ธุรกิจกีตาร์ กำลังฝันร้าย

ธุรกิจกีตาร์ กำลังฝันร้าย

16 ม.ค. 2019
ธุรกิจกีตาร์ กำลังฝันร้าย / โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าวันนี้ธุรกิจกีตาร์ยักษ์ใหญ่หลายแห่งกำลังเจอฝันร้าย จนบางแห่งถึงขั้นต้องยื่นล้มละลาย
ทำไมเรื่องถึงเป็นแบบนี้ ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
ความถดถอยของธุรกิจกีตาร์นั้น เรื่องแรกมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เนื่องจากสมัยที่ดนตรีร็อกเริ่มเป็นที่รู้จักในปี 1950 จนมาได้รับความนิยมสุดขีดในช่วงปี 1960 - 1980
ช่วงนั้น หลายคนจะมีนักดนตรีที่ตนเองชอบเป็นแรงบันดาลใจ ที่รู้จักกันว่า กีตาร์ฮีโร่ ทำให้วัยรุ่นสมัยนั้นมักหาซื้อกีตาร์มาเล่นกันมากมาย
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป วัยรุ่นสมัยนั้น มีอายุมากขึ้น หลายคนเกษียณ ขณะที่อีกด้านหนึ่งคนรุ่นใหม่กลับไม่นิยมดนตรีร็อกเหมือนสมัยก่อน สังเกตได้จากเพลงฮิตติดชาร์ตอันดับต้นๆ ในปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นดนตรีแนวอื่น ที่ไม่ได้มีเสียงกีตาร์อยู่ในบทเพลง
มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในปี 2017 อัลบั้มเพลงที่ขายดีที่สุด 100 ลำดับแรกในสหรัฐอเมริกา มีเพียง 18 อัลบั้มเท่านั้นที่ใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีนำ
เรื่องนี้สะท้อนถึงความนิยมในกีตาร์ที่ค่อยๆ ลดลง..
อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือ ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
โดยเฉพาะการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนสมัยใหม่ที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนจะกระทบกับหลายธุรกิจ และรวมถึงธุรกิจกีตาร์ด้วย
ในปี 2005 บนโลกเรามีประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวน 1 พันล้านคน แต่มาวันนี้ประชากรบนโลกเราที่มีอินเทอร์เน็ตใช้เพิ่มขึ้นถึง 4 พันล้านคน
ปัจจุบัน เฉลี่ยแล้วคนทั่วโลกใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าในอดีต ดังนั้น เป็นธรรมดาที่การทำกิจกรรมบางอย่างจะลดลง
อย่างกรณีของการเรียนดนตรีรวมถึงกีตาร์นั้น ไม่มีทางเรียนลัด ถ้าอยากเก่งต้องใช้เวลาขยันฝึกซ้อม แต่เวลาใน 1 วันที่มี 24 ชั่วโมง มีหลายชั่วโมงที่ตัวเราถูกดึงไปอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งกิจกรรมด้านดนตรีก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไปด้วย
นอกจากพฤติกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแล้วนั้น ต้องยอมรับว่า ราคากีตาร์ก็มีความสำคัญ
ในสหรัฐอเมริกา ราคาเฉลี่ยของกีตาร์ไฟฟ้าในปี 2017 อยู่ที่ 17,300 บาท เพิ่มขึ้นกว่า 35% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพราะบริษัทกีตาร์ยักษ์ใหญ่ ต้องการเพิ่มรายได้จากการขายกีตาร์ให้แก่ลูกค้าที่เติบโตในยุคที่ดนตรีร็อกเฟื่องฟูและมีกำลังซื้อ
แต่สิ่งนี้กลับส่งผลเสีย เพราะราคากีตาร์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการกีตาร์ไฟฟ้าของเด็กรุ่นใหม่ๆ ลดลงไปอีก
เรามาดูยอดขายกีตาร์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา
ปี 2005 ยอดขายกีตาร์ไฟฟ้า 1.7 ล้านตัว
ปี 2017 ยอดขายกีตาร์ไฟฟ้า 1.1 ล้านตัว
พอเรื่องเป็นแบบนี้แล้ว หลายบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกีตาร์จึงประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก
Gibson บริษัทผลิตกีตาร์ชั้นนำระดับโลกที่มีอายุกว่า 116 ปี ยื่นขอล้มละลายและเข้าแผนฟื้นฟูกิจการหลังมีหนี้สินกว่า 15,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดของเจ้าหนี้
Guitar Center เครือข่ายร้านขายเครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอายุเกือบ 60 ปี มีหนี้สินกว่า 33,000 ล้านบาท จนถูก S&P สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดเรตติ้งของบริษัทลง
ขณะที่ Fender บริษัทผู้ผลิตกีตาร์ไฟฟ้ารายแรกที่ใช้วิธีการผลิตแบบอุตสาหกรรมซึ่งมีอายุกว่า 70 ปี ก็มีภาระหนี้สินกว่า 3,300 ล้านบาท จนต้องล้มเลิกแผนการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2012
ไม่น่าเชื่อว่า บริษัทกีตาร์เหล่านี้ที่มีอายุมานาน ยังถูกทำลายโดย การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง วัฏจักรของธุรกิจ ที่มีทั้งวันที่เฟื่องฟู และมีวันที่เสื่อมถอยลง ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กอย่าง ธุรกิจกีตาร์..
----------------------
วงการดนตรีกำลังเปลี่ยนไป และการฟังเพลงของเราก็เปลี่ยนไปด้วย
อ่านเรื่อง Spotify ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5b30b107076e65512a686ce1
ติดตามเรื่องราวธุรกิจชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.