วิกฤติ มหาวิทยาลัยไทย

วิกฤติ มหาวิทยาลัยไทย

9 ม.ค. 2019
วิกฤติ มหาวิทยาลัยไทย / โดย ลงทุนแมน
“3 ใน 4 ของมหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบันอาจต้องปิดตัวลง ในช่วง 10 ปีข้างหน้า”
ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยของไทยบางแห่งต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน
บางสาขาวิชาต้องถูกปิดเพราะคนมาเรียนน้อย
มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งต้องขายกิจการให้ผู้ร่วมทุนต่างชาติ
บางกรณีถึงขนาดมีการเลิกจ้างอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
ทำไมเรื่องถึงเป็นแบบนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อัตราการเกิดของประชากรเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้อัตราการเข้ามาลงทะเบียนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยลดลง
ในช่วงระหว่างปี 2505 - 2525 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000,000 - 1,200,000 คนต่อปี
อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2525 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปี 2530 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยเท่ากับ 884,043 คน
ปี 2550 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยเท่ากับ 797,588 คน
ปี 2560 จำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยเท่ากับ 702,755 คน
ถ้าดูตามตัวเลขนี้ก็หมายความว่า ในอนาคตจำนวนเด็กที่จะเข้าไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอาจจะลดลงไปอีก
แต่ก่อนที่จะถึงอนาคต..
วันนี้มหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่ง ก็กำลังประสบปัญหาจากการที่จำนวนนักศึกษามาสมัครเรียนลดลงแล้ว
การลดลงของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่ทำให้รายได้ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมด้านการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยลดลง แต่ยังทำให้งบประมาณที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะได้รับจัดสรรจากภาครัฐนั้นลดลงด้วย
จากปี 2560 ที่จำนวน 112,975 ล้านบาท มาอยู่ที่ 108,941 ล้านบาท ในปี 2561
ซึ่งเมื่อดูจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง และประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ภาครัฐอาจนำงบประมาณไปจัดสรรใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านอุดมศึกษา
เมื่องบประมาณลดลง การลงทุนด้านการศึกษาก็ลดลง ซึ่งอาจทำให้คุณภาพการเรียน การสอน ลดลงตามไปด้วย
ทุกวันนี้ เราอาจต้องตั้งคำถามว่า จำนวนของมหาวิทยาลัยมีมากเกินไปหรือไม่
และมหาวิทยาลัยของไทยบางแห่งนั้น ได้ผลิตหลักสูตรที่มีคุณภาพหรือได้ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงานหรือไม่..
และดูเหมือนโลกในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก
ความรู้บางอย่างที่ถูกสอนในมหาวิทยาลัยในวันนี้ อาจจะไม่มีโอกาสถูกนำไปใช้ได้เลยในโลกอนาคต จึงอาจทำให้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยจบออกมาแล้วหางานไม่ได้
ที่ผ่านมา พวกเราจึงมักเห็นภาคธุรกิจเอกชนบางแห่งลงมาสร้างหลักสูตร การเรียนการสอนเอง เพื่อสามารถผลิตนักศึกษาให้ตรงความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้การแข่งขันในตลาดอุดมศึกษาสูงขึ้นไปอีก
อีกคู่แข่งหนึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่นักศึกษาบางส่วนเลือกที่จะไปเรียนต่อในประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงกว่า
ก็น่าติดตามว่า ในอนาคต มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปีการศึกษา 2561 พบว่ามหาวิทยาลัยจำนวน 92 แห่ง สามารถรับนักศึกษารวมกันทั้งหมด 390,120 คน
แต่มีนักเรียนมาลงทะเบียนในระบบเพียง 262,474 คน หรือเพียง 67%
จึงเหลือที่นั่งในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นกว่า 100,000 ที่นั่ง..
----------------------
ความสำเร็จสัมพันธ์กับระดับการศึกษาหรือไม่
อ่านเรื่อง จะเป็นเศรษฐี ต้องเรียนจบสูงแค่ไหน? ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5b30b15b076e65512a6871af
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.