ทำไม Apple มีเงินสด 7 ล้านล้าน แต่ต้องกู้เงิน 3 ล้านล้าน

ทำไม Apple มีเงินสด 7 ล้านล้าน แต่ต้องกู้เงิน 3 ล้านล้าน

14 ม.ค. 2019
ทำไม Apple มีเงินสด 7 ล้านล้าน แต่ต้องกู้เงิน 3 ล้านล้าน / โดย ลงทุนแมน
ถ้าเรามีเงินสดอยู่ 7 ล้านบาท แล้วเราเดินไปธนาคารขอกู้เงิน 3 ล้านบาท
ทุกคนคงบอกว่าเราบ้า
เรามีเงินสดอยู่แล้ว จะไปกู้เงินทำไม
แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ณ ตอนนี้กับบริษัทที่ทุกคนรู้จักกันดี
บริษัทนี้ชื่อ Apple..
ทั้งๆ ที่บริษัทมีเงินสดมากขนาดนี้ ทำไม Apple ยังต้องกู้เงิน?
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปลายปี 2018 Apple มีทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสดรวมกันเป็นมูลค่ากว่า 7.7 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศไทย
ทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสดของแต่ละคนอาจมีนิยามไม่เหมือนกัน
แต่สำหรับ Apple เขาถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ขายแล้วแลกเป็นเงินสดได้ทันที
สินทรัพย์เทียบเท่าเงินสดของ Apple จะประกอบไปด้วย
หุ้นกู้ต่างประเทศ 51%
ตราสารหนี้สหรัฐ 20%
ตราสารหนี้ต่างประเทศ 9%
เงินสด 5%
และรายการเทียบเท่าเงินสดอื่นๆ 15%
ที่น่าสนใจคือเงินสดในมือของ Apple มาจากหุ้นกู้และตราสารหนี้ต่างประเทศรวมกันมากถึง 60% หรือกว่า 4.6 ล้านล้านบาท
เพราะอะไร?
หากเราเจาะลงไปในแหล่งรายได้ของ Apple ในปี 2018 จะมาจาก
สหรัฐอเมริกา 42%
ยุโรป 23%
จีน 20%
ญี่ปุ่น 8%
เอเชีย-แปซิฟิก 7%
คิดเป็นรายได้รวม 8.6 ล้านล้านบาท
จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้เราเห็นว่ารายได้ของ Apple มาจากนอกประเทศสหรัฐอเมริกาสูงถึง 58% หมายความว่ารายได้เกินกว่าครึ่งของบริษัท Apple กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก
แล้ว Apple มีวิธีจัดการกับเงินที่อยู่ต่างประเทศอย่างไร?
ทางเลือกแรก คือ การหอบกำไรสะสมกลับสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาลงทุนต่อยอดกิจการ
แต่เรื่องมันก็ไม่ง่ายเลยเพราะตัวแปรที่ชื่อว่า การโดนเก็บภาษีซ้ำซ้อน..
ซ้อนแรกคือ ภาษีที่เสียให้บางประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการ
ซ้อนที่สองคือ ภาษีเงินได้ของสหรัฐอเมริกาอีก 21%
กลับกลายเป็นว่า เงินได้สุทธิทุกๆ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ในต่างประเทศ จะมีมูลค่าต่ำกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐทันที หากนำกลับสหรัฐอเมริกา..
แล้วถ้า Apple ต้องใช้เงินมาลงทุนเพื่อต่อยอดกิจการจะมีทางเลือกไหน?
หนึ่งในทางเลือกที่ทำได้ ก็คือการ “กู้เงิน”
ในรายงานประจำปีของ Apple รายงานว่า บริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยในการกู้เงินเฉลี่ยเพียง 1.8% - 3.8% เท่านั้น
เรื่องนี้จึงแปลได้ว่า ต้นทุนในการดึงเงินกลับสหรัฐอเมริกาของ Apple สูงกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้
พอเรื่องเป็นแบบนี้ Apple จึงกู้เงินจำนวนมาก ทั้งที่มีเงินสดอยู่ในมือมากเช่นกัน
โดยยอดเงินกู้ล่าสุดมีมากถึง 3.7 ล้านล้านบาท..
เงินกู้ที่ Apple ได้มาก็นำมาใช้เป็นเงินในการดำเนินกิจการ ลงทุนต่อยอด รวมถึงการซื้อหุ้นคืนอีกด้วย
แล้ว Apple ทำอย่างไรกับเงินในต่างประเทศ?
คำตอบก็คือ Apple นำกำไรในแต่ละงวด ไปลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ทั้งในสหรัฐอเมริกา และประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการ
โดยในปีล่าสุด Apple ได้ดอกเบี้ยจากการลงทุนเฉลี่ยแล้วประมาณ 2% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ได้นี้ ไม่ได้ต่างอะไรเลยกับดอกเบี้ยของการกู้เงิน
เรื่องนี้อาจสรุปได้ว่า การกู้ยืมเงินไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ถ้ามันมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าการนำเงินสดในมือมาใช้
เรื่องนี้ก็ทำให้เราคิดได้ว่า
บริษัทใหญ่อย่าง Apple ก็มีข้อได้เปรียบมากเหมือนกัน
เมื่อ Apple ต้องการกู้เงิน เสียดอกเบี้ยเพียง 2%
ในขณะเดียวกันถ้า Apple ต้องการนำเงินสดไปลงทุน ก็ได้ดอกเบี้ย 2% เช่นกัน
แต่ถ้าเปรียบกับชีวิตคนธรรมดา
คนธรรมดาที่ต้องการกู้เงิน ถ้าไม่มีเครดิตอะไร เราอาจต้องเสียดอกเบี้ยมากถึง 20%
ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนธรรมดาเหลือเงินสด มักจะนำเงินไปฝากธนาคาร ซึ่งได้ดอกเบี้ยเพียง 0.5% เท่านั้น..
----------------------
ติดตามเรื่องราวบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
Reference
-FORM 10-K Apple Inc.
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.