ใครเป็นเจ้าของ ไบเทค บางนา?

ใครเป็นเจ้าของ ไบเทค บางนา?

3 ม.ค. 2019
ใครเป็นเจ้าของ ไบเทค บางนา? / โดย ลงทุนแมน

หากพูดถึงสถานที่ ที่นิยมใช้ในการจัดงานใหญ่
หนึ่งในชื่อแรกๆ คงจะเป็น “ไบเทค บางนา”
สถานที่แห่งนี้ได้ถูกใช้จัดงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการ, งานแสดงสินค้า, การประชุม หรือแม้แต่ งานจับมือ BNK48..
แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ใครเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ไบเทค บางนา (Bangkok International Trade & Exhibition Centre : BITEC) เป็นศูนย์นิทรรศการและการประชุม เปิดให้บริการเมื่อปี 2540 ตั้งอยู่บน ถนนเทพรัตน และถนนสุขุมวิท เขตบางนา
ผู้ที่สร้างและบริหารสถานที่แห่งนี้คือ กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการ พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร โดยบริษัทตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 ปัจจุบันมี คุณประสาน ภิรัช บุรี เป็นประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ในอดีตก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ระหว่างปี พ.ศ. 2537 - 2539 นั้น GDP เติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี
แต่ทว่า ในไทย กลับยังไม่มีศูนย์นิทรรศการขนาดใหญ่ ที่รองรับการแสดงสินค้า หรือเป็นที่พบปะทางธุรกิจ จากการพัฒนาที่รวดเร็วดังกล่าวเลย ทางบริษัท จึงมองเห็นโอกาส และสร้างโครงการไบเทคขึ้นมา
ต่อมาในปี 2549 ไบเทค ได้ถูกรับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ศูนย์นิทรรศการที่ดีที่สุดของเอเชีย-แปซิฟิก จากผลสำรวจของผู้จัดงานทั่วโลก
ในปัจจุบัน ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง การขยายของตัวเมืองและรถไฟฟ้า BTS สถานีบางนา ที่เข้าถึงพื้นที่โดยตรง ทำให้ไบเทค มีการขยายพื้นที่จัดงาน จากราว 50,000 เป็น 70,000 ตารางเมตร รองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากถึง 40,000 คน

สำหรับรายได้ของบริษัทใน กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ที่น่าสนใจ มีดังนี้
บริษัท ภิรัชบุรี จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจการเช่าและดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ปี 2559 รายได้ 252 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 363 ล้านบาท กำไร 55 ล้านบาท
บริษัท ไบเทคแมนเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจบริการจัดการศูนย์นิทรรศการและการประชุม
ปี 2559 รายได้ 72 ล้านบาท ขาดทุน 8 หมื่นบาท
ปี 2560 รายได้ 192 ล้านบาท กำไร 41 ล้านบาท
บริษัท ไบเทคเซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งทำธุรกิจจัดการแสดงทางธุรกิจและการแสดงสินค้า
ปี 2559 รายได้ 24 ล้านบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 64 ล้านบาท กำไร 6 ล้านบาท
นอกจากไบเทค บางนา แล้ว กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ยังเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง อีกมากมาย เช่น ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (ร่วมทุนกับ กลุ่มเดอะมอลล์) และอาคารสำนักงานเกรดเอ ตึกภิรัช ทาวเวอร์ ที่ ไบเทค, สาทร, เอ็มควอเทียร์
จะเห็นได้ว่า โครงการของบริษัท ส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลทอง ที่เป็นย่านธุรกิจสำคัญ ซึ่งนั่นเป็นผลจากการซื้อที่ดินสะสมของครอบครัวคุณประสาน มาตั้งแต่อดีต แต่เริ่มมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในยุคคุณประสาน
เมื่อเวลาผ่านไป ตัวเมืองกรุงเทพ ขยายออกไปรอบนอกมากขึ้น รวมทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT ขยายเส้นทางไปหลายสาย ทำให้ที่ดินมีศักยภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงคุ้มค่าที่จะพัฒนาโครงการใหญ่
แม้จะมีที่ดิน ในย่านสำคัญจำนวนมาก แต่บริษัทก็ใช้กลยุทธ์ที่เน้นด้านคุณภาพ และระเบียบวินัยการเงิน มากกว่าเน้นปริมาณโครงการ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ มีหนี้สินเพิ่มขึ้นสูง เมื่อครั้งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง
นอกจากนี้ คุณประสาน ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของพันธมิตร ดังเช่น ที่ดินย่านสุขุมวิท ที่บริษัทซื้อเก็บมานาน ก็มาพัฒนาเป็นเอ็มควอเทียร์ ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ ที่มีจุดแข็งเรื่องศูนย์การค้า
เรื่องราวการทำธุรกิจ ของคุณประสาน สอนให้เราได้เห็นว่า
การเป็นผู้เล่นรายแรกของตลาด สร้างข้อได้เปรียบที่สำคัญ เหมือนตอนที่คุณประสานสร้างไบเทค บางนา ในตอนนั้นคู่แข่งยังน้อย ถ้าลงมือทำ และทำได้ดี ย่อมสร้างมาตรฐาน ที่ยากจะมีคนตามทัน
คุณประสาน เปิดเผยว่า เดิมทีเขาเป็นวิศวกร และไม่ได้เรียนด้านบริหารธุรกิจมาก่อน จึงต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ลงไม้ลงมือบุกเบิกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กับครอบครัว ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ จัดทำบัญชี บริหารจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
แม้ต้องเจออุปสรรคจากวิกฤติเศรษฐกิจ และเป็นหนี้มหาศาลจากการลอยตัวของค่าเงินบาท
แต่เขาก็รักในสิ่งที่ทำและไม่ยอมแพ้ จนสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทยอยใช้หนี้จนหมดในที่สุด
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ดีว่า เมื่อเรามีปัญหาอะไร ร้ายแรงสักแค่ไหน ถ้าเรามีความมุ่งมั่นและความพยายาม สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็จะถูกแก้ไขได้ในที่สุด..
----------------------
รู้แล้วว่าใครเป็นเจ้าของ ไบเทค บางนา แล้วรู้หรือไม่ว่า ใครเป็นเจ้าของ อิมแพ็ค เมืองทองธานี?
อ่านต่อได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5b30b13a076e65512a686fcb
ติดตามเรื่องน่ารู้อื่นๆ ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.