ช็อกโกแลต อาจหมดโลกในปี 2040

ช็อกโกแลต อาจหมดโลกในปี 2040

ช็อกโกแลต อาจหมดโลกในปี 2040 / โดย ลงทุนแมน
ช็อกโกแลตที่เราคุ้นเคยกันตั้งแต่เด็ก
อีก 21 ปี อาจจะหมดจากโลกนี้ไป
สาเหตุของมันเกิดจากอะไร
วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าใฟ้ฟัง
ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของช็อกโกแลตก่อน
ช็อกโกแลตนั้นเกิดขึ้นมาในดินแดนที่เรียกว่า Mesoamerica ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ในแถบประเทศเม็กซิโกตอนกลางและตอนใต้ จนถึงบางประเทศในแถบอเมริกากลาง
ในช่วง 350 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวแอซเท็ก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยในประเทศเม็กซิโก ได้ทำเครื่องดื่มหมักดอง โดยใช้ส่วนผสมที่มาจากช็อกโกแลต
ต่อมาชาวสเปนซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในช่วงนั้น ได้เดินทางมาถึงเม็กซิโกพบกับชาวแอซเท็ก แล้วนำเอาช็อกโกแลตกลับไปประเทศด้วย ก่อนที่ช็อกโกแลตจะเริ่มแผ่ขยายในทวีปยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา
ทุกคนรู้ดีว่า ช็อกโกแลตเป็นส่วนผสมที่สำคัญในของหวานหลายชนิด เช่น นม, คุกกี้, เค้ก, ลูกอม, ไอศกรีม และของหวานอื่นๆ อีกมากมาย
ช็อกโกแลตเป็นผลผลิตที่ได้จากเมล็ดของต้นคาเคาซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อนชื้นของอเมริกากลางและอเมริกาใต้
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นพืชพื้นเมืองในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่ประเทศที่ผลิตเมล็ดคาเคามากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลกในปัจจุบันกลับอยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชีย คือ โกตดิวัวร์ (30.4%), กานา (18.0%) และอินโดนีเซีย (16.7%) ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ปริมาณการผลิตของทั้งโลก
โดยธรรมชาติของต้นคาเคานั้น จะชอบภูมิอากาศที่เหมาะสม มีความชื้นสูง และพื้นที่ที่มีฝนตกชุก
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการปลูกคาเคาได้เจออุปสรรค ทั้งแมลง โรคระบาดในพืช และที่สำคัญคือ ภาวะโลกร้อน..
การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่ม จะทำให้ประเทศเหล่านี้พบความยากลำบากในการปลูกต้นคาเคา และทำให้เมล็ดคาเคาลดลง ซึ่งส่งผลให้การผลิตช็อกโกแลตลดลง
โดยมีการคาดการณ์กันว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ช็อกโกแลตอาจหมดโลกในปี 2040
ปริมาณการผลิตเมล็ดคาเคาของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2016 โกตดิวัวร์ 2,020,000 ตัน กานา 970,000 ตัน อินโดนีเซีย 290,000 ตัน
ปี 2017 โกตดิวัวร์ 2,000,000 ตัน กานา 880,000 ตัน อินโดนีเซีย 260,000 ตัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ บริษัท Mars ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตลูกอมและของหวาน รวมถึงช็อกโกแลตยี่ห้อ M&M’s ที่หลายคนคุ้นเคย จึงร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ที่ University of California เพื่อที่จะหาวิธีทำให้ต้นคาเคาสามารถเติบโตได้ท่ามกลางอุณหภูมิของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
โดย Mars ได้ทุ่มงบกว่า 33,000 ล้านบาท ในการรณรงค์ให้ธุรกิจต่างๆ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่เรียกว่า CRISPR ในการตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อทำให้ต้นคาเคา สามารถเติบโตได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในอนาคต
เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า ช็อกโกแลตที่เราคุ้นเคย อาจจะไม่ได้มีให้เรากินอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
แล้ววิธีการเหล่านี้จะช่วยทำให้ในอนาคตพวกเราจะยังสามารถกินช็อกโกแลตได้อยู่หรือไม่ และภาวะโลกร้อนจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตาม
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้ไหมว่า แม้ทวีปแอฟริกาจะผลิตเมล็ดคาเคาสำหรับนำไปผลิตช็อกโกแลตเกือบ 50% ของผลผลิตทั้งโลก
แต่ผู้คนในทวีปแอฟริกากลับบริโภคช็อกโกแลตเพียง 3.2% เทียบกับทวีปยุโรปที่มีปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตกว่า 50% ของการบริโภคช็อกโกแลตทั้งโลก
และถ้าอนาคตช็อกโกแลตหายากขึ้นเรื่อยๆ คนที่จะเดือดร้อนที่สุดคือ คนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการบริโภคช็อกโกแลตต่อหัวมากที่สุดในโลก มากถึง 8.8 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเลยทีเดียว
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ต่อไปนี้ทุกครั้งที่เรากิน ไอศกรีมหรือเค้กช็อกโกแลต เราควรจะดื่มด่ำกับรสชาติของมันเอาไว้ เพราะเราอาจจะไม่มีโอกาสได้กินช็อกโกแลตอีกแล้วในอีก 21 ปีข้างหน้า..
----------------------
ไม่ใช่แค่ ช็อกโกแลต ที่อาจจะหมดไป วานิลลา ก็เจอวิกฤติ อ่านต่อได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5b9a42ce33b0553b0da4173c
ติดตามเรื่องราวบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon