รัสเซียกำลังเทขาย ดอลลาร์

รัสเซียกำลังเทขาย ดอลลาร์

28 ม.ค. 2019
รัสเซียกำลังเทขาย ดอลลาร์ / โดย ลงทุนแมน
ถ้าเราไปดูทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซีย
จะพบว่าสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงอย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้น่าตกใจอย่างไร
แล้วทำไมรัสเซียเลือกที่จะทำแบบนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคำว่า “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” กันก่อนว่าคืออะไร
ทุนสำรองระหว่างประเทศ คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น
ซึ่งสินทรัพย์นี้จะถูกนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน รักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ชดเชยการขาดดุลการชำระเงิน รวมไปถึงใช้หนุนหลังในการพิมพ์ธนบัตร
แต่รู้ไหมว่าในโลกนี้ สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศเดียวที่ไม่ต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศในการพิมพ์ธนบัตร เพราะเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกานั้นมีความต้องการสูง ซึ่งถือเป็นเงินสกุลหลักของโลกในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
ทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย ทองคำ และ สินทรัพย์อื่นที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ โดยเงินสกุลหลัก คือ ดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, ปอนด์, เยน และ หยวน
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางประเทศ เงินดอลลาร์สหรัฐก็อาจไม่เป็นที่ต้องการ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้
ซึ่งประเทศนั้น ก็คือ รัสเซีย..
จริงๆ แล้วเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียดูเหมือนไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร
จนเริ่มเกิดวิกฤติการเมืองในยูเครนเมื่อปี 2014 ที่รัสเซียมองว่า ประเทศตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในยูเครน
รวมถึงสหรัฐอเมริกามีมาตรการคว่ำบาตรต่อนักธุรกิจและบริษัทของรัสเซีย

นอกจากนี้ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ต้องการให้รัสเซียปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับสหรัฐอเมริกา
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัสเซียจึงเริ่มไม่พอใจสหรัฐอเมริกา และเริ่มขายเงินดอลลาร์สหรัฐและพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาออกไป เพื่อไปถือครองเงิน สกุลอื่นๆ รวมทั้งทองคำ
ทำให้สินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียนั้นลดลง จากประมาณ 44% ในช่วงกลางปี 2018 จนต่ำกว่า 22% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียปัจจุบันอยู่ที่ 15.4 ล้านล้านบาท
รัสเซียเคยถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 2017
แต่ลดลงเหลือเพียง 0.5 ล้านล้านบาท ในช่วงกลางปี 2018
ทั้งนี้การถือพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาก็เปรียบเสมือนรัสเซียเป็นเจ้าหนี้ของสหรัฐอเมริกา
แต่ถ้าถามว่า แล้วประเทศที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ใช่รัสเซียหรือไม่
คำตอบคือไม่ใช่ เพราะในปี 2018 เจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา 3 อันดับแรก คือ
1.จีน 36 ล้านล้านบาท
2.ญี่ปุ่น 33 ล้านล้านบาท
3.บราซิล 10 ล้านล้านบาท
ที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้คือ “ประเทศจีน”
จะเป็นอย่างไร? ถ้าประเทศจีนลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐอเมริกา เหมือนรัสเซีย
การขายพันธบัตรสหรัฐอเมริกาของจีนจำนวนมาก อาจทำให้ราคาพันธบัตรลดลง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรต้องปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าสหรัฐอเมริกาต้องการกู้ยืมเงินอีกในอนาคต ก็ต้องจ่ายผลตอบแทนให้สูงขึ้นเพื่อให้เจ้าหนี้ หรือประเทศอื่นๆ เข้ามาถือครอง
รวมไปถึงบริษัทอเมริกันที่ต้องการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนก็อาจต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะนำมาซึ่งภาระหนี้ และความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในปี 2017 หนี้สินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 104% ต่อ GDP
ช่วงที่เกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มปี 2008 หนี้สินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 68% ต่อ GDP เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจน
และวันหนึ่งจีนรู้สึกว่า ลูกหนี้อย่างสหรัฐอเมริกา กำลังทำตัวไม่น่ารัก
สุดท้ายแล้ว อาจทำให้จีนไม่อยากเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ให้สหรัฐอเมริกาอีกต่อไป ก็เป็นได้..
----------------------
โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.