อินโดนีเซีย ดินแดนยูนิคอร์นในอาเซียน

อินโดนีเซีย ดินแดนยูนิคอร์นในอาเซียน

29 ธ.ค. 2018
อินโดนีเซีย ดินแดนยูนิคอร์นในอาเซียน / โดย ลงทุนแมน
ยูนิคอร์น คือ สตาร์ตอัปที่มีมูลค่าพันล้านเหรียญ หรือ สามหมื่นล้านบาท
ในอาเซียนมีสตาร์ตอัปที่เป็นยูนิคอร์นทั้งหมด 10 บริษัท
เป็นสตาร์ตอัปจากสิงคโปร์ 3 บริษัท
จากมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนามประเทศละ 1 บริษัท
แต่ที่น่าสนใจคือสตาร์ตอัปที่เหลืออีก 4 บริษัทมาจากประเทศอินโดนีเซีย..
ประเทศอินโดนีเซียมีดีอะไร? ทำไมถึงเป็นประเทศที่มียูนิคอร์นมากสุดในอาเซียน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อินโดนีเซียเป็นหมู่เกาะที่ใหญ่สุดในโลก มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต
แต่หลังจากนั้นอินโดนีเซียก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์เป็นเวลานานกว่า 300 ปี
อินโดนีเซียได้พยายามจะประกาศเอกราชในปี 1945 แต่เนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับการประกาศเอกราชในครั้งนั้น
หลังจากนั้นจึงเกิดการต่อสู้ทั้งทางอาวุธและด้านการฑูตระหว่าง 2 ประเทศ จนในที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็ยอมรับเอกราชของอินโดนีเซียในวันที่ 27 ธันวาคม 1949
หลังจากนั้นอินโดนีเซียเกิดปัญหาการเมืองภายในประเทศ
จนเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียก็เริ่มเติบโตอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วง ปี ค.ศ. 2000
ขนาด GDP ของประเทศอินโดนีเซีย
ปี 2000 5.4 ล้านล้านบาท
ปี 2005 9.3 ล้านล้านบาท
ปี 2010 25.3 ล้านล้านบาท
ปี 2015 28.1 ล้านล้านบาท
ปี 2017 33.2 ล้านล้านบาท
GDP อินโดนีเซียเติบโตกว่า 6 เท่า ใน 17 ปี
ที่น่าสนใจคือ World Bank ได้คาดการณ์ว่าในปี 2017 - 2019 มูลค่า GDP ที่เพิ่มขึ้นของอินโดนีเซียจะมีขนาดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ จีน, สหรัฐอเมริกา และอินเดีย
มูลค่าของ GDP ที่เพิ่มขึ้นนี้ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 2.5% ของ GDP โลก
หลายคนคงรู้ว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวมากสุดในอาเซียน
แต่ถ้านับเป็นทั้งประเทศ ขนาดเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะถือว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน
สิ่งสำคัญก็คือ อินโดนีเซียมีตลาดที่ใหญ่มาก
อินโดนีเซียมีประชากร 260 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
โดยส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยหนุ่มสาวที่เป็นเจ้าของสมาร์ตโฟนมากกว่า 100 ล้านคน
พอเรื่องเป็นแบบนี้จึงทำให้ตลาดอินโดนีเซียกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับเหล่าสตาร์ตอัป
แล้วตอนนี้สตาร์ตอัปที่เป็นยูนิคอร์นในอินโดนีเซียมีอะไรบ้าง?
GO-JEK ยูนิคอร์นตัวแรกของอินโดนีเซีย..
GO-JEK เป็นบริษัท Ride Hailing หรือ แพลตฟอร์มสำหรับการเรียกรถโดยสาร ก่อตั้งในปี 2010 โดย Nadiem Makarim
ในปี 2016 บริษัทนี้ถูกประเมินว่ามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับเงินทุนบางส่วนจาก Tencent, JD.COM และ Google
ซึ่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา GO-JEK ก็เพิ่งขยายการให้บริการในเวียดนามและไทย
และมีเป้าหมายต่อไปเป็นตลาดสิงคโปร์และฟิลิปปินส์
tokopedia แพลตฟอร์ม E-commerce ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในอินโดนีเซีย ก่อตั้งในปี 2009 โดย William Tanuwijaya
tokopedia ซึ่งล่าสุดสามารถระดมทุนจาก SoftBank และ Alibaba ได้ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำใหปัจจุบัน takopedia ถือเป็นสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าสูงสุดในอินโดนีเซีย
ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
traveloka ธุรกิจให้บริการจองและเปรียบเทียบราคาที่พักและตั๋วเครื่องบินที่ก่อตั้งในปี 2012 โดย Ferry Unardi
traveloka ถือเป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในบรรดาสตาร์ตอัปทั้งหมดในอินโดนีเซีย
เนื่องจากใช้เวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น ก็ถูกประเมินว่ามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
โดยได้รับเงินทุนส่วนหนึ่งมาจาก Expedia และ JD.COM
และสุดท้าย Bukalapak ยูนิคอร์นตัวล่าสุดของอินโดนีเซีย
Bukalapak ก่อตั้งในปี 2010 โดย Achmad Zaky ทำธุรกิจ E-commerce เช่นกัน และเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมรองจาก tokopedia
สตาร์ตอัปนี้สามารถระดมทุนได้จากกองทุนทั่วโลก เช่น 500 Startups, GREE Ventures and QueensBridge Venture Partners ทำให้สตาร์ตอัปนี้เป็นยูนิคอร์นอีกตัวหนึ่งของอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม Bukalapak ก็ไม่น่าจะใช่ยูนิคอร์นตัวสุดท้ายของอินโดนีเซีย..
ทางรัฐบาลของอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2019 จะต้องมีสตาร์ตอัปที่เป็นยูนิคอร์นมากกว่า 5 บริษัท
โดยอุตสาหกรรมต่อไปที่น่าจับตามอง คือ ธุรกิจด้านการศึกษาและสุขภาพ เนื่องจากเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลอินโดนีเซียอัดฉีดเข้าสู่ 2 ภาคธุรกิจนี้
เงินงบประมาณของประเทศอินโดนีเซียในปี 2017
ด้านการศึกษา 9 แสนล้านบาท
ด้านสุขภาพ 2 แสนล้านบาท
ปัจจุบันแอปพลิเคชันด้านการศึกษาที่ใหญ่สุดในอินโดนีเซีย คือ ruangguru
ส่วนสตาร์ตอัปที่ทำธุรกิจด้านสุขภาพก็มีหลายบริษัท เช่น halodoc ที่ให้บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพออนไลน์
นอกจากนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียยังวางแผนที่จะปรับเงื่อนไขการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่ออำนวยความสะดวกสตาร์ตอัปเหล่านี้ให้สามารถ IPO ได้ง่ายขึ้น
เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา ในตอนนี้อาจจะมีศักยภาพที่ก้าวเกินไปไกลกว่าประเทศไทยแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศเหล่านี้มีสตาร์ตอัปที่เป็นยูนิคอร์นเรียบร้อยแล้ว
ในขณะที่คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน.. ซึ่งมากที่สุดในโลก
แต่เราคนไทยใช้แพลตฟอร์ม facebook, LINE, Google, LAZADA หรือ Shopee ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่บริษัทที่ก่อตั้งโดยคนไทยเลย
ก็น่าคิดว่าอีกนานแค่ไหน ประเทศไทย จะมีสตาร์ตอัปที่เป็นยูนิคอร์นเหมือนกับคนอื่นบ้าง..
----------------------
ติดตามเรื่องราวบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.