1998 กองทุนเติบโตขึ้น จนมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการกว่า 4.3 ล้านล้านบาท
แต่ที่น่าตกใจคือ ส่วนที่เป็นส่วนทุนของกองทุนนั้นอยู่ที่เพียง 155,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ยืมกว่า 4,100,000 ล้านบาท หมายถึง กองทุนนี้ มีหนี้สินต่อทุนของกองทุนมากถึง 26 เท่า..
ที่น่าแปลกใจคือ LTCM ยังมีธุรกรรมนอกงบการเงิน โดยมีการไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์อีกกว่า 41,300,000 ล้านบาท..
แต่ใครจะไปสนเรื่องเหล่านั้น
เพราะในช่วง 4 ปีแรกของการจัดตั้งกองทุน LTCM ให้ผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมแก่นักลงทุนอย่างน่าทึ่ง
ปี 1994 ผลตอบแทนของ LTCM 19.9%
ปี 1995 ผลตอบแทนของ LTCM 42.8%
ปี 1996 ผลตอบแทนของ LTCM 40.8%
ปี 1997 ผลตอบแทนของ LTCM 17.1%
ซึ่งแม้ปี 1997 จะเป็นปีที่มีเหตุการณ์วิกฤติการเงินในเอเชีย แต่ LTCM ก็ยังสร้างผลตอบแทนได้น่าประทับใจ
พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราลงทุนไป 1 ล้านบาท เงินลงทุนของเราจะเท่ากับ 2.8 ล้านบาท ในระยะเวลาประมาณ 4 ปี
แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา..
ในปี 1998 เกิดวิกฤติการเงินที่รัสเซียขึ้น ทำให้ค่าเงินรูเบิลลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร ซึ่งทำให้ตลาดพันธบัตรทั่วโลกเกิดความปั่นป่วน
นักลงทุนกังวลว่า รัฐบาลของประเทศที่ปล่อยกู้ให้กับรัสเซีย เช่น ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอียู อาจมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้เช่นเดียวกัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ นักลงทุนจึงเทขายพันธบัตรของญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มอียู และตลาดเกิดใหม่ ราคาพันธบัตรของประเทศเหล่านี้จึงลดลงอย่างรวดเร็ว
LTCM ซึ่งถือพันธบัตรของประเทศเหล่านี้จำนวนมาก จึงขาดทุนกว่า 152,000 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน
และนั่นหมายถึงเงินทั้งหมดของกองทุนนี้..
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เนื่องจากโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ LTCM ใช้ในการลงทุนนั้น เป็นการอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดในอดีต แต่ไม่ได้รวมเหตุการณ์ในอนาคต
ซึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ก็ทำให้โมเดลนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้อง
เมื่อการคาดการณ์ผิด คูณด้วย ตัวเลขที่กู้ยืมมหาศาล ผลลัพธ์ก็คือหายนะ..
ผลของการขาดทุนอย่างมหาศาล ทำให้สุดท้ายในปี 2000 LTCM ต้องปิดกองทุนไปหลังจากก่อตั้งเพียง 6 ปีเท่านั้น..
เรื่องของ LTCM ให้ข้อคิดแก่เราว่า
ถึงแม้ทุกคนบอกว่าเราเป็นคนฉลาด
และเราก็เริ่มมั่นใจว่า เราก็ฉลาดไปไม่น้อยกว่าคนอื่น
ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเรา ขอให้ระวังไว้
เพราะเมื่อเรามั่นใจมาก จะทำให้เราทุ่มไปหมดทั้งตัว จนไม่เผื่อความผิดพลาดไว้เลย
ในช่วงแรกก็อาจจะไม่เป็นไร เพราะผลมันออกมาอย่างที่เราคาดการณ์
แต่เมื่อเวลาผ่านไป
โลกนี้ย่อมมีสิ่งที่ไม่คาดฝัน..
อากาศร้อนในฤดูหนาว
ฤดูฝนที่ฟ้าไม่ครึ้ม
และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น
ไม่ว่าเราจะฉลาดแค่ไหน
สะสมเงินมากเท่าไร
ได้โนเบลมาแล้วกี่ครั้ง
จบดอกเตอร์มาแล้วกี่ใบ
เมื่อทุกอย่างคูณด้วยความโลภ
มันก็คือหายนะ..
----------------------
LTCM ขาดทุนแสนล้านใน 4 เดือน ส่วน Elizabeth Holmes ทำให้เงินแสนล้าน หายไปใน 2 ปี อ่านเรื่องนี้ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5b30b14a076e65512a6870a7
ติดตามลงทุนแมนของลงทุนแมนได้ที่ blockdit โหลดได้ที่ blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.